เรื่อง : กองบรรณาธิการ
การจะเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นโดยตรง โดยไม่ผ่านมืออาชีพด้านการลงทุนอย่าง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหรือบลจ.นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการศึกษาหาความรู้ในกิจการที่เราจะลงทุน
ไหนจะต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อการลงทุน และที่สำคัญคือ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นๆ ว่าทำได้มากน้อยเพียงไร เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะลงทุนในหุ้นนั้นเพิ่ม หรือขายออกไป เพื่อโอกาสที่ดีกว่าในการลงทุนอื่นๆ ซึ่งเราจะรู้ฐานะและผลงานที่ผ่านมาของบริษัทได้จากงบการเงิน
มีคำถามตามมาว่า แล้วจะเชื่อถืองบการเงินได้มากน้อยเพียงไร เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับตลาดทุน ได้ให้ข้อมูลว่าโดยทั่วไปงบการเงินจะสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท
แต่เนื่องจากโลกนี้ไม่ได้มีแต่สีขาว ในบางครั้งเราอาจพบสีเทาหรือสีดำแฝงมาด้วย ซึ่งหากนักลงทุนติดตามข่าวบริษัทจดทะเบียน ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศ ก็จะพบว่าบางครั้งบริษัทมีการแต่งงบการเงิน หรือพูดให้เข้าใจง่ายเข้าไปอีก ก็คือ ตกแต่งบัญชี เพื่อทำให้ดูเหมือนว่ามีฐานะมั่นคง การดำเนินงานไปได้ดี มีกำไร ราคาหุ้นจะได้เพิ่มขึ้น
เนื่องจากงบการเงินที่เผยแพร่ให้นักลงทุนอ่านกันอยู่ทุกวันนี้ จัดทำโดยผู้บริหารของบริษัทเอง ดังนั้นผู้ลงทุนจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลในงบการเงินนั้นถูกต้องและบริษัทไม่ได้สร้างภาพสวยหรูดูเกินจริงให้ผู้ลงทุนเคลิ้มตาม คำตอบที่ได้คือ ยากที่จะรู้ แม้กระทั่งนักบัญชีเองถ้าลำพังนั่งดูแต่ตัวเลขเทียบเคียงไปมา ก็ไม่อาจบอกได้ว่าตัวเลขที่ผ่านตานั้นเป็นของจริงหรือหลอก
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สอบบัญชีที่จะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของนักลงทุน โดยผู้สอบบัญชีเป็นคนที่สามารถให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนในเรื่องนี้ได้ เนื่องจากผู้สอบบัญชีมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ โดยผู้สอบบัญชีจะเข้าไปตรวจสอบงบการเงินของบริษัทและให้ความเห็นว่าภายใต้ขอบเขตการทำงานที่รับผิดชอบนั้น งบการเงินที่ตรวจสอบนั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร จึงทำให้ผู้สอบบัญชีมีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยคนสำคัญสำหรับผู้ลงทุน
เปรียบการทำงานตรงนี้ ผู้สอบบัญชีก็เหมือนหมอที่วินิจฉัยโรคของคนไข้ มองด้วยตาเปล่าก็ไม่ทราบว่าสุขภาพของคนไข้เป็นอย่างไร เช่น ดูเหมือนจะแข็งแรงดี แต่พอจับตรวจเลือด กลับพบทั้งเบาหวานและภาวะไขมันสูง การทำงานของผู้สอบบัญชีก็เช่นกันจะช่วยตรวจความผิดปกติของรายการต่างๆ ในงบการเงินแทนผู้ลงทุน เช่น บริษัทอาจแสดงตัวเลขกำไรเป็นพันล้านก็ได้ แต่ผู้สอบบัญชีก็จะตรวจดูว่าตัวเลขกำไรนั้นมาจากไหน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น บางกรณีบริษัทยังขายสินค้าไม่ได้จริง เพียงแค่นำสินค้าไปฝากขายตามร้านต่างๆ แต่กลับลงบัญชีรับรู้รายได้เป็นยอดขายทันที และในที่สุดอาจต้องรับสินค้าคืนมาทั้งหมด หรือบางกรณีบริษัทอาจซ่อนความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายไว้ในบริษัทย่อย แต่ไม่นำบริษัทย่อยดังกล่าวมารวมในงบการเงินรวม เพื่อทำให้ส่วนกำไรของบริษัทดูมากเกินจริง เป็นต้น
ดังนั้นความเห็นของผู้สอบบัญชีที่ปรากฏในงบการเงินถือเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องให้ความสนใจ สำหรับข้อมูลที่ต้องดูเป็นลำดับแรก คือ รายงานของผู้สอบบัญชี ที่จะบอกว่างบการเงินถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้อง ก็เหมือนกับได้รับสัญญาณไฟเขียว ผู้ลงทุนสบายใจได้มากขึ้นที่จะนำงบการเงินดังกล่าวไปใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขายหุ้น แต่ถ้าผู้สอบบัญชีเกิดแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้นแบบมีเงื่อนไข เช่น บอกว่าถ้าไม่นับเรื่องนี้แล้ว งบการเงินที่เหลือถูกทั้งหมด หรือมีการตั้งข้อสังเกตต่องบการเงิน หรือบอกว่าไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงขั้นที่แรงไปกว่านั้น คือ บอกว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
ส่วนจะอ่านความเห็นผู้สอบบัญชีในงบระหว่างกาลอย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า งบการเงินระหว่างกาล หมายถึง งบการเงินใด ๆ ที่มีระยะสั้นกว่า 12 เดือน ซึ่งขอบเขตการทำงานของผู้สอบบัญชีในงบระหว่างกาลนี้มีจำกัดกว่างบประจำปี จึงเรียกว่าเป็นการสอบทาน (ไม่ใช่ ตรวจสอบอย่างที่ทำในงบประจำปี)
โดยผู้สอบบัญชีมักใช้คำอธิบายในวรรคที่สอง (ที่เรียกว่า วรรคขอบเขต) ว่า “... การสอบทานนี้มีขอบเขตจำกัด ... จึงให้ความเชื่อมั่นน้อยกว่าการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินที่สอบทานได้”
จากประโยคข้างต้นทำให้ผู้ลงทุนบางท่านเข้าใจผิดว่าผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน น่าจะต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล แต่แท้ที่จริงแล้วจารุพรรณ อธิบายว่านั่นเป็นรูปแบบถ้อยคำที่ใช้กันทั่วไปในงบระหว่างกาล วิธีอ่านตรงนี้ คือ มุ่งไปที่ย่อหน้าที่สามของรายงานผู้สอบบัญชี ซึ่งจะบอกความเห็นของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินนั้น
ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี และวาระหนึ่งที่จะต้องมีทุกครั้งในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี คือ การพิจารณางบการเงินของบริษัท ดังนั้นนักลงทุนจะต้องอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชี
อย่างไรก็แล้วแต่ มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องยอมรับนั่นก็คือ งบการเงินเป็นข้อมูลสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัท ซึ่งแม้ว่าอาจไม่สามารถรับประกันได้ว่า กิจการในอนาคตจะดีเช่นนั้นตลอดไป แต่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เช่น โอกาสขยายตัวทางธุรกิจ แนวโน้มคู่แข่ง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ฯลฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)