SCB เมื่อโลกเปลี่ยน เราจะเปลี่ยนไปพร้อมกัน

 
 



            เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไว จนเป็นแรงบีบคั้นให้ทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ในฐานะสถาบันการเงินแห่งแรกของไทย จึงต้องลุกขึ้นมานำการเปลี่ยนแปลง จากบทบาทภาพลักษณ์เดิมที่เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจ แต่ในวันนี้ ไทยพาณิชย์ต้องเป็นสถาบันส่งเสริมรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME เพื่อการก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน 


            พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด SME Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB  กล่าวว่า ในบทบาทความเป็นสถาบันการเงินที่มีหน้าที่ดูแลเงินฝากของประชาชน และผู้ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ  ซึ่งเป็นบทบาทที่มีความสำคัญมากกับระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลง (Transformation) จึงไม่ใช่แค่เพื่อตัวองค์กรเอง แต่ต้องเป็นไปทั้งระบบ 


            แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุด ไทยพาณิชย์ต้องช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยตรง  ซึ่งในวันนี้ธนาคารก็ได้ลงทุนในเทคโนโลยีและทำ Transformation ในองค์กร พร้อมกับการสร้างพื้นฐานเพื่อพาลูกค้า SME ปรับตัวไปพร้อมกัน


            “ถ้าเขามีร้านขายออฟไลน์อยู่ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นขายประสบการณ์ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่ว่า SME ทุกคนคิดได้ หรือบางรายคิดได้ แต่ก็ไม่มีเวลาปรับเปลี่ยน เราก็อยากเข้าไปช่วยเหลือเขาในฐานะมืออาชีพ ทำอย่างไรถึงจะส่งต่อโนว์ฮาวต่างๆ ที่มีอยู่ในธนาคารและบริษัทที่ประสบความสำเร็จไปสู่ SME 


            แต่กระนั้นก่อนจะไปช่วยลูกค้า เราเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้ได้ก่อน แทนที่จะปล่อยเงินกู้แล้วปล่อยลูกค้าไปตามยถากรรม พอถึงเวลาจ่ายเงินคืนไม่ได้ ก็ใช้วิธีบังคับหนี้ตามกฎหมาย แต่วันนี้เราจะเข้าไปช่วยเขาปรับโครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกิจ โดยมีหลักความคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานว่า เราต้องช่วยให้ SME มียอดขายที่เพิ่มมากขึ้น และต้อง ช่วยเขาในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้รอด”
 


            แนวทางการปรับโครงสร้างพื้นฐานการทำธุรกิจให้ดีขึ้นของ SME ก็ต้องเริ่มจากช่วยเพิ่มยอดขาย ซึ่งช่องทางการขายต้องมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่ยังมี SME อีกเยอะที่ไม่ได้ขาย Online หรือใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการทำธุรกิจ  จากนั้นก็ไปดูในเรื่องของต้นทุน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคน ถ้ามีระบบที่สามารถพัฒนาศักยภาพลูกจ้างให้ดีขึ้นได้ โอกาสทางธุรกิจก็มีสูงกว่า  แล้วยังมีเรื่องของโลจิสติกส์ การสร้างแบรนด์ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเรื่องพวกนี้อาจยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ 


            และเมื่อได้ทราบถึงแนวทางที่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยธุรกิจ SME ในการปรับโครงสร้างเหล่านี้แล้ว ธนาคารจึงได้เริ่มวางรากฐานในหลายๆโปรเจ็กต์ อย่าง Business Center ที่กำลังจะเปิดในช่วงปลายปี 60, Business Linx และ Market Guide เช่น Chatuchak Guide และอื่นๆ ที่กำลังตามมาอีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำขึ้นเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SME


            “เรามองว่าการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี บางครั้ง SME ลงทุนเองลำพังไม่ไหว แบงก์ก็ต้องเข้ามาสร้างแพลตฟอร์ม ให้เขาเข้ามาใช้ให้มากที่สุด อย่างตลาดนัดจตุจักร เปิดขายแค่ เสาร์อาทิตย์แค่ 2 วัน แต่มีร้านค้าเป็นหมื่นร้าน จึงทำให้ลูกค้าหาร้านไม่เจอ เราเลยทำ Chatuchak Guide ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยพาลูกค้าเดินไปถึงร้านค้า ทำให้ร้านค้ามีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งแค่ระบบอย่างเดียวใช้เงินไปกว่า 100 ล้านบาท 


            เฟสต่อไปก็ต้องสร้างร้านค้าออนไลน์ให้เขาเอาของขึ้นขายบนเชลฟ์สินค้าออนไลน์ เพื่อขายของได้ทุกวัน ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปสอนเขาเรื่องการทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง พร้อมทั้งนำคิวอาร์โค้ดไปตั้งเพื่อรองรับสังคมไร้เงินสดและง่ายต่อการจับจ่ายซื้อของ นอกจากนี้ ก็ได้ไปโปรโมตแอปฯ ในตลาดคนจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของจตุจักรเพิ่มให้ด้วย”


            ทั้งนี้ Chatuchak Guide จะเป็นโมเดลที่ใช้ทดสอบดูว่าสิ่งที่ทีมงาน SCB คิดไว้มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการทำให้การทรานส์ฟอร์มธุรกิจประสบความสำเร็จ และจะเป็นแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนขึ้น สำหรับการลงทุนในครั้งต่อๆ ไป
 


            “อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เราลงทุนไว้สำหรับธุรกิจ SME ซึ่งก็มีราคาสูงไม่แพ้กัน คือ BusinessLinx สร้างขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้ามีแหล่งขายของในลักษณะ B2B ซึ่งจะได้วัตถุดิบในราคาที่ถูก และมีอำนาจในการต่อรอง โดยนอกจาก SME จะซื้อ-ขายกันเองโดยตรงแล้ว แบงก์จะสร้างฟังก์ชันต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ SME อย่าง Group Buyer ในการรวมบิลให้กับ SME และหารายใหญ่มาซื้อทีเดียวเลยเพื่อช่วยลดต้นทุน นอกจากนี้ BusinessLinx จะเป็นศูนย์ความรู้ให้กับ SME โดยจะมีหลักสูตรออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจคือ เข้ามาเรียนการทำธุรกิจในนี้ เรียนจบก็สามารถที่จะค้าขายบนนี้ได้เลย


            “ส่วน Business Center จะเป็นสถานที่ที่ช่วยผู้ประกอบการ SME ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เหมือนหน้าร้านของแบงก์ เสริมความสมบูรณ์ให้กับ แอปพลิเคชันทั้งหมดที่ทำ ซึ่งเป็นเหมือนหน้าร้านบนอากาศ นอกจากนี้ เรายังมี SCB Easy เป็นแอปพลิเคชันของคนที่มีอำนาจซื้ออยู่ในมือ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้อยู่หลายล้านคน สิ่งที่เราจะทำคือทำให้ SME ได้เจอกับผู้บริโภคเหล่านี้”


            พิกุลบอกว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดให้บริการฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ความคาดหวังเดียวที่มีคือ ขอแค่ให้ SME ได้เห็นประโยชน์และเข้ามาใช้บริการเพื่อทรานส์ฟอร์มไปพร้อมกันกับแบงก์ ซึ่งเธอมองว่า การทรานส์ฟอร์มครั้งนี้ไม่มีจุดสิ้นสุด


            “อย่าหยุดที่จะเปลี่ยนตัวเอง และต้องเร่งสปีดตัวเองให้เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างมาเร็ว และไปเร็วมาก แค่อ่อนแรงไปเพียงเสี้ยววินาที ตื่นขึ้นมาอีกทีก็อาจรู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปจนยากเกินตามทัน องค์กรที่สามารถปรับตัวได้ คือองค์กรที่อยู่รอด กับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเราเป็นแบงก์ที่มีอายุยาวนานร่วม 110 ปี มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย เราก็อยากจะเห็นความยั่งยืนตรงนี้ไม่มีจุดสิ้นสุด แต่การยั่งยืนตรงนี้จะยั่งยืนได้ก็ต้องทำให้ลูกค้ายั่งยืนไปด้วยกัน”


            และนี่คือภารกิจสำคัญของไทยพาณิชย์นับจากก้าวนี้ไปในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่ยุคแห่งการไม่หยุดนิ่ง ซึ่งพิกุลบอกว่า เป็นความภูมิใจสูงสุดของเธอ เพราะงานนี้ไม่ใช่แค่ทำงานให้แบงก์ แต่เป็นการทำเพื่อประเทศชาติด้วย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs จัดสัดส่วนการเงิน ปรับธุรกิจผลิตสินค้าตามกระแสโลก เจาะตลาด ‘รักษ์โลก-สูงวัย-ฮาลาล’ รับมือสถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร แนะการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ แต่การขอสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะต้องรู้จักเทคนิค 5C+ ที่สถาบันการเงินใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ

เปิด 5 Trick วางแผนการเงินเฮง! รับปีใหม่ ขาดทุนเป็นศูนย์ ทำกำไรทะลุเป้า

ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ อยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

เปิดผลสำรวจ ผู้ประกอบการไทยเสี่ยงกลายเป็น Zombie Firm 35% 

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การแฝงตัวของ Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด