SME ส่งออกควรทำอย่างไร? เมื่อเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 3 ปี




 

     จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 เงินบาทแข็งค่าหลุด 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 3 ปีหรือแข็งค่าขึ้นราว 12% สูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค สวนทางกับมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกปี 2560 ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวแตะระดับ 10% เช่นเดียวกับหลายประเทศที่สกุลเงินแข็งค่าขึ้นในระดับใกล้เคียงกับไทย แต่การส่งออกก็ยังขยายตัวได้เป็นตัวเลขสองหลัก อาทิ เกาหลีใต้ (เงินวอนแข็งค่า 13.4% มูลค่าส่งออกขยายตัว 16.5%) มาเลเซีย (เงินริงกิตแข็งค่า 12.9% มูลค่าส่งออกขยายตัว 15%) ไต้หวัน (เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 9.6% มูลค่าส่งออกขยายตัว 13.1%) เป็นต้น
 

     แม้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย แต่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 12%  ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียรายได้เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือผู้ส่งออก SME ที่อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนและมีอัตรากำไร (Margin) ไม่สูงนัก ทำให้มีแรงต้านทานต่อเงินบาทที่แข็งค่าได้น้อย




     ในเรื่องนี้ พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะถัดไปเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากมากในภาวะปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมากและไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ที่ปะทุขึ้นเป็นระยะ รวมถึงการเก็งกำไรในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนของกระแสเงินทุนเข้าออก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คาดการณ์และควบคุมไม่ได้ 




 
     ทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ส่งออก SME คือ การปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการซื้อประกันค่าเงิน (FX Options) ซึ่งผู้ส่งออกสามารถล็อกอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีการส่งมอบในอนาคตไว้ที่ราคา ณ ปัจจุบันได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่า รายได้ในรูปเงินบาทจะลดลงเนื่องจากเงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกสามารถขายเงินตราต่างประเทศ ณ ราคาตลาดได้เช่นกันในกรณีที่เงินบาทในอนาคตกลับอ่อนค่าลง ถือเป็นการปิดความเสี่ยงด้านค่าเงินทั้งสองทาง ทำให้ผู้ส่งออกได้รับประโยชน์สูงสุด หรือขอใช้บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contact) และหารือวิธีปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินที่ใช้อยู่ รวมทั้ง EXIM BANK 

 
     “ขอย้ำว่า ผู้ส่งออกควรหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรหรือลุ้นค่าเงินในทุกกรณี โดยเฉพาะผู้ส่งออก SME ซึ่งมักจะมีเงินทุนหมุนเวียนและมีอัตรากำไร (Margin) ไม่สูงนัก การปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจะช่วยทำให้ทราบต้นทุนและรายรับในอนาคตที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะทำให้ผู้ส่งออกไม่ต้องกังวลกับทิศทางค่าเงิน สามารถทุ่มเทเวลาและทรัพยากรไปพัฒนาสินค้าและกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและเพิ่มกำไรให้สูงขึ้น” นายพิศิษฐ์กล่าว


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

เคลียร์หนี้ให้จบ ด้วย 5 เทคนิคที่ใช้ได้จริง

การปลดหนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จริง ๆ แล้วการปิดหนี้ให้ไวก็ไม่ได้ยากเกินไป เราเลยได้นำ 5 เทคนิคปลดหนี้ไวแบบมือโปร เพื่อให้ชีวิตสบายได้เร็วขึ้นมาฝากกัน

ทำความเข้าใจ e-Tax Invoice ช่วยธุรกิจปลดล็อกภาษีได้อย่างไร

แม้ผู้ประกอบการธุรกิจจะเริ่มคุ้นเคยกับ e-Tax Invoice ระบบใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ามาช่วยให้การจัดทำภาษีสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนแต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ เราเลยจะพาไปทำความเข้าใจกับ e-Tax Invoice กันให้มากขึ้น

ส่อง Virtual Bank จากกรณีศึกษาไต้หวัน สู่ธนาคารไร้สาขาในไทย

หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มสนับสนุนการจัดตั้ง ‘ธนาคารไร้สาขา’ หรือ ‘Virtual Bank’ เพื่อให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก หนึ่งในนั้นคือ ไต้หวัน ธนาคารไร้สาขาจะมีลักษณะอย่างไร มาดูไปพร้อมกัน