รู้รอบรายจ่าย-ค่าลดหย่อนภาษี ก่อนยื่น ภ.ง.ด. 90, 91 ปี 2561





 

     ถ้าเอ่ยถึงเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างที่ทราบกันดี ผู้ที่เสียโดยส่วนมากแล้วคือ มนุษย์เงินเดือน โดย ภ.ง.ด. 90 ใช้ยื่นแบบสำหรับมีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท  ส่วน ภ.ง.ด. 91 ยื่นแบบเฉพาะมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 เท่านั้น โดยทั้ง ภ.ง.ด 90,91 จะกำหนดให้ยื่นภายในเดือนมกราคม – มีนาคมของปีภาษีถัดไป
 
     สำหรับบุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ ในปี 2560 ถ้าเงินได้นั้นไม่ได้รับการยกเว้นว่าไม่ต้องเสียภาษี ต้องนำเงินได้นั้น มาคำนวณเสียภาษีภายใน เดือน มกราคม – มีนาคม ปี 2561 การเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดานั้น คิดจากเงินได้ประเภทต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเภท นำไป หักค่าใช้จ่าย ตามแต่ละประเภทของเงินได้ (ออกเสียก่อน) แล้วจึงนำมา หักค่าลดหย่อน ตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นจะได้  เงินได้สุทธิ และถ้าเงินได้สุทธินั้นไม่ได้รับการยกเว้นที่ต้องเสียภาษี ประกอบกับ ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 อัตราคือร้อยละ 5, 10, 15 ,20 ,25, 30 ,35 (เงินได้สุทธิจาก 0 – 5,000,000 บาทขึ้นไป) ผู้เสียภาษีต้องยื่นแบบเสียภาษีให้กับรัฐ
 

     การรู้เรื่องค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทางภาษี จึงเป็นประโยชน์กับตัวผู้เสียภาษีเอง จะได้ไม่ต้องเจอกับเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม เวลามีการตรวจสอบย้อนหลังแต่อย่างใด และถือเป็นการบริหารภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการยื่นแบบเสียภาษีให้ถูกต้องด้วย
 

การหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท ได้แก่
 
     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 เช่น เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ฯลฯ


     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 เช่น เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ฯลฯ
 

     เงินได้ประเภทที่ 1และ2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ ผู้มีเงินได้สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้แต่รวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 100,000 บาท ถ้าร้อยละ 50 ของเงินได้สองประเภทรวมกันแล้ว เกิน 100,000 ให้หักได้แค่ 100,000 บาท  ในกรณีสามีภริยา(จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย) ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกินฝ่ายละ 100,000บาท
 

     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 เช่น เงินค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น (ที่เป็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา) เงินปีหรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล ฯลฯ เฉพาะเงินค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่นเท่านั้น ที่หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับเงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปี อันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล ไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
 

     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ดอกเบี้ยต่างๆ, เงินปันผล, เงินส่วนแบ่งกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ฯลฯ กฎหมายไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพราะกฎหมายถือว่าเงินได้ประเภทนี้เป็นเงินได้จากการลงทุน(passive income) ไม่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของผู้เสียภาษี
 

     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้ เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน  สามารถเลือกหักค่าใช้จ่าย ได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือหักเป็นการเหมาในอัตราดังต่อไปนี้คือ 
     

     1.1 บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30 ยกเว้นในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี                                         
     
     1.2 ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ในกรณีที่เจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าเช่าได้ร้อยละ 20 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 20 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี  
      

     1.3 ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม ในกรณีที่เจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 15 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี 
 

     การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 20 เท่านั้น
 

     การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 20 เท่านั้น
 

     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม ฯลฯ กฎหมายให้หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ หักเป็นการเหมา อันได้แก่เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60 นอกจากที่กล่าวมาให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30
 

     การประกอบโรคศิลปะ คือ การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ
 

     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือหักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60
 

     เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 เป็นเงินได้อื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 – 7 ,เป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ กฎหมายให้หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ หักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60
 

ค่าลดหย่อน

     เงินได้พึงประเมิน เมื่อหักค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไม่ว่าจะเป็นวิธี หักตามความจำเป็นหรือสมควร หรือ หักเป็นการเหมาในอัตราที่กฎหมายยอมให้หัก ตามแต่ละประเภทของเงินได้พึงประเมิน 1 – 8 เพื่อเป็นการบรรเทาภาษีที่ต้องเสีย ให้หักค่าลดหย่อนได้อีก เมื่อหักแล้วจะได้ เงินได้สุทธิ ไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กล่าวมา ค่าลดหย่อนที่สำคัญ 4 ส่วน ได้แก่ ลดหย่อนส่วนตัวผู้เสียภาษีเองและครอบครัว, ลดหย่อนเพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุน, ลดหย่อนในเรื่องสินทรัพย์, ลดหย่อนเงินบริจาค
 




ลดหย่อนส่วนตัวผู้เสียภาษีเองและครอบครัว
  • ส่วนตัว 60,000 บาท
  • คู่สมรส(จดทะเบียนสมรส) 60,000 บาท
  • บุตร คนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนและยกเลิกค่าการศึกษาบุตร
  • ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ผู้มีเงินได้และบิดามารดาคู่สมรสคนละ 30,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคืออายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท  โดยมีเงื่อนไขคือ         คนพิการหรือคนทุพพลภาพมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
 

 

ลดหย่อนในเรื่องสินทรัพย์  
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไม่เกิน 120,000 บาท มูลค่าบ้านไม่เกิน 3,000,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี
  • ซ่อมบ้านที่เสียหายจากน้ำท่วม ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ซ่อมรถที่เสียหายจากน้ำท่วม ไม่เกิน 30,000 บาท
  • ช้อปช่วยชาติไม่เกิน 15,000 บาท ซื้อสินค้าและบริการ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560


 

ลดหย่อนเงินบริจาค  
  • เพื่อการศึกษา การกีฬา หักได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10 % หรือ ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม 1.5 เท่า ของเงินที่ได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10 % หรือ ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน
  • เงินบริจาคทั่วไป ตามที่ได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10 % ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
 




ลดหย่อนเพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุน  
  • ประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตผู้มีเงินได้ (เบี้ยประกันสุขภาพไม่เกิน 15,000 บาท ) รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรสซึ่งไม่มีเงินได้ ไม่เกิน 10,000 บาท
  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF 15 % ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินสะสม  กบข. ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ไม่เกิน 500,000 บาท
  •  เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF 15 % ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 15 % ของเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 200,000 บาท
หมายเหตุ ค่าลดหย่อนกลุ่มนี้รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้