ทีเอ็มบี จัดเต็มทั้งเงินทุน-ความรู้ เสริมแกร่ง SME ครบวงจร

                 เมื่อโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โจทย์ของการทำธุรกิจจึงไม่เหมือนเดิม ธุรกิจไหนปรับตัวไม่ได้หรือปรับตัวไม่ทัน โอกาสที่จะเติบโตเดินต่อไปข้างหน้าก็ยากลำบากขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ TMB สถาบันการเงินที่พร้อมจะเข้าใจและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SME อย่างครบวงจร ล่าสุดได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่าง ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี สมาร์ท บิส ซึ่งพัฒนาขึ้นจากความต้องการของผู้ประกอบการและธนาคารเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุนทุกประเภท เพื่อให้ธุรกิจของ SME เติบโตได้อย่างเต็มที่

 

 
 
                 ในเรื่องนี้ เทียนทิพย์ นาราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของทีเอ็มบีที่ต้องการให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโตไปได้อย่างแข็งแกร่ง ธนาคารจึงพยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการ SME เพราะตระหนักดีว่าเมื่อโลกธุรกิจเปลี่ยนไป SME จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจ SME  ขนาดเล็กที่มียอดขายไม่ถึง 10 ล้าน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินทุนไม่หนา หรือไม่ได้มีแหล่งเข้าถึงเงินทุนมากนัก ทำให้สายป่านไม่ได้ยาวมาก เมื่อเจอผลกระทบจึงต้องเร่งปรับตัวให้เร็ว ถึงจะสามารถอยู่รอดได้
 
 
                 “สำหรับธนาคารเอง ถ้าวันนี้ไม่สามารถช่วยเหลือ SME ได้ทัน การเติบโตของพวกเขาก็จะสะดุด เราจึงมุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างล่าสุดคือ สินเชื่อ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี สมาร์ท บิส โดยมีสินเชื่อครอบคลุมทุกประเภทตามความต้องการของธุรกิจ อาทิ สินเชื่อเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) และสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) เพื่อก่อสร้าง หรือซื้อสถานประกอบการซื้อเครื่องจักร เป็นต้น นอกจากนี้ SME ยังสามารถใช้หลักประกันรูปแบบใหม่ คือ เครื่องจักร สินค้าคงคลัง ลูกหนี้การค้า เพื่อให้ได้รับวงเงินเพิ่มจากหลักประกันในรูปแบบเดิม และเมื่อใช้วงเงินและเดินบัญชีสม่ำเสมอกับทีเอ็มบีก็มีโอกาสรับเงินทุนเพิ่มได้อีกด้วย” 
 
 
                 ในส่วนของครึ่งปีหลังนั้น ทีเอ็มบี ยังมีแผนที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาบุคลากรและระบบการ Approval สินเชื่อภายในองค์กร รวมทั้งพยามเข้าใจในพฤติกรรมของผู้ประกอบการ SME ให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาเพื่อหวังว่าทีเอ็มบีจะเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของ SME ไทยได้อย่างไม่สะดุด
 
 
                 “วันนี้โจทย์ทางธุรกิจและเป้าหมายคงไม่เปลี่ยนอะไร เพราะชัดเจนมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว สิ่งที่เราจะทำ คือเริ่มด้วยการผลักดันเรื่องของคน จัดทีมภายในใหม่ มีการเทรนนิ่งพนักงาน เราเองก็เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างที่ดีขึ้นทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน อย่างภายนอกคือมีลูกค้าเริ่มขอสินเชื่อมากขึ้น เริ่มมีการขยับตัวของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น จากที่นิ่งๆ มาตลอด และภายในเองเราเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการ Approve สินเชื่อให้เต็มที่มากขึ้น มีความชัดเจน รวดเร็ว จากเดิมที่อัตราการ Approve อยู่ที่ 60% ตอนนี้ก็ขยับมาเป็น 70-80% แล้ว ก็คิดว่าตัวเลขพอร์ต SME ในปลายปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะค่อนข้างท้าทายมาก แต่ก็จะทำให้ดีที่สุด”
 
 
                 นอกจากนี้ เทียนทิพย์ ยังเน้นย้ำในจุดยืนของทีเอ็มบีที่จะตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SME ด้วยการให้บริการอย่างเข้าถึงและตรงใจในแบบที่ Simple & Easy เพื่อช่วยให้การทำธุรกิจในยุคนี้เป็นไปได้อย่างง่ายขึ้น ทั้งการขอสินเชื่อและการบริหารสภาพคล่องทางการเงินในการทำธุรกิจ 
 
 
                 “เราเข้ามาดูแลกลุ่ม SME และเราจะโฟกัสที่กลุ่มนี้มากขึ้น โดยจะเน้นทำความเข้าใจพวกเขาในเชิงพฤติกรรมมากกว่า การแบ่งกลุ่มลูกค้าตามยอดขาย เช่น 10 ล้าน 20 ล้าน ทั้งนี้ เราจะทำ Data Science ดูแลพวกเขาในเชิงพฤติกรรม เช่น ลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่งเริ่มทำธุรกิจไม่เกิน 5 ปี ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว แล้วเราจะสามารถเข้าไปเสริมในส่วนไหนได้บ้างหรือลูกค้ากลุ่มนี้ โตขึ้นมาหน่อย มีพนักงานไม่มาก ยังติดต่อกับบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย มีเวลาน้อย ค่อนข้างยุ่ง อาจจะต้องเสริมในส่วนของแอปพลิเคชั่น อย่าง TMB Business Touch ที่สามารถทำ Pay roll ดูรายรับรายจ่ายได้หมดเลย พอวงเงินเริ่มไม่พอก็จะได้รู้เลย ไม่ต้องเสียเวลานานมานั่งคุยกับแบงก์มาก มีอะไรก็โชว์ทางออนไลน์ได้หมด สิ่งที่ SME ต้องการ คือ Simple and Easy เพราะพวกเขาทำทุกอย่างแบบวันแมนโชว์ ต้องการความง่าย ไม่มีเวลา ต้องเข้าถึงง่าย ใช้ง่าย ทั้งการขอสินเชื่อหรือการบริหารสภาพคล่อง”

 

 
                 นอกเหนือจากบริการทางการเงินที่จะช่วยตอบโจทย์การเติบโตของ SME แล้ว องค์ความรู้ก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ TMB จึงได้จัด TMB SME Industry Focus ขึ้น โดยในซีรี่ย์แรกชื่อว่า “ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง จะรวยอย่างไรในยุคดิจิทัล”เพื่อเสริมความรู้ให้กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เป็นรากฐานของไทย โดย GDP ของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ 4.5% หรือ 6.08 แสนล้านบาท และสิ่งสำคัญที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลได้ นั่นคือการใช้ Social Media ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
 
 
                 สำหรับการสัมมนาในช่วงแรกได้ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล ขึ้นมาบรรยายในหัวข้อ “พลิกธุรกิจสู่ตลาดออนไลน์” โดยกล่าวถึงความสำคัญของการทำตลาดบนโลกออนไลน์ในยุคนี้ที่ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีการเข้าถึงข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น เพียงแค่คลิกเสิร์ชก็สามารถเจอคุณและคู่แข่งได้บนโลกออนไลน์ เพียงแต่ว่าใครจะสามารถฉกฉวยโอกาสนี้ไปได้มากที่สุด นอกจากนี้ การทำตลาดบนโลกดิจิทัล มีข้อดีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้คุณเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น สามารถสื่อสารกับลูกค้า ช่วยให้คุณนำเสนอสินค้า หว่านล้อมไปจนถึงให้ความรู้แก่พวกเขาได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณให้บริการกับลูกค้าได้อีกด้วย ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะสามารถใช้โอกาสนี้บนโลกดิจิทัลได้ดีแค่ไหน 

 
 
 
                 ในส่วนสัมมนาช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาในหัวข้อ “เสริมแกร่งธุรกิจวัสดุก่อสร้าง” นำโดย ถนอม เกตุเอม เจ้าของบล็อกภาษีข้างถนนและแฟนเพจ @TaxBugnoms ที่มาพูดให้ผู้ประกอบการเข้าใจในเรื่องของการจัดการบัญชีและภาษี ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรต้องเริ่มทำตั้งแต่ในวันนี้เป็นเรื่องของการทำ “บัญชีเดียว” ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น โปร่งใส ลดเวลาการทำงาน รวมทั้งยังไม่ต้องหวาดกลัวการโดนตรวจสอบย้อนหลัง ยิ่งในอนาคตที่จะมีระบบ E Payment ต่างๆ เข้ามามากขึ้น หากว่ามีการทำหลายบัญชีจะหลีกเลี่ยงยากและเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย ในบางครั้งต้นทุนของการหลีกเลี่ยงภาษีนั้นแพงกว่าการเสียภาษีจริงๆ เสียอีก 
 
 
                 นอกจากนี้ยังได้ พีระเดช นพทีปกังวาน ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง บริษัท นวการค้าวัสดุก่อสร้าง จำกัด ที่ได้ต่อยอดธุรกิจวัสดุก่อสร้างด้วยการสร้าง Market Place แห่งใหม่ รวบรวมวัสดุก่อสร้างและจับคู่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ขนส่งแบบครบวงจรภายใต้ชื่อ beelieve sourcing ได้พูดถึงธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันว่า ช่วยลดกระบวนการในการทำงานหลายๆ อย่างให้หายไป เมื่อขยับธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการพบเจอกับลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการทำงานได้อีกด้วย ในส่วนของหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจก่อสร้าง พีระเดชได้บอกว่า Cash Flow และ Stock คือเรื่องสำคัญ ถ้าธุรกิจของใครไม่ต้อง Stock ของ ก็เน้นไปที่การหมุนเงินในการทำธุรกิจ ไม่ควรนำเงินในการทำธุรกิจไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีการบริหารจัดงานเงินให้ดี ต้องมีวินัยทางการเงิน 
 
 
                 เรียกได้ว่ามาพร้อมทั้งบริการทางการเงินและองค์ความรู้ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งนั่นเอง
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้