สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มสายป่านให้ธุรกิจ

 

 
 
 
เรื่อง :  กรุงศรี SME 
           www.krungsri.com/sme 
 
ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาหลักคล้ายๆ กัน คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก เนื่องจากงบการเงินไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริง ไม่มีหลักประกัน ไม่มีผลงานที่น่าเชื่อถือมาก่อน การบริหารยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร ธนาคารเลยไม่กล้าให้สินเชื่อ จึงน่าเสียดายว่ามี SME จำนวนมากที่มีศักยภาพแต่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ไม่สามารถซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า 
 
  ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายๆ แห่งได้เปิดตัวสินเชื่อธุรกิจห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นรูปแบบสินเชื่อในรูปของวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) สำหรับซัพพลายเชนของผู้ค้ารายใหญ่ทั้งในส่วนของผู้ขายสินค้า(Supplier) ให้กับผู้ค้าปลีกรายใหญ่และผู้ที่รับซื้อสินค้า (Dealer) ของผู้ค้ารายใหญ่ 
 
1. Supplier Financing : ปัญหาที่ SME Supplier มักประสบคือเครดิตเทอมยาว เช่น กำหนดระยะเวลาจ่ายเงินจากผู้ประกอบการ/ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ คือ 2-3 เดือนซึ่งอาจส่งผลให้ SME ขาดสภาพคล่องและอาจไม่มีเงินทุนพอที่จะผลิตสินค้าได้ทันต่อออร์เดอร์ใหม่ที่เข้ามา  ผลิตภัณฑ์นี้จึงเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องการเสริมสภาพคล่อง เพราะธนาคารจะเข้ามาเป็นตัวกลางช่วย SME โดยชำระเงินให้กับ SME Supplier ไปก่อน จากนั้นก็จะไปเรียกเก็บจากผู้ประกอบการรายใหญ่เมื่อครบกำหนดชำระภายหลัง เพื่อช่วยลดเวลาเครดิตเทอมให้คล่องตัวขึ้น
 
         จุดเด่น คือ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เอกสารประกอบการพิจารณาสินเชื่อน้อย ความรวดเร็วของขั้นตอนการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ สามารถรู้ผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 7 วัน และอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
 
          2. Buyer Financing : อีกแบบหนึ่งคือ SME ที่เป็น Dealer จัดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิตขนาดใหญ่ เช่น วัสดุก่อสร้าง ส่วนมากแล้วผู้ผลิตจะไม่ลงไปจำหน่ายถึงมือลูกค้า End User ด้วยตัวเองแต่จะจำหน่ายผ่านตัวแทนซึ่งอาจจะมีความชำนาญในการขายพื้นที่นั้นๆ มากกว่า ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องการที่จะให้ SME Dealer ชำระเป็นเงินสดมากกว่าที่จะให้เป็นเครดิตเทอม เช่น ปกติให้เครดิตเทอม 2 เดือน แต่ให้ส่วนลดเงินสด 2 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าได้รับส่วนลดถึง 12 เปอร์เซ็นต์ต่อปี กรณีแบบนี้ ธนาคารสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างสองฝ่ายได้เช่นกัน โดยธนาคารจะเป็นผู้ชำระเงินสดให้กับผู้ผลิตสินค้าแทนดีลเลอร์ไปก่อน เพื่อที่จะช่วยให้ได้รับส่วนลดเงินสด ซึ่งธนาคารคิดดอกเบี้ยจากดีลเลอร์แทนซึ่ง Dealer ก็จะได้กำไรเพิ่มจากผลต่างของส่วนลดเงินสดกับดอกเบี้ย 
 
 
 
เห็นได้ว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีบริการทางการเงินที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของลูกค้า SME ที่ส่วนใหญ่มีสายป่านไม่ยาวมากนัก SME จึงควรศึกษาผลิตภัณฑ์การเงินเหล่านี้ที่จะเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้ และยังช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้บางส่วน นอกจากนี้ SME สามารถใช้บริการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำให้มีความสะดวกมากขึ้นอีกด้วย
 
ทั้งนี้ SME ก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเสริมสภาพคล่องด้วยเช่นกัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเจอคือ งบการเงินของผู้ประกอบการไม่ได้สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริง เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการเปิดเผยรายงานทางการเงินที่แท้จริง อันเนื่องมาจากเหตุผลทางภาษีหรือทางการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการไม่ทราบถึงสถานะทางการเงิน หรือสัญญาณปัญหาจากผลการดำเนินงานของตน และแก้ไขปรับปรุงดำเนินการไม่ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดย่อมที่ดำเนินการด้วยตนเอง เป็นลักษณะกิจการครัวเรือนที่ใช้เงินทุนของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอก มักใช้การตัดสินใจจากประสบการณ์ของตนเป็นหลัก จึงอาจไม่ได้ให้ความสนใจต่อการจัดเตรียมงบการเงินอย่างเป็นระบบมาตรฐาน 
 
          ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้ประโยชน์จากงบการเงินในการวิเคราะห์ถึงผลประกอบการในอดีต เพื่อวางแผนการคาดการณ์งบประมาณในอนาคต ทำให้การวิเคราะห์วงเงินสินเชื่อเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น  Bank Statement ส่งผลให้การอนุมัติล่าช้าเนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ผลการดำเนินงานที่แท้จริงเพื่อนำไปพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อตามความต้องการใช้จริง ข้อแนะนำคือ ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญกับการบันทึกงบการเงินให้สะท้อนความเป็นจริง เพื่อโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้ดีขึ้นและเพื่อขั้นตอนการอนุมัติที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
 
 
 
          อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นต้องตรวจสอบสถานะการเงินและประวัติทางการชำระเงิน (NCB) ของผู้ประกอบการเช่นกันเพื่อพิจารณาวงเงิน ข้อแนะนำอีกประการคือ ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงินที่ดีซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านเครดิตบูโร
 
สรุปก็คือ สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องสามารถช่วยผู้ประกอบการบริหารเงินสดของกิจการได้ส่งผลให้ SME เพิ่มยอดขายได้และช่วยลดต้นทุนการเงินได้บางส่วน ที่สำคัญคือเป็นเครื่องมือสร้างอัตราเร่งในการเติบโตทางธุรกิจได้ถ้าหากมีออร์เดอร์เข้ามามากขึ้นแต่เงินทุนมีจำกัด ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรปรับตัวโดยเฉพาะเรื่องการจัดการงบการเงินเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นและมีวินัยทางการเงินที่ดี
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน