Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
Cr.techinasia.com
เป็นยุคที่หลายรัฐบาลทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างพยายามผลักดันประเทศให้เข้าสู่การเป็น cashless society หรือสังคมไร้เงินสดโดยการสนับสนุนให้พัฒนาระบบที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องพกพาเงินสดแม้แต่น้อย โดยผ่านระบบ e-payment หรือการชำระเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เหตุผลก็เพื่อรัฐบาลจะได้ลดการพิมพ์ธนบัตรหรือผลิตเงินเหรียญออกมาซึ่งเป็นกระบวนการที่มีต้นทุนสูง ขณะเดียวกัน ก็สร้างความสะดวกสบายและปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่ไม่ต้องพกพาเงินสด
อย่างในบ้านเรา ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-payment master plan หรือแผนแม่บทในการพัฒนาโครงสร้างระบบการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ รัฐบาลได้พยายามผลักดันทุกทาง อาทิ การผุด PromptPay บริการรับ – โอนเงินระหว่างกันแบบใหม่ โดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร ใช้เพียงแค่หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือ เลขประจำตัวประชาชนไปแล้ว หรือล่าสุดสถาบันการเงินทุกสถาบันร่วมกับผู้ให้บริการบัตรเครดิตทุกเจ้าในไทยเพิ่งแถลงข่าว ‘ความร่วมมือการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงิน’ โดยรูปแบบการชำระเงินผ่านระบบ QR Code นี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ คือเปิดแอปการเงินที่ใช้บริการอยู่ แล้วใส่รหัสผ่านที่กำหนด จากนั้น สแกน QR Code ที่ต้องการชำระเงิน กรอกราคาสินค้าให้ตรง และ ยืนยันชำระเงิน
ระบบ cashless payment กำลังขยายตัวในเอเชียโดยที่ผู้บริโภคได้รับแรงจูงใจจากบริการต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นชำระเงินบนสมาร์ทโฟน หรืออินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ไปดูกันที่จีนแผ่นดินใหญ่ จากสังคมที่ใช้เงินสดเป็นหลักมานานและล้าหลังกว่าหลายประเทศในเรื่องการใช้บัตรเครดิต ปัจจุบันระบบการชำระค่าสินค้าแบบไร้เงินสดเป็นที่นิยมอย่างมาก ผลสำรวจพบว่า 70% ของชาวจีนก้าวเท้าออกจากบ้านโดยไม่พกเงินสด และปี 2016 ที่ผ่านมา ผู้ใช้ระบบ e-payment มีจำนวน 469 ล้านคน คิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด โดยเพิ่มจากปีก่อนหน้า 30% โดยยอดชำระเงินผ่าน mobile payment มีมูลค่าก 38.6 ล้านล้านหยวนหรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% เลยทีเดียว เหตุที่กระแส e-payment แพร่หลายในจีนเนื่องจากรัฐบาลคลายกฎเหล็กและสนับสนุนบริษัทในประเทศ จึงทำให้เกิดบริการ e-wallet จากค่ายต่าง ๆ แต่ที่ได้รับความนิยมสุดก็ AliPay และ WeChat
มาที่เกาหลีใต้ ขึ้นชื่อในฐานะประเทศที่อัตราการใช้เงินสดต่ำสุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยปัจจุบัน การใช้เงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการอยู่ที่สัดส่วน 20% เท่านั้น เกาหลีใต้ตั้งเป้าภายในปี 2020 จะก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์ จะเห็นว่าในขณะที่หลายประเทศไม่ว่าจะพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาต่างมุ่งไปทิศทางเดียวกันในการเป็นสังคมไร้เงินสด แต่มีอยู่ 2 ประเทศที่พัฒนาแล้ว และถือเป็นชาติรุ่มรวยด้านนวัตกรรมกลับยังล้าหลังในเรื่องนี้ สองประเทศที่ว่าคือสิงคโปร์และญี่ปุ่น
ที่สิงคโปร์ ทางเลือกด้าน mobile payment ไม่ใช่ไม่มี แถมยังมีเยอะมาก แต่ 60% ของการชำระเงินยังผ่านเงินสด รองลงมา 14% คือผ่านบัตรเครดิต ผลสำรวจความเห็นจาก Paypal ว่าคนสิงคโปร์ชอบชำระเงินแบบไหน พบว่า 90% เลือกใช้เงินสด 74% เลือกอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และ 61% เลือกบัตรเครดิต ถ้าเปรียบเทียบกับจีน ในจีน 40% ของประชากรได้เปลี่ยนมาใช้ระบบการชำค่าสินค้าแบบไร้เงินสดแล้ว ขณะที่สิงคโปร์มีเพียง 4% เท่านั้นที่ยอมเปลี่ยน
สิ่งที่เกิดขึ้นช่างค้านกับนโยบายของรัฐที่เน้นการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดว่าเป็นเสาหลักสำคัญของโครงการ “Smart Nation” ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ต้องออกมากระตุ้นหลังจากที่มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะจากจีน แล้วอาคันตุกะท่านนั้นแสดงความเห็นว่าสิงคโปร์ล้าหลังกว่าจีนในเรื่องนี้ ทั้งนี้ เหตุผลที่คนสิงคโปร์ไม่ชอบใช้ระบบ e-payment อาจเป็นเพราะข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สะดวก เช่น ต้องดาวน์โหลดหลายแอพฯ หรือพกบัตรหลายใบเพื่อใช้กับจุดประสงค์ที่ต่างกัน หรือบางทีก็มีข้อกำหนดขั้นต่ำว่าต้องซื้อสินค้า 10-20 เหรียญขึ้นไปจึงชำระด้วยระบบได้ ขณะที่การกดเงินจากตู้ ATM ทำได้ง่ายและเร็วกว่าจึงทำให้การใช้เงินสดเป็นที่นิยมมากกว่า
ส่วนที่ญี่ปุ่น อันที่จริงแล้วล้ำหน้ากว่าทุกประเทศในเอเชียเพราะมีการนำระบบ mobile payment มาใช้ตั้งแต่ปี 2004 หรือ 10 กว่าปีที่แล้ว จนถึงทุกวันนี้ ระบบดังกล่าวก็ยังใช้งานอยู่แต่อาจจะไม่แพร่หลายเพราะประชาชนนิยมใช้ stored-value card บัตรที่ผู้ถือบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าแล้ว หรือเรียกง่าย ๆ บัตรเติมเงินมากกว่า ซึ่งบัตรเหล่านี้ใช้ทั้งซื้อของตามร้านสะดวกซื้อและชำระค่าแท็กซี่และค่ารถไฟได้ด้วย เหตุผลที่คนญี่ปุ่นไม่นิยมระบบ cashless payment เนื่องจากควบคุมการใช้จ่ายยาก สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ตกต่ำมายาวนานนับทศวรรษได้ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการใช้จ่ายเกินตัว และการก่อหนี้ เมื่อบวกกับความไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัยข้อมูล ชาวญี่ปุ่นจึงสะดวกใจที่จะพกเงินสด และไม่กลัวว่าจะถูกปล้นจี้เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำ
เป็นที่คาดว่าระบบการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนจะกลายเป็นช่องทางการชำระเงินหลักในอนาคต ขนาดในจีน เคยมีคลิปขอทานพกเครื่องสแกน QR Code ตระเวนขอเงินผู้ใจบุญ ใครต้องการบริจาคก็แค่สแกน QR Code แล้วแยกย้าย คือง่ายและสะดวกขนาดนั้น แม้สิงคโปร์และญี่ปุ่นจะยังใช้ระบบเงินสดเป็นหลักในการชำระค่าสินค้าและบริการ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะหากไม่ปรับตัวก็ยากที่จะตามเพื่อนบ้านได้ทัน
ที่มา
www.straitstimes.com/asia/growing-demand-for-mobile-payment-services-across-asia
www.techinasia.com/singapore-paypal-research
www.todayonline.com/singapore/e-payment-platforms-here-need-be-integrated-pm-lee
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: FINANCE
หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน
ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้