เคล็ด (ไม่) ลับ เลือก “กองทุนรวม”


    ปัจจุบันมีกองทุนรวมออกมานำเสนอให้นักลงทุนเลือกมากมาย คำถามหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้น นั่นคือแล้วเราจะเลือกลงทุนอย่างไร กับ บลจ.ไหน หรือกองไหน ไม่ใช่ว่าเห็นผลตอบแทนดีก็วิ่งเข้าใส่เลย ไม่ศึกษาทำการบ้านก่อน หากเป็นเช่นนี้อาจจะเจ็บตัวได้ เหมือนกับหุ้น พอเห็นหุ้นขึ้นก็ไปซื้อตามเขา พวกนี้ในวงการรู้จักและเรียกขานกันว่า “เม่า” ยิ่งปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์จัดอันดับกองหลายเว็บ แต่ละแห่งก็ใช้ปัจจัยในการจัดอันดับที่ต่างกัน เช่น บางแห่งใช้ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี บางแห่งใช้ผลประกอบการย้อนหลัง 1 ปี บางแห่งให้คะแนนเป็นดาวหลายดวง ผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาแตกต่างกัน ตามแต่ปัจจัยที่ใช้ให้คะแนนเรียงลำดับ 

    สำหรับในเรื่องนี้ สมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด มีเคล็ดไม่ลับมาฝากสำหรับใครที่กำลังคิดอยากจะลงทุนในกองทุนรวม

    ข้อแรก “ต้องรู้จักตนเอง” ก่อนอื่นนักลงทุนต้องเข้าใจตนเองก่อนว่ารับความเสี่ยงได้ขนาดไหน ทุกคนอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ แต่ไม่อยากเสี่ยง อย่างนี้ไม่มีหรอก ถ้ามีทุกคนคงแห่ไปลงทุนกันหมดแล้ว อย่างที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แนะนำไว้ การลงทุนมีความเสี่ยง เสี่ยงน้อยกำไรน้อย เสี่ยงมากโอกาสได้ผลตอบแทนก็สูง อันนี้เป็นธรรมชาติของการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนควรทำการประเมินการรับความเสี่ยงของตนเองก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกลงทุน อย่างที่ขงเบ้งท่านว่าไว้ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
 


    ถัดมา “เลือกบริษัทที่มีความมั่นคงและมีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี” นักลงทุนคงสงสัยว่าแล้วจะไปรู้ได้อย่างไร เรื่องนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ก็ช่วยดูแลกำกับอยู่และรายงานสรุปให้พวกเราได้ทราบบนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.เลย นักลงทุนสามารถไปเปิดดูได้ว่าแต่ละบริษัทมีจุดอ่อนด้านใด บาง บลจ.ก็ได้รับคำติชมที่เกี่ยวกับการลงทุน การบริหารความเสี่ยง บาง บลจ.ก็ได้รับคำติชมด้านระบบปฏิบัติการ ระบบทะเบียน การควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ กันไป

    นอกจากนั้น ยังมีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความยอมรับในระดับโลก เช่น ฟิทช์ เรทติ้งส์ คอยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุน และกองทุนประเภทต่างๆ ว่า มีความสามารถและจุดเด่นในด้านใดบ้าง เช่น บริษัทและบุคลากร การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง การบริหารจัดการกองทุน เป็นต้น โดยนักลงทุนสามารถค้นหาผลลัพธ์การประเมินจากเว็บไซต์ได้ไม่ยาก นักลงทุนอาจให้ความสำคัญกับการจัดการการลงทุนเป็นพิเศษ บลจ.ใหญ่ๆ ก็มีผู้จัดการกองและนักวิเคราะห์มาก สามารถครอบคลุมหลักทรัพย์ได้มากกว่า 

    ถึงตรงนี้ สมิทธ์ บอกว่าคิดง่ายๆ ถ้ามีนักวิเคราะห์ 3 คน คนหนึ่งดูหุ้นได้ 10-15 ตัว บลจ.นั้นก็ดูแลหุ้นได้ทั่วถึง ทันข่าวทันเหตุการณ์ อย่างมากก็ไม่น่าเกิน 30-45 ตัว หากมีถึง 8 คน ก็สามารถครอบคลุมได้ถึง 80-120 ตัว จากหุ้นในตลาดทั้งหมดกว่า 500 ตัวในปัจจุบัน ผู้จัดการกองเองก็เช่นกัน ถ้ามีหลายคนก็สามารถดูแลแทนกันได้ เวลาอีกคนออกไปพบลูกค้าหรือไปพบบริษัทที่จะไปลงทุนเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน

 


    คราวนี้ก็มาถึง “การเลือกกองทุน” อย่าลืมให้นึกถึงคำเตือนของ ก.ล.ต.ที่ว่า “ผลประกอบการในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดผลการดำเนินงานในอนาคต” หลายครั้งพวกเรามักจะวิ่งตามผลงานในอดีต ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น หุ้นตัวนี้ขึ้นมามาก ก็ตามไปลงทุนกับเขาบ้าง บางครั้งก็ติดดอย กองทุนก็คล้ายๆ กัน บางกองผลงานเคยดีในอดีต แต่ผู้จัดการกองอาจย้ายหรือลาออกไปแล้ว 

    หรือพอกองทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นก็ไม่สามารถลงทุนซื้อ-ขายได้คล่องตัวอย่างในอดีต เพราะสภาพคล่องหรือปริมาณหุ้นในตลาดที่จำกัดเมื่อเทียบกับขนาดกอง เช่น กองทุนที่มีขนาด 500 ล้านบาท จะปรับพอร์ต 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องขายหุ้น 100 ล้านบาท ตลาดพอรับไหว แต่ถ้ากองทุนไหนมีขนาด 20,000 ล้านบาท จะปรับพอร์ตเหมือนกันต้องขาย 4,000 ล้านบาท อันนี้ถ้าไม่บริหารให้ดีหุ้นร่วงติดฟลอร์แน่นอน ดังนั้น นักลงทุนควรดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน โดยรวมคือ 1.ผู้จัดการกองทุน 2.ผลตอบแทนทั้งระยะสั้นและยาว และ 3.นโยบายการลงทุน

    มาที่ “ผู้จัดการกองทุน” ซึ่งเป็นผู้บริหารเงินลงทุน สมิทธ์แนะว่า นักลงทุนต้องดูประวัติการทำงานและผลงานในอดีตว่าผลงานดีคงเส้นคงวาหรือไม่ หรือหวือหวาขึ้นๆ ลงๆ แล้วเรารับสไตล์การจัดการของเขาได้หรือไม่ ดูตัวอย่างในต่างประเทศ นักลงทุนจะตามผู้จัดการกองมากกว่าบริษัท ผู้จัดการดังๆ อย่าง Buffet, Soros, Bill Gross, Marc Faber คนจำชื่อได้มากกว่าบริษัทหรือกองที่เขาดูเสียอีก
 



    ที่นี้มาถึงประเด็นสำคัญ คือ “ผลตอบแทนในอดีต” จะดูในช่วงเวลาไหนดี 6 เดือน 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี อันนี้สมิทธ์ บอกว่า ไม่มีสูตรตายตัว หลายสำนักบอกต้องดูยาวๆ แต่ถ้าเปรียบกับการคัดเลือกหลักทรัพย์หรือหุ้น นักวิเคราะห์จะให้น้ำหนักปัจจุบันมากกว่าอดีตที่นานมาแล้ว เช่น เรามักจะให้น้ำหนักผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมามากกว่าผลการดำเนินงานเมื่อ 3 ปีก่อน ในมุมมองของสมิทธ์ การเลือกหุ้นหรือกองทุน ก็สามารถนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ได้ ไม่เชื่อก็ดูเรื่องใกล้ตัวเราเอง วันนี้ท่านอยากถือหุ้นบริษัท Apple, Samsung, Nokia หรือ Motorola เครื่อง Nokia เขาดี และทนมากเลยนะ เท่านี้ทุกคนคงพอเห็นภาพ

    สำหรับ “นโยบายการลงทุน” นั้นนับว่ามีความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นตัวบอกว่ากองนี้จะไปลงอะไร อย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้านโยบายกองบอกจะไปลงในหุ้นยุโรป ถ้าตลาดหุ้นยุโรปดีอย่างน้อยก็จะได้อานิสงส์ดีไปด้วย แต่ถ้าเรามองว่า ตลาดยุโรปจะไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยงกองดังกล่าว ถ้าเราไม่รู้ว่านโยบายกองไปลงอะไร ควรสอบถามให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ อย่างที่ Warren Buffet กล่าวไว้ว่า “การลงทุนที่น่ากลัวที่สุด คือ การลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้”





 



RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้