Text : Yuwadi.s
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วที่การขายออนไลน์ยังไม่บูมเท่าปัจจุบัน มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ความหลงใหลในศิลปะได้เปลี่ยนลายเส้นของเธอให้เป็นรายได้และเริ่มต้นขายบนโลกออนไลน์อย่างใน Instagram นับจากวันนั้นก็เป็นเวลามากกว่า 10 ปีที่แบรนด์ The 3rd daughter ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารัก โดยผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้คือ ตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล ที่นอกจากจะมีแบรนด์ The 3rd daughter ที่ขายของไลฟ์สไตล์แล้ว เธอยังต่อยอดลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยการเปิดสตูดิโอทำเล็บที่มีคาแรกเตอร์เดียวกันชื่อ The 3rd daughter nail ด้วย โดยตาต้าจะมาเล่าให้ฟังถึงเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความชอบด้านศิลปะจนพัฒนาแบรนด์มาได้มากกว่า 10 ปี!
จากวาดสติกเกอร์ขายในงานมหาลัยสู่ธุรกิจหลังเรียนจบ
ตาต้าได้เล่าย้อนให้ฟังถึงความเป็นไปเป็นมาของแบรนด์ มาจากการที่เธอเริ่มต้นวาดสติกเกอร์ขายในงานของมหาวิทยาลัย จนเริ่มมีลูกค้าชื่นชอบ เธอจึงต่อยอดความชอบในงานศิลปะให้กลายเป็นรายได้ระหว่างเรียนและพัฒนาสู่ธุรกิจที่จริงจังขึ้นหลังจากเรียนจบ
“ต้าไม่เคยทำงานประจำมาก่อนเลย งานนี้เป็นงานแรกของเราที่ทำมาตั้งแต่เราเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี1 ปี 2 นับถึงปัจจุบันก็ 10 กว่าปี ตอนนั้นเราเรียนคณะมัณฑนศิลป์ เรียนเกี่ยวกับศิลปะ แล้วที่มหาวิทยาลัยมีงานลอยกระทง ให้นักศึกษาขายของในตลาดได้ ต้าเลยทำสติกเกอร์ไปขาย เป็นจุดเริ่มต้นเลย พอเราลงผลงานใน Instagram ก็เริ่มมีคนชื่นชอบ เขาก็จะสั่งออนไลน์บ้าง บางทีลูกค้าก็ทักมาว่าเอาลายไปทำเป็นโพรดักส์อื่นๆ ได้ไหม มันเลยเหมือนเราเริ่มทำมาจากการพูดคุยกับลูกค้า นอกจากสติกเกอร์ก็จะมีเคสโทรศัพท์ ต้าจะเน้นแฮนด์เมดในช่วงแรก ตอนนั้นเรายังเด็กไม่ได้มีเงินทุนมาผลิตอะไร เราจะทำงานมือเป็นหลัก เราก็ศึกษาว่าถ้าเราเพนต์บนเคสแล้วจะใช้อะไรเคลือบให้มันอยู่ทนบ้าง เราก็ลองทำแล้วขายดู พอมันโอเคขึ้น ดูดีขึ้น เราก็โพสต์ขายเคสจริงจังมากขึ้น”
หลังจากเรียนจบ ตาต้าเริ่มจริงจังกับแบรนด์มากขึ้นด้วยการมองหาผู้ผลิตที่จะนำลายเส้นของเธอไปต่อยอดเป็นสินค้าและขยายสินค้าจากแค่เคสโทรศัพท์สู่สินค้าอื่นๆ อาทิ Jibbitz ติดรองเท้า Griptok ติดโทรศัพท์ เสื้อยืด เป็นต้น
“หลังจากเราเรียนจบได้ 1-2 ปี เราก็เริ่มทดลองผลิตของผ่านโรงงาน เราเก็บเงินจากการทำแฮนด์เมดได้แล้วก็เลยเริ่มลงทุนให้ร้านที่เขารับผลิต อย่างที่รับสกรีนลงบนเคสมือถือ เราลองมาเซ็ตหนึ่งและวางขายก่อน แต่งานแฮนด์เมดก็ยังรับอยู่ ส่วนใหญ่งานแฮนด์เมดจะเป็นงานที่เราคัสตอม ลูกค้าจะรีเควสลายได้ ส่วนงานที่พร้อมส่งก็จะเป็นงานที่เราทำตัวคาแรกเตอร์ที่เป็นตัวการ์ตูน เราทำควบคู่กัน หลังจากเคสมือถือเราก็ต่อยอดไปแกดเจ็ตอื่นๆ เช่น Griptok ติดโทรศัพท์ ที่ติดรองเท้า กระเป๋า พวงกุญแจเหมือนตุ๊กตา พอผลิตอย่างหนึ่ง ลูกค้าก็จะบอกให้ลองเอาไปทำอันนั้นอันนี้ ทดลองไปเรื่อยๆ อีกอย่างเราเป็นคนชอบซื้อของแบบนี้ ชอบอะไรกระจุกกระจิก เราก็อยากลองเอาคาแรกเตอร์ของเราไปทำเป็นของหลายๆ แบบ”
โดยตาต้าเล่าต่อถึงตัวการ์ตูนที่เป็นคาแรกเตอร์หลักของแบรนด์คือ Sunny Gang แก๊งสัตว์ที่ถูกวาดผ่านลายเส้นสุดน่ารักของตาต้าและนำไปทำเป็นสินค้าต่างๆ
“ตอนแรกต้าชอบวาดรูปสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว จากการที่เราเคยวาดสัตว์เลี้ยงของลูกค้า เราก็เริ่มวาดจากกระต่าย จากนั้นก็มีหมา มีช้าง มีกบ เพนกวิน มาเยอะมาก เราเลยเรียกน้องแก๊งนี้ว่า Sunny Gang เพราะโลโก้ของต้ามันเป็นพระอาทิตย์ด้วย เราเลยตั้งชื่อแก๊งนี้และให้เขาเป็นเหมือนเพื่อนของเรา แต่ละธีมก็จะเปลี่ยนตามคอลเลกชัน เช่น ธีมในทุ่งสตรอเบอร์รี่ อยู่ในสวนดอกไม้ อยู่ในทะเล จะเป็นน้องๆ อยู่ในธีมต่างๆ”
พาแบรนด์เดินไปข้างหน้าด้วยการต่อยอดสู่ร้านเล็บและไปต่างประเทศ
อีกหนึ่งการต่อยอดแบรนด์จากลายเส้นศิลปะสู่การทำสตูดิโอทำเล็บแบบไพรเวทที่ต้องจองล่วงหน้า โดยเธอเล่าว่าเธอไม่มีความรู้ด้านการทำเล็บมาก่อน แต่ด้วยความที่พี่สาวอยากให้ลายเส้นสุดน่ารักของตาต้าไปอยู่บนเล็บของพี่สาว ทำให้เธอตัดสินใจลงเรียนทำเล็บและต่อยอดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ
“ต้าไม่ได้อยากจำกัดงานศิลปะให้อยู่แค่ในผืนผ้าใบหรือกรอบรูป พี่สาวเราก็เห็นมาตลอดว่าเราชอบศิลปะ แล้วเขาอยากทำเล็บ เลยถามว่าเราทำได้ไหม แต่เราทำไม่เป็นเพราะทำเล็บมีวิธีของมัน พี่สาวเลยเสนอว่าไปเรียนไหมเดี๋ยวส่งไปเรียน เราเลยโอเค เราลองเรียนคอร์สหนึ่ง แล้วก็เอามาทำลายของตัวเอง เรามีสกิลศิลปะอยู่แล้ว เอามาปรับกับอุปกรณ์ที่มี ตอนนี้เราเลยทำสตูดิโอไพรเวทด้วยให้คนจองเข้ามาทำเล็บ แต่ไม่ได้รับทำลายอื่นๆ จากร้านอื่น รับทำลายที่เราออกแบบไว้หรือจะให้เราออกแบบก็ได้”
นอกจากนี้เธอยังชอบพางานของเธอไปสู่สายตาของลูกค้าต่างประเทศอยู่เสมอด้วยการพาแบรนด์ไปงานแฟร์ที่ต่างประเทศ
“เริ่มแรกคือเราอยากไปเที่ยว ต้ามีความฝันอยากเที่ยวต่างประเทศ หลายๆ ประเทศ แต่เราไม่มีเงินเยอะขนาดนั้น จะทำยังไงให้เราไปเที่ยวแล้วได้เงินด้วย เราเลยลองเสิร์ชหางานอีเวนต์ที่ต่างประเทศดู เสิร์ชดูอีเวนต์ที่รับคนต่างประเทศว่าเขารับช่วงไหน มีอีเวนต์ช่วงไหน เราก็สมัคร ส่งพอร์ตฟอลิโอเข้าไปคัดเลือกอีกทีว่าเราได้ไหม เราก็ทำตามขั้นตอนเลย ไม่ได้สมัครแล้วได้เลยมันต้องผ่านการคัดเลือกด้วย ข้อดีของการพาแบรนด์ไปต่างประเทศเลยคือเราได้เที่ยวแน่ๆ สองคือเราได้ลูกค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเยอะมาก มันเซอร์ไพรส์เราเหมือนกัน พอไปแล้วมีคนรู้จักเรา ลูกค้าบอกว่าเขาเคยเห็นงานเราตอนมาเที่ยวไทยนะ จากหน้าร้านที่วางขาย แล้วก็มีคนมาหาเราเยอะมาก ศิลปินด้วยกันเองจากประเทศนั้นๆ ก็มา ได้มิตรภาพจากศิลปินด้วยกันเองด้วย คิดถูกมากที่ไป”
โดยตาต้าได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญที่ทำให้แบรนด์ของเธออยู่ในตลาดออนไลน์มายาวนานมากกว่า 10 ปีได้ เพราะเธอทำในสิ่งที่เธอรักและพัฒนาสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ
“เอาจริงๆ เลยคือต้าชอบวาดรูป ชอบงานที่ต้าทำมากๆ มันเป็นแพสชัน เรามีความสุขกับมันทุกวัน ต้าไม่เคยมองภาพตัวเองทำงานประจำเลย ถามว่าเคยคิดไหม ก็เคยคิด แต่พองานที่เราทำมันไปได้เรื่อยๆ เราเลยไม่คิดที่จะหยุดทำมัน อยากทำมันต่อไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าถ้าเรามีความสุขกับสิ่งที่ทำก็จะมีแรงใจในการทำมันไปเรื่อยๆ”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี