รู้หรือไม่ ว่าในปี 2561* จะเป็นปีแรกที่จำนวนผู้สูงอายุในไทยจะมากกว่าประชากรเด็ก และในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society)** จากนั้นอีก 10 ปี ไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society)***
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องท้าทายที่เราต้องเผชิญ เพราะอีกไม่นานความต้องการสินค้าเด็กจะลดลง สวนทางกับความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นเจ้าของธุรกิจสินค้าและบริการจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันและตระเตรียมกลยุทธ์เพื่อใช้คว้าโอกาสธุรกิจในเทรนด์ที่กำลังมาถึง
กรุงศรีจัดทริป นำนักธุรกิจไทยเรียนลัดหลักสูตรญี่ปุ่น
แน่นอนว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงเทรนด์ธุรกิจผู้สูงวัยนี้เช่นกัน จึงจัดกิจกรรม “Krungsri Business Journey: Life-Care Business Opportunities” ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมและ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับนักธุรกิจไทย โดยนำคณะผู้ประกอบการ SME ไทย กว่า 30 ราย เดินทางไปศึกษาธุรกิจผู้สูงวัยที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
โดยผู้ประกอบการได้เยี่ยมชมทั้งโรงพยาบาลเฉพาะทาง ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงวัย ศูนย์การออกแบบบ้านเพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ บริษัทผลิตอาหารสำหรับผู้สูงวัย ห้างสรรพสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ และโรงแรมที่เปิดพื้นที่เพื่อบริการผู้สูงวัยโดยเฉพาะ
นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ know-how และการบริหารจัดการในแต่ละธุรกิจ รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรที่ให้บริการผู้สูงอายุที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อีกทั้งการสร้างเครือข่ายธุรกิจกับนักธุรกิจญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาโอกาสทางธุรกิจต่อไป “พรสนอง ตู้จินดา” ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงที่มาของทริปนี้ ว่า ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความต้องการสินค้าบริการของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น นี่คือโอกาสของผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ดังนั้นกรุงศรีจึงได้จัดกิจกรรม เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการได้ไปเรียนรู้จากธุรกิจญี่ปุ่น ทั้งการบริหารจัดการ ได้เห็นสินค้าและบริการ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ผ่านการคิด ผ่านการออกแบบสำหรับ ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งมั่นใจว่าประโยชน์จากทริปนี้รวมกับความเชี่ยวชาญของกรุงศรีและเครือข่ายที่เรามีกับ MUFG จะช่วยสนับสนุนและเพิ่มโอกาส รวมถึงต่อยอดทางธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการได้
แลกเปลี่ยนมุมมองต่อยอดเครือข่ายธุรกิจ
สำหรับกิจกรรม “Krungsri Business Journey: Life-Care Business Opportunities” ที่จัดขึ้นนั้น เหล่าผู้ประกอบการล้วนได้รับมุมมองแนวคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมากมาย อย่าง “ธีระธัช รัตนกมลพร” กรรมการบริษัท บริษัท แพนพลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้เล่าว่า กรุงศรีทำให้เข้าใจวิธีคิดของคนญี่ปุ่น ที่ใช้พัฒนาและผลิตสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ แต่เราจะไม่นำของญี่ปุ่นมาใช้ทั้งหมด เพราะมีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนไทย ธุรกิจตัวเองที่ทำอยู่ก็เริ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญต้องเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุก่อน เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกอย่าง โดยเมื่อผู้สูงอายุใช้แล้ว ต้องมีความสุขทั้งกายและใจ และนอกจากได้ความรู้ดีๆแล้ว ยังได้สร้างคอนเน็คชั่น และได้ไอเดียดีๆ จากผู้ร่วมคณะ ซึ่งนำมาต่อยอดธุรกิจได้ด้วย
ส่วน “ไพศาล แซ่โชว” กรรมการ บริษัท รวมโชคพัฒนา (พัทยา) จำกัด ได้เล่าว่า ผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่พักในศูนย์ดูแลผู้สูงวัยได้รับการดูแลอย่างดี มีเพื่อน มีกิจกรรม รวมถึงการบริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร และสามารถเลือกรูปแบบการพักได้ เช่น พักประจำหรือไปกลับ และเลือกอยู่แบบแพ็คคู่สามี-ภรรยาได้ด้วย นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ กับนักธุรกิจญี่ปุ่น ได้เห็นเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ผลิตเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เช่น เครื่องช่วยอาบน้ำ แนวคิดคือลดการพึ่งพา และป้องกันการ เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นน่าทึ่งมาก
“วรพล พรเพชรวนิช” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิริเวช จันทบุรี จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมทริปนี้ ก็ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์และสิ่งที่ได้รับในทริปนี้ให้ฟังว่า ส่วนตัวอยู่ในแวดวงให้บริการทางการแพทย์ และคิดว่าความต้องการทางการแพทย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้สูงอายุ ในไทยเพิ่มมากขึ้น การได้ไปศึกษาธุรกิจและสถานพยาบาล ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยในญี่ปุ่นจึงเป็นประโยชน์มาก ได้เห็นเทรนด์และเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุ ได้เรียนรู้วิธีคิดของคนญี่ปุ่นในการบริหารจัดการ รวมถึงเทคโนโลยีที่สามารถ นำมาปรับใช้ได้ด้วย เช่น เตียงที่มีเซ็นเซอร์บันทึกการนอน หรือประตู อัตโนมัติเปิดปิดได้เอง
ในส่วนของ “เคนร์ ชัยชนะวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์ชัย จำกัด (VCON) ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากทริปนี้อย่างมากมาย โดยเคนร์เล่าว่า ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยและการดูแลด้านสุขภาพจึงกำลังเพิ่มมากขึ้น การไปศึกษาธุรกิจผู้สูงวัยที่ญี่ปุ่นจึงได้ประโยชน์มาก ได้ความรู้มากมาย ทั้งด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ที่นำมาปรับใช้ได้ การผลิตอาหารเพื่อผู้สูงวัย ซึ่งมีความนิ่มหลายระดับ ให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม รวมถึงปัญหาที่ต้องเจอ นอกจากนั้น ยังได้สร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งอาจพัฒนาเป็นพันธมิตรได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การนำพา SME ไทยไปเรียนลัดหลักสูตรในครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในหลายส่วน แต่กรุงศรีนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในองค์กรที่อยู่ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็น 1 ใน 5 กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในญี่ปุ่น จึงทำให้สามารถนำผู้ประกอบการเข้าชมธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเรียนรู้รูปแบบการทำธุรกิจได้โดยกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของกรุงศรีที่มุ่งสร้างโอกาสเติบโตให้ผู้ประกอบการไทย
หมายเหตุ:
*ข้อมูลจาก Research Intelligence, Krungsri Research: ก.ค. 60
**สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรืออายุ 65 ปี 14% ของประชากรทั้งประเทศ
***สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) คือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี