ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้นั้น ประเด็นสำคัญ เกิดจากตัวผู้ประกอบการเอง คุณสมบัติยังไม่เข้าเกณฑ์ของโครงการที่ได้รับการผ่อนปรน รวมถึง อาจมีประวัติค้างชำระ หรือปรับโครงสร้างหนี้ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ความสามารถชำระหนี้ไม่เพียงพอ เช่น มีภาระหนี้เดิมสูงมาก หรือเอกสารแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับที่แจ้งข้อมูล เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ SME Development Bank ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์สินเชื่อโครงการต่างๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในเรื่องนี้ มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( ธพว. หรือ SME Development Bank) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคาร หลังจากออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรหรือแผนฟื้นฟู จะมุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนตัวเล็กให้เข้าถึงแหล่งทุน ควบคู่ให้การพัฒนา โดยส่งเสริมเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคล การจัดทำบัญชีรับ-จ่าย และจัดทำบัญชีชุดเดียว อีกทั้ง สร้างไม้ค้ำยันธุรกิจหรือตัวช่วยประคองธุรกิจช่วงเริ่มต้น เช่น ยกระดับมาตรฐาน พัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามทันสมัย และขยายผ่านตลาดออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในช่วงปี พ.ศ.2557-2560 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์สินเชื่อโครงการต่างๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ Small SMEs , สินเชื่อแม่ค้าคนดี , สินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการทำงานการผลิต (PIL) ระยะที่ 2 โดยปรับเงื่อนไขประวัติการชำระหนี้ จากเดิมต้องไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้ 24 เดือน ให้เหลือแค่ 12 เดือน ผ่อนปรนระยะเวลาการดำเนินกิจการ จากเดิมต้องทำธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 1 ปีเป็น “ไม่กำหนด” เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่ม startup เข้าถึงแหล่งทุนได้ เป็นต้น
โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารอนุมัติสินเชื่อใหม่แก่เอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 39,627 ราย วงเงินกว่า 91,394 ล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 46% หรือ 18,095 ราย อนุมัติสินเชื่อวงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 วงเงิน 100,685 ล้านบาท ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สะสม จำนวน 11,432 ราย วงเงิน 16,690 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนเป็นบุคคลธรรมดา ถึงกว่า 81% ซึ่งกู้ในวงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท สัดส่วนถึง 78% รวมถึงพบว่า หนี้เสียจากสินเชื่อที่ผ่อนปรนเงื่อนไขมีสัดส่วนที่สูงกว่าโครงการที่ไม่ผ่อนปรนด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2558-2560 มีหนี้เสียเพียง 3.32% เท่านั้น
สำหรับการผ่อนปรนคุณสมบัติในช่วงที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างโอกาสให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น ลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงเวลานั้น จึงต้องยอมรับความเสี่ยงสูงที่จะเกิดหนี้เสีย ส่วนเวลานี้ แม้เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว ธนาคารยังต้องการส่งเสริมรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจะคงมาตรการผ่อนปรนคุณสมบัติเช่นเดิม ภายใต้ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารจะผ่อนปรนคุณสมบัติให้แล้วก็ตาม สิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่แหล่งทุนได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพยายามพัฒนาศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้น ซึ่งการเข้าสู่ระบบ จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยยกระดับธุรกิจ เพราะเมื่ออยู่ในระบบแล้ว จะเปรียบเสมือนมีกระจก คอยสะท้อนจุดอ่อนจุดแข็ง สามารถนำปัญหาไปแก้ไขและปรับปรุงเพื่อให้ธุรกิจเข้มแข็งขึ้นได้ และเมื่อธุรกิจมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นแล้ว ย่อมทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้สูงขึ้น โอกาสจะเกิดเป็นหนี้เสียจะน้อยลงไปด้วย
“หากผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อ ต้องพยายามยกระดับตัวเอง เพิ่มศักยภาพสามารถผ่านเกณฑ์พิจารณาได้ ซึ่ง SME Development Bank พร้อมเป็นผู้ช่วย โดยผู้ประกอบการสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่สาขาธนาคารทุกแห่ง รวมถึงผ่าน Call Center โทร.1357 ซึ่งจะมีทีมงานคอยให้คำปรึกษา ช่วยเหลือตั้งแต่ต้นจนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนสำเร็จ” มงคล กล่าว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี