เมื่อกระแสการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีนมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดย ไทย ถือเป็นหนึ่งในสามประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงกลายเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคแดนมังกรกลุ่มนี้ได้มากขึ้น และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า วันนี้อาลีเพย์ ถือเป็นโมบายเพย์เมนต์ที่มีนักท่องเที่ยวจีนใช้มากที่สุด ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยคิดจะทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มนี้ล่ะก็ อาจต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล ผู้ดำเนินงานอาลีเพย์ ประเทศไทย กล่าวว่า ทางอาลีเพย์ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยประมาณปลายปี 2558 เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการชำระเงินผ่านทางมือถือให้กับชาวจีนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
“คนจีนเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ใช้แอปพลิเคชันอาลีเพย์อยู่แล้ว โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยนั้นมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งกลุ่มคนที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองหรือกลุ่ม FIT (Free Individual Travellers) มีสัดส่วนถึง 60 เปอร์เซ็นต์และเป็นกลุ่มที่มีการใช้บริการของอาลีเพย์ ปัจจุบันคนจีนนิยมท่องเที่ยวเองโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งแตกต่างจากในช่วงแรกๆ ของการเปิดประเทศที่ยังเน้นการเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ในต่างประเทศอยู่ เพราะคนยุคใหม่มีความรู้สึกคุ้นเคยและรู้จักประเทศไทยมากขึ้นและต้องการการท่องเที่ยวที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง”
โดยสถิติจากหน่วยงานการท่องเที่ยวของจีนชี้ว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปต่างประเทศ 131 ล้านครั้งในปี 2560 เพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์จากปี 2559 นอกจากนี้ทางสมาคมผู้จัดทัวร์ระหว่างประเทศ (International Association of Tour Managers) รายงานว่า ยอดใช้จ่ายระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนแตะระดับ 261.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2559 เพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้าและครองอันดับหนึ่งทั่วโลก
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 65,000 บาทต่อคนต่อทริป และมีเวลาพำนักในประเทศโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 5 วัน ชี้ให้เห็นช่องทางสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ควรเพิ่มความสะดวกเรื่องการชำระเงินให้แก่ผู้บริโภคกลุ่มนี้
“สำหรับผู้ประกอบการไทยการให้บริการรับชำระเงินผ่านทางอาลีเพย์นั้นถือเป็นการเปิดช่องทางรับเงินเพิ่มอีกทางหนึ่งและเป็นอีกช่องทางของการทำดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเพื่อให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวจีนได้มากขึ้น โดยปัจจุบันเรามีจุดรับชำระเงินเกินกว่า 50,000 จุด เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยปีนี้มีการตั้งเป้าที่จะขยายจุดรับชำระให้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนของการคมนาคม แท็กซี่ ระบบขนส่งต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมรวม ถึงการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว หรือ Tax Refund ผ่านทางอาลีเพย์”
เรียกได้ว่า การใช้อาลีเพย์ถือเป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ติดต่อกับลูกค้าจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าคิดแค่ว่าอาลีเพย์เป็นแค่ E-Wallet เพราะจริงๆ แล้วถือเป็นช่องทางการทำการตลาดอย่างหนึ่งในการที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวจีนให้รู้จักร้านคุณได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสของการใช้บริการและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้น
ด้าน นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภร Chief Operating Officer จาก COCA Holding International Co., Ltd เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารโคคา (COCA), แมงโก้ทรี (Mango Tree) และไชน่าไวท์ (China White) ที่ถือเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารแรกๆ ของไทยที่นำเอาระบบการชำระเงินของอาลีเพย์มาใช้ กล่าวว่า ทางแบรนด์เริ่มนำระบบเข้ามาใช้ที่ร้านแมงโก้ทรี สาขาสุรวงศ์และโคคา สุรวงศ์ หลังจากนั้นขยายมาใช้กับสาขาในห้างเซ็นทรัลเวิลด์เพราะว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเยอะและได้การตอบรับที่ดีมาก โดยปัจจุบันทางแบรนด์มีการใช้ระบบการชำระเงินผ่านทางอาลีเพย์ครอบคลุมทั้งหมด 15 สาขา
“พฤติกรรมของคนจีนนั้นมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันถ้าคุณไปจีนแล้วจ่ายด้วยเงินสดจะเป็นอะไรที่แปลกมาก ขนาดร้านสะดวกซื้อหรือร้านในตลาดยังไม่นิยมจ่ายด้วยเงินสด โดยใช้ระบบโมบายเพย์เมนท์กันหมดแล้ว ซึ่งการนำเอาอาลีเพย์มาใช้ในสาขานั้นได้รับการตอบรับที่ดีมากเพราะลูกค้าเราสมัยก่อนจะจ่ายด้วยเงินสดหมด แต่ปัจจุบัน 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าชาวจีนนั้นจ่ายด้วยระบบอาลีเพย์ เพราะถือเป็นระบบที่ทำให้เขารู้สึกอุ่นใจเนื่องจากลูกค้าใช้เป็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่การแข่งขันกันสูง
หากร้านไหนมีการรับชำระอาลีเพย์จะสามารถดึงดูดคนจีนให้เข้าร้านได้ โดยการจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์นั้นก็เหมือนกับที่เราจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป อีกทั้งยังสะดวกต่อลูกค้าที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะมีเงินสดพอที่จะใช้จ่ายหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากผู้ประกอบการไหนที่มีฐานลูกค้าเป็นคนจีนอยู่แล้ว ควรนำเอาระบบรับชำระอาลีเพย์มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน”
iResearch Consulting Group เผยว่า ในปี 2559 มูลค่าการชำระเงินผ่านโมบายเพย์เมนท์ของคนจีนในประเทศสูงถึง 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 187 ล้านล้านบาท) และเมื่อคนจีนเริ่มท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นก็มีข้อจำกัดที่นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถนำเงินออกนอกประเทศได้มากนัก ทำให้ภาพการชำระเงินผ่านโมบายเพย์เมนท์ของคนจีนในต่างประเทศชัดมากขึ้น ตัวเลขล่าสุดจาก Nielson เผยว่า คนจีนมีการใช้จ่ายผ่านมือถือถึง 90 เปอร์เซ็นต์ขณะเดินทางในต่างประเทศซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆถึง 6 เท่าที่ใช้เพียง 11 เปอร์เซ็นต์ โดยมากแล้วนักท่องเที่ยวจีนจ่ายเงินผ่านมือถือสำหรับค่าสินค้าและบริการ ค่าอาหาร และค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มมากขึ้นจากผู้ประกอบการที่เปิดรับชำระเงินผ่านมือถือในต่างประเทศ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี