Text : กองบรรณาธิการ
ธนาคารพาณิชย์พร้อมใจประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ หวังช่วยลดภาระและต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการ SME ประเดิม 4 ธนาคารใหญ่ อย่าง ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงเทพ และกรุงไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป
เริ่มต้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ นำโดย อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและลูกค้าบุคคลทั่วไป ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น ธนาคารไทยจึงออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ได้แก่ MLR MOR และ MRR ลงร้อยละ 0.25 ต่อปี ซึ่งหลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.025 % ต่อปี MOR อยู่ที่ 6.870 % ต่อปี MRR อยู่ที่ 7.370 % ต่อปี อย่างไรก็ดี หลังจากการปรับลดครั้งนี้ จะทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR และ MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์ต่ำที่สุดในระบบ พร้อมกันนี้ ยังออกมาตรการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการแข่งขันให้กับลูกค้า
ด้านธนาคารกสิกรไทย จากการเปิดเผยของปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.50 % เหลืออยู่ที่ 7.12 % เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการ SME และลูกค้าบุคคลใช้มากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ช่วยผลักดันให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง อย่างไรก็ดี จากการปรับอัตราดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR อยู่ที่ 6.25 %, 7.12 % และ 7.12 % ตามลำดับ
ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ก็ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน เพื่อหวังช่วยผู้ประกอบการ SME ลดต้นทุนทางการเงิน ให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ สุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) ลง 0.250% เหลือ 7.125% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลง 0.500% เหลือ 7.125% ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเภทในครั้งนี้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
ปิดท้ายที่ธนาคารกรุงไทย โดย ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ลง 0.50% ต่อปี เหลืออยู่ที่ 7.12 % ต่อปี รวมทั้งออกโครงการกรุงไทยช่วย SME 4.0 สำหรับลูกค้า SME ทุกกลุ่ม ภายใต้วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท
โครงการกรุงไทยช่วย SME 4.0 แบ่งการดูแลลูกค้า SME เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้า SME ที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท หรือมีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 แพ็คเกจ ได้แก่ กรณีลูกค้ามีหลักประกัน คิดดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เริ่มต้นที่อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ลูกค้าที่ใช้บสย.ค้ำประกัน ดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เริ่มต้นที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี ส่วนสินเชื่อขายลดลูกหนี้การค้าหรือ Factoring ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ร้อยละ 4 ต่อปีเช่นกัน ให้กู้สูงสุดรายละ 40 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี วงเงินกู้รวม 4,000 ล้านบาท
สำหรับลูกค้า SME ขนาดเล็ก ที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาท หรือมีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 20 ล้านบาท ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ในอัตราเริ่มต้นที่ร้อยละ 4 ต่อปี ทั้งลูกค้าที่มีหลักประกัน หรือมีหลักประกันและใช้บสย.ค้ำประกัน ให้กู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี วงเงินกู้รวม 2,000 ล้านบาท
ผยง ศรีวณิช กล่าวต่อไปว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยและออกมาตรการช่วยเหลือ SME 4.0 ในครั้งนี้ ธนาคารต้องการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของธุรกิจรายย่อย ด้วยการลดต้นทุนทางการเงินให้กับธุรกิจรายย่อยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: FINANCE
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร แนะการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ แต่การขอสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะต้องรู้จักเทคนิค 5C+ ที่สถาบันการเงินใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ
ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ อยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน
แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การแฝงตัวของ Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด