Rent the Runway ไฮโซได้ในราคาประหยัด



 



Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    
    คำกล่าวที่ว่า “โลกนี้ไม่มีผู้หญิงไม่สวย มีก็แต่คนที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองดูดี” นั้น ดูจะแฝงความเป็นจริง เห็นได้จากการที่ผู้หญิงโดยเฉพาะสาวๆ มักพยายามสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นด้วยบุคลิกภาพที่ดี และปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” นอกจากหน้าตาแล้ว สิ่งที่เสริมให้สาวๆ ดูดีแน่นอนย่อมเป็นเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ยิ่งเวลาออกงานสำคัญๆ ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องเป้ง!


  คำถามก็คือสำหรับผู้หญิงทำงานรายได้ปานกลาง พวกเธอมีสิทธิ์สวมใส่ชุดที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง และถือกระเป๋าหรูๆ กรีดกรายออกงานโดยไม่เดือดร้อนเงินในกระเป๋าหรือไม่ คำตอบคือมีแน่นอน


    เจน ไฮแมน และ เจนนี่ ไฟลส์ สองสาวซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ HBS-Harvard Business School ทำให้ฝันของสาวๆ อเมริกันเป็นจริงด้วยการเปิด Rent the Runway ธุรกิจให้บริการเช่าชุดหรูจากดีไซเนอร์พร้อมกระเป๋าและเครื่องประดับ


   โดยช่วงแรกเปิดให้บริการทางออนไลน์ ต่อมาภายหลังจึงมีหน้าร้านรวม 3 สาขาคือ ในนิวยอร์ก 2 แห่ง และที่ลาสเวกัสอีกหนึ่งสาขา นับจากที่เริ่มธุรกิจเมื่อปี 2552 ปัจจุบัน Rent the Runway มีสมาชิกกว่า 5,000,000 คน พนักงานราว 250 คน และเป็นพันธมิตรกับดีไซเนอร์กว่า 200 คน รวมถึง Calvin Klein, Vera Wang, Badgley Mischka, Diane Von Furstenberg และอีกหลายคน  


    จุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจมาจากเจนกลับไปบ้านที่นิวยอร์ก และเห็นน้องสาวบ่นว่าไม่มีชุดใส่ไปงานแต่งงานทั้งที่เสื้อผ้าก็เต็มตู้ออกอย่างนั้น แต่เพราะไม่อยากใส่ชุดซ้ำๆ น้องสาวเธอจึงยอมควักเงินกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อชุดใหม่ของดีไซเนอร์คนหนึ่ง และท้ายที่สุดมันก็จะถูกแขวนเก็บไว้ในตู้หลังจากใส่ไม่กี่ครั้ง นับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าแม้แต่น้อย

    ข้อมูลจากงานวิจัยระบุผู้หญิงอเมริกันแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าใหม่เฉลี่ยปีละ 64 ชิ้น และครึ่งหนึ่งของเสื้อผ้าที่ซื้อใหม่ใส่เพียงครั้งเดียว ส่วนใหญ่ใส่ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียแล้วจะไม่อยากใส่ซ้ำ เจนนำเรื่องนี้ไปปรึกษาเจนนี่ ซึ่งเคยทำงานเป็น Strategic Planner ให้กับบริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังหลายแห่ง เมื่อทั้งคู่ตกลงที่จะทำธุรกิจร่วมกัน Rent the Runway ธุรกิจให้เช่าชุดทางออนไลน์จึงถือกำเนิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 


    โดยปกติสิ่งที่ควรทำก่อนเริ่มธุรกิจคือ การเขียนแผนการธุรกิจเพื่อนำไปขอทุนสนับสนุนจากบรรดาบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) แต่ 2 สาวนักศึกษาฮาร์วาร์ดกลับแหกกฎด้วยการลุยทำธุรกิจไปก่อนแล้วค่อยหาทุนทีหลัง


    “เราเริ่มจากการตระเวนหาซื้อชุดของดีไซเนอร์แบรนด์ต่างๆ เน้นว่าเป็นไซส์ที่เราใส่เอง เพราะถ้าธุรกิจไม่เวิร์กขึ้นมา อย่างน้อยเราก็เก็บเสื้อผ้าไว้ใช้เอง ากนั้นเราก็ตระเวนไปตามมหาวิทยาลัย เช่น ฮาร์วาร์ด และเยล หรือสถานศึกษาที่กำลังจะมีการจัดงานเพื่อคุยกับนักศึกษาว่า เรามีชุดให้เช่านะ พร้อมกับฝากแค็ตตาล็อก เว็บไซต์ และเบอร์โทรศัพท์” เจนนี่เล่าย้อนไป ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าวปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 


    นอกจากลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักศึกษาแล้ว ยังครอบคลุมถึงพนักงานออฟฟิศรายได้ปานกลางที่มีจำนวนมาก สำหรับระเบียบในการให้บริการมีดังนี้ ลูกค้าเช่าชุดและเครื่องประดับได้คราวละ 4 หรือ 8 วัน โดยจะมีบริการส่งถึงประตูบ้าน สนนราคาอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาชุดและเครื่องประดับ หากยืม 2 ชุด ชุดที่ 2 คิด 25 ดอลลาร์ฯ ทุกการเช่าจะรวมค่าประกัน 5 ดอลลาร์ฯ หากชุดได้รับความเสียหาย ลูกค้าต้องรับผิดชอบโดยการซื้อชุดนั้น


   เมื่อสอบถามความเห็นของลูกค้าส่วนใหญ่จะชื่นชอบบริการนี้ เพราะแทนที่จะเสียเงินเป็นพันเพื่อซื้อชุดใส่ไม่กี่ครั้ง พวกเธอจ่ายครั้งละ 50-70 ดอลลาร์ฯ ก็แทบจะเดินไปเฉิดฉายบนเวทีได้ แถมของยังส่งตรงถึงบ้าน เมื่อใช้เสร็จก็แค่เอาของใส่ซองที่ Rent the Runway ให้มา ปิดผนึกแล้วนำไปหย่อนตู้ไปรษณีย์ส่งคืนให้บริษัท นับว่าสะดวกมาก 


 



    ไม่กี่ปีหลังดำเนินธุรกิจ Rent the Runway เติบโตอย่างรวดเร็ว ลูกค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 100,000 คน มีชุดให้เช่ารวมแล้วกว่า 65,000 ชุด เครื่องประดับ 25,000 ชิ้น ลูกค้าสามารถใช้บริการผ่านออนไลน์หรือจะแวะมาเลือกหาชุดที่ร้านได้ โดยจะมีสไตลิสต์ประจำทุกสาขาเพื่อคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทรนด์แฟชั่นและการแต่งกาย ส่วนลูกค้าที่เช่าชุดทางออนไลน์ก็สามารถรับคำปรึกษาได้เช่นกัน ผ่านโทรศัพท์ อีเมล หรือไลฟ์แช็ต นอกจากบริการเช่าชุดและเครื่องประดับ Rent the Runway ยังต่อยอดธุรกิจด้วยการจำหน่ายสินค้า เช่น เครื่องสำอาง ชุดชั้นใน ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวและการขจัดขน เป็นต้น


    หลังจากที่ธุรกิจอยู่ตัวและมั่นใจว่าส่อแววสดใส ผู้บริหารหญิงทั้งสองก็เริ่มนำแผนธุรกิจไปเสนอยังบริษัทเงินร่วมลงทุน ผลก็คือมีบริษัทต่างๆ ให้การสนับสนุนทุนรวมแล้ว 54 ล้านดอลลาร์ฯ Rent the Runway มีแผนจะขยายเพิ่มอีก 15 สาขาตามเมืองใหญ่ และเพิ่มแบรนด์เสื้อผ้า รวมถึงประเภทของเสื้อผ้าที่ให้เช่าเพื่อให้ครอบคลุมที่สุด ความสำเร็จของสองสาว เจน และเจนนี่ การันตีได้จากรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ เช่น นักธุรกิจดีเด่นอายุต่ำกว่า 30 นักธุรกิจหน้าใหม่ที่โตแบบก้าวกระโดด ขณะที่ Rent the Runway ก็ได้รับการยกย่องเป็นเว็บไซต์ยอดเยี่ยม และบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด

  
    เจนนี่ซึ่งนั่งเก้าอี้หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจพูดถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จว่า อยู่ที่หุ้นส่วนร่วมทำธุรกิจต้องเข้ากันได้ดี ต้องมีทัศนคติ Can Do คือเชื่อมั่นว่าทำได้ และลงมือทำโดยไม่ต้องสนใจแผนธุรกิจ “ดิฉันว่าการเขียนแผนธุรกิจเป็นอะไรที่เสียเวลา ทางที่ดีควรลงมือทำเลย อาจเริ่มที่สเกลเล็กๆ ก่อนเป็นการชิมลางตลาด แล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้น ทำไป เรียนรู้ความผิดพลาดไป การทำธุรกิจก็เหมือนกับการทำบททดสอบในตลาดจริง อันไหนไม่เวิร์กก็ตัดทิ้งไป ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงลงได้สำหรับผู้ที่เริ่มทำธุรกิจ” เจนนี่ยังตบท้ายอีกว่า แม้ลงมือทำไปแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลว แต่มันหมายถึงโอกาสอาจยังไม่อำนวยต่างหาก


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล