ผมจะเปิดร้านสเต๊กครับ!

 

 

 
เรื่อง     อชิระ  ประดับกุล
 
“พี่ครับ...ผมจะเปิดร้านสเต๊กครับ ต้องจดทะเบียนอะไรไหมครับ?” รุ่นน้องตัวดีที่สนิทชิดเชื้อกันโทรศัพท์มาทักทายต่างไปจากทุกครั้ง
 
“ร้านสเต๊ก? ...แกทำเป็นด้วยเหรอ...แล้วจดอะไรยังไง พี่ละงง??” ผมตอบแกมสงสัย ว่าไฉนเลย ไอ้หนุ่มนักท่องราตรีอย่างรุ่นน้องผมจะหันมาขายอาหาร
 
“คือว่าอย่างนี้ครับพี่ ผมกำลังคิดว่าจะไปซื้อแฟรนไชส์ สเต๊กแบรนด์หนึ่งมา แล้วก็มาขาย ผมไปดูทำเลมาแล้วครับ คนเดินผ่านเยอะมากจริงๆ แต่แฟนผมกังวลว่าถ้าทำแฟรนไชส์ร้านสเต๊กแบบนี้ แล้วเราต้องจดทะเบียน อะไรเกี่ยวกับเรื่องภาษี หรือทำบัญชีอะไรไหมครับ” รุ่นน้องสงสัยต่อ
 
เป็นคำถามที่ผมเจอบ่อยเหลือเกินเวลาที่เพื่อนพ้อง น้อง พี่ ตัวดีทั้งหลาย คิดอยากจะมีธุรกิจอะไรเป็นของตัวเองสักอย่างก็จะกริ๊งกร๊างมาหาผมทุกทีไป เพราะกังวลเรื่อง บัญชี ภาษี จิปาถะ ที่สำคัญกลัวว่าตัวเองจะเสียประโยชน์จากการไม่จดทะเบียน
 
“ทำไมแกคิดว่าแกจะต้องจดล่ะ?” ผมถามกลับไปยังว่าที่เจ้าของร้านสเต๊ก
 
“ก็แฟนผมบอกว่า ถ้าเราเปิดร้าน แล้วเราจดทะเบียนอะไรสักอย่าง พวกรายการซื้อของที่มันมี VAT มีภาษี อะไรพวกนี้จะได้เอามาหักได้นะครับ แต่ถ้าเราไม่จดเราก็เอามาหักมาขอคืนไม่ได้ เสียแล้วเสียไปเลย  อะไรทำนองนี้ ผมก็ไม่เข้าใจนะครับพี่” รุ่นน้องแจงต่อด้วยความสับสนให้ผมฟัง
 
 
 
 
“สรุปว่าที่แกอยากจดทะเบียนอะไรสักอย่าง ทั้งที่ไม่รู้ด้วยว่าจดอะไรเนี่ยก็เพียงเพราะอยากเอาไอ้รายจ่ายที่จะต้องจ่ายไปในการทำร้าน หรือซื้อของเข้าร้านมาหักจากรายได้ และรวมถึงขอคืนภาษีที่เสียไปจากรายการซื้อต่างๆ เหล่านี้ใช่ไหม?” ผมถาม
 
“ใช่ครับ...”   คำตอบจากรุ่นน้อง
 
“แกฟังแล้วพิจารณาเอาเองดีๆ นะ การจดทะเบียนทำได้หลายรูปแบบ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์ (ทะเบียนการค้า) จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนบริษัท
 

          นอกจากนี้ ถ้าเป็นเรื่องภาษีก็ต้องไปจดทะเบียนอีกต่างหาก อย่างเช่น ไอ้ภาษีที่แกบอกอยากจะได้คืนนักหนาก็น่าจะหมายถึง ภาษีซื้อ หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ กระมัง ซึ่งเขามีหลักเกณฑ์อยู่ว่า กิจการที่มีความต้องการจะจดภาษีมูลค่าเพิ่มต้องมีรายรับ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ถ้าไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องจด

 

          หรือแม้ว่าถ้ารายได้ไม่ถึงแล้วร้านอาหารของแกต้องการจะจด ก็ทำได้ไม่มีใครว่า แต่แกรู้ไหมว่า เมื่อไหร่ที่แกจดทะเบียนร้านเป็นนิติบุคคล (ยกเว้นจดทะเบียนการค้า) ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม และจดทะเบียนขอเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเนี่ย นอกจากประโยชน์ที่แกจะขอคืนภาษีซื้ออย่างที่แกต้องการได้แล้ว ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังมีภาระหน้าที่อะไรอีกบ้าง” ผมร่ายยาวให้เจ้าของคำถามฟังพร้อมกับยิงคำถามกลับทันที!

 
 
 
 
“ไม่ทราบหรอกครับ ผมทราบแค่ว่าถ้าจดก็จะมีสิทธิขอคืนรายการพวกนี้ได้ อ้อ...อีกอย่างก็คือ ถ้าจดก็คงจะเป็นการทำอะไรที่ถูกกฎหมายนะครับ” อดีตหนุ่มนักท่องราตรีตอบด้วยความภาคภูมิใจ
 
“แหม!...แกนี่มันใฝ่ดีจริงๆ คือ อยากจดทะเบียนต่างๆ เพราะคิดว่าถ้าไม่จดแล้วจะผิดกฎหมายว่าอย่างั้นเถอะ ไอ้น้อง?” ผมชื่นชมปนอดขำไม่ได้กับรุ่นน้องคนนี้
 
“พี่หัวเราะทำไมครับ โหย...ผมคิดแบบนั้นจริงๆ นะ” ไอ้รุ่นน้องตัวดีตัดพ้อที่ผมหัวเราะใส่
 
“พี่จะบอกแกว่า ถ้าร้านของแกมันไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก ถึงขนาดมีรายได้ต่อปีเป็นล้านๆ ละก็ไม่ต้องไปจดอะไรให้มันวุ่นวายหรอก ตอนแรกเริ่มก็ทำไปทั้งๆ ที่ไม่ต้องจดอะไรนี่ละ” ผมตอบ
 
“อ้าว! พี่แล้วไม่ผิดกฎหมายอะไรเหรอ แล้วเกิดสรรพากรมา อะไรมา...เข้ามาถามเรื่องการเสียภาษี อะไรพวกนี้ ผมจะทำยังไง” เจ้ารุ่นน้องตกใจไปกันใหญ่ในคำแนะนำแรกของผม
 
“ก็ถ้าแกกลัว แกก็เก็บเอกสารต่างๆ ไว้สำหรับรายการซื้อสินค้าเข้าร้านเก็บใส่แฟ้มไว้ พอถึงปี ก็ไปยื่นเสียภาษีในนามบุคคลก็ได้ ประมาณไปว่าปีที่ผ่านมาแกมีรายได้จากร้านอาหารเท่าไหร่ อย่างไรบ้าง และเขาจะมีวิธีคิดการหักลดหย่อนทางภาษีให้ตามกฎเกณฑ์ และหากวันหนึ่งสรรพากรพื้นที่เรียกตรวจสอบเอกสารแกก็เอาเอกสารรายจ่ายที่แกเก็บๆ ไว้ไปให้เขาดู ก็เท่านั้น” ผมแจง
 
 
“อีกอย่าง...ถ้าแกจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท หรืออะไรก็ตาม รวมทั้งจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงเพราะต้องการรายจ่าย ที่จ่ายไปมาหักจากรายได้ และขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปจากรายการซื้อต่างๆ เหล่านั้นละก็ แกคงต้องคิดใหม่ 
 

   เพราะภาระหน้าที่ในการจัดทำบัญชี ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือน และภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนสิ้นปี จะตามมาโดยอัติโนมัติ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นหากแกทำเองไม่เป็น และหากมีการปฏิบัติผิดหรือฝ่าฝืนก็จะมีโทษ ปรับ ตามอัตราที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนด” ผมยังแจงต่อเนื่องปนขู่ให้ฟังจนรุ่นน้องผมอึ้งไปหลายนาที!..

 
 
 
 
“พี่จะบอกว่าผมไม่ควรจดเหรอ แล้วแบบนี้ผมก็ขอคืนภาษี หรือเอารายจ่าย เอาใบเสร็จต่างๆ มาหักไม่ได้น่ะสิ” มันยังห่วงเรื่องการขอคืนและนำรายจ่ายมาหักไม่เลิก
 
“พี่หมายความว่า ณ เวลานี้ร้านแกคงยังไม่ใหญ่โตอะไรมากนัก รายได้ก็คงยังไม่มาก  ก็ยังไม่ต้องจดทะเบียนอะไรให้มันยุ่งยาก จะได้ไม่ต้องมีภาระหน้าที่หรือค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชี ภาษี จิปาถะต่างๆ ให้มันวุ่นวาย แกทำไปในแบบบ้านๆ นี่ละ แต่เก็บเอกสารหลักฐานการจ่ายต่างๆ เข้าแฟ้มไว้ก็พอ  
 

          ถ้าเกิดกลัวมีปัญหากับสรรพากรเขตในภายภาคหน้า พอถึงสิ้นปีก็ไปเสียภาษีบุคคลธรรมดาซะ แล้ววันไหนที่ร้านหรือธุรกิจของแกเริ่มใหญ่โต รายได้มาก จนทำให้ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของแกมันมากขึ้น หรือธุรกิจมีความซับซ้อนขึ้น นั่นละแกค่อยมาคิดว่าจะจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดอีกที ไอ้เรื่องที่กังวลว่าถ้าไม่จดจะไม่มีสิทธิขอภาษีคืนหรือเอาใบเสร็จมาใช้ประโยชน์ในการหักรายได้ ตรงนั้นแกอย่าเพิ่งไปกังวลเลย เพราะเมื่อเทียบกับภาระหน้าที่ที่จะตามมาหลังจากจดทะเบียนแล้ว ฉันว่าแกคงรับไม่ไหวแน่ๆ ไอ้น้องรัก” ผมร่ายยาวจนเจ้าของคำถามเกือบหลับไปแล้ว...

 
“อ่ะ...อ้อ...เอ่อ...เอางั้นนะครับพี่ ผมไม่ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลนะพี่” รุ่นน้องตัวดีถามย้ำเพื่อความมั่นใจอีกรอบ
 
“ถ้าแกอยากจด แกก็ไปจดทะเบียนการค้าก็พอ ถ้ากลัวว่าลูกค้าหรือคนที่ติดต่อด้วยจะไม่มั่นใจในร้านของแก แต่การจดทะเบียนการค้าเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่าแกจะขอคืนภาษีหรือนำใบเสร็จรายจ่ายๆ ต่างมาใช้ประโยชน์ในการหักจากรายได้ได้นะน้อง...เอาเป็นว่าแกทำไปเถอะ ทำแบบบ้านๆ นี่ละ แต่เก็บเอกสารหลักฐานเข้าแฟ้มไว้”  ผมย้ำความปรารถนาดีของผมอีกรอบ
 
“เอางั้นก็ได้ครับพี่...ผมมีอีกเรื่องครับพี่?”  ก่อนจบบทสนทนาวันนั้น เจ้ารุ่นน้องตัวดียังมีคำถามเด็ดทิ้งท้ายให้ผม
 
“อะไรอีก หืม??”  ผมเริ่มรู้สึกไม่ดีซะแล้ว
 
“เจอกันคืนนี้นะพี่ร้านเดิม...วันนี้มีโปรโมชั่นมิกเซอร์ลดครึ่งราคาถ้าไปก่อน 3 ทุ่ม...พี่โอเคนะครับ งั้นเดี๋ยวเจอกัน ไม่ไปผมเคืองนะพี่!” วางสาย...กริ๊ก!!!
 
“เฮ้ย!เดี๋ยว...ไอ้!!!...”
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน