กรุงศรี เดินหน้าพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม รุกตลาด SME

                                             




    กรุงศรี โชว์ผลการดำเนินงานกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME ครึ่งปีแรก ยอดสินเชื่อโต 7.6% พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME เน้นเสนอบริการด้านสินเชื่อและการทำธุรกรรมทางการเงิน การพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่สร้างแพลตฟอร์ม Digitalization เพื่อเสนอบริการรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์สำหรับภาคธุรกิจ SME สู่ National e-Payment รวมทั้งกลยุทธ์การผสานความเชี่ยวชาญในประเทศของกรุงศรีและศักยภาพที่แข็งแกร่งระดับโลกของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ SME ไทย  

 
     นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กของกรุงศรี มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงถึง 7.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560  และคาดว่าน่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้วยปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการจ้างงานในภาคบริการและภาคการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตต่อผู้ประกอบการ SME
 

     สำหรับในครึ่งหลังของปี 2560 กรุงศรียังเน้นต่อยอดความเติบโตด้านธุรกิจลูกค้า SME อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ในการช่วยลูกค้าขยายโอกาสทางธุรกิจ ทั้งด้านเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ บริการ Supply Chain Solution ที่มุ่งพัฒนาการให้บริการธุรกรรมภายในประเทศที่เพิ่มศักยภาพธุรกิจ ด้วยระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (Electronic Invoice Presentment and Payment - EIPP) รวมทั้งการให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่ช่วยลดระยะเวลาและต้นทุน ด้วยระบบโอนเงินผ่าน Blockchain’s Interledger เพื่อให้กรุงศรีเป็นธนาคารหลักของลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME ได้อย่างแข็งแกร่งและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างครบถ้วน
 

     อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เมื่อเทียบจากเดือนธันวาคม 2559 กรุงศรีได้ขยายฐานลูกค้าและพอร์ตสินเชื่อ SME อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก มียอดสินเชื่อเติบโต 7.6% สำหรับเงินฝากต้นทุนต่ำ (Low-cost CASA) ของธุรกิจ SME นั้นมีอัตราเติบโตที่ 7% ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ (Trade finance) ขยายตัวถึง 17% และ Supply Chain มียอดตั้งวงเงินสะสมเติบโต 20% และยอดสินเชื่อเติบโต 17%
 

     “กรุงศรียังให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ National
e-Payment ด้วยการให้บริการ PromptPay สำหรับภาคธุรกิจ โดยเน้นเพิ่มการทำธุรกรรมของลูกค้ากลุ่ม SME ผ่านระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และการนำเทคโนโลยีใหม่เพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox โดยกรุงศรีนับเป็นธนาคารแรกของไทยที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain’s Interledger มาใช้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real Time สำหรับภาคธุรกิจ
 

     นอกจากนี้ ลูกค้าธุรกิจ SME ของกรุงศรีจะได้รับประโยชน์จากศักยภาพอันโดดเด่นของกรุงศรีอันเกิดจากการผสานความร่วมมือของกรุงศรีกับ MUFG ที่มีเครือข่ายทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสให้ลูกค้าสามารถขยายธุรกิจอย่างไร้พรมแดน ทั้งนี้ กรุงศรีมุ่งสู่การเป็นธนาคารหลักของลูกค้าด้านสินเชื่อในการให้บริการอย่างครบวงจรและเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้ งานสัมมนา Business Forum กิจกรรมจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยกรุงศรีมีแผนที่จะนำผู้ประกอบการศึกษาดูงาน Life Care Business Opportunity ที่กรุงโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในต้นเดือนกันยายนนี้” นายสยามกล่าว


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้