Text : Ratchanee P.
ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่เมื่อเริ่มต้นแล้วจะปังมาตั้งแต่ก้าวแรก พริม-ยวิษฐา กรินชัย ก็เช่นกัน แต่กระนั้นทุกๆ ก้าวของเธอก็เติบโตอย่างมั่นคง
ก็ใครจะไปคิดว่าเพราะมีเวลาว่างในช่วงของการเป็นนักศึกษาปีสุดท้าย จึงไปตระเวนเดินสำเพ็ง คิดหาเครื่องประดับมาลองขาย ด้วยเงินลงทุน 1,000 บาท จะสามารถต่อยอดจากการซื้อมาขายไป สู่การสร้างแบรนด์ Yvis และสามารถสร้างรายได้ถึง 60 ล้านบาท ในปี 2567
เริ่มต้นจากเงิน 1,000 บาท
ย้อนกลับไปปี 2561 ในเวลานั้นพริมกำลังเรียนอยู่ปีสุดท้ายคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาของการทำ Thesis จึงมีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ ประกอบเป็นคนชอบเครื่องประดับอยู่แล้ว จึงคิดอยากลองหาเครื่องประดับมาขายบนออนไลน์
“เครื่องประดับที่ชอบมันสวยแต่ก็มีราคาสูง เรากำลังเรียนอยู่ไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น ขณะเดียวกันเครื่องประดับที่ราคาถูกหาซื้อได้ง่าย ก็ไม่มีแบบสวยถูกใจ เลยอยากทำแบรนด์เครื่องประดับที่ราคาเข้าถึงได้ในแบบที่เราชอบ แต่ตอนนั้นไม่ได้มีเงินเยอะ จึงเริ่มจากการซื้อมาขายไปก่อน ก็คือไปเดินสำเพ็งร้านขายส่งมีต่างหูเป็นพันๆ แบบให้เลือก ก็เลือกแบบที่เราถูกใจ มาลองใส่เองก่อนว่าคุณภาพดีไหม ใส่แล้วแพ้หรือเปล่า จากนั้นก็เอาแบบที่เหลือมาถ่ายรูปลงอินสตาแกรมขาย เริ่มจากเงิน 1,000 บาท”
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีแรกพริมบอกว่าเธอยังได้ไม่จริงจังกับธุรกิจนี้มากนัก เพราะหลังจากเรียนจบก็ไปเรียนซัมเมอร์ต่อที่ต่างประเทศ แล้วจึงกลับมาทำงานประจำ จึงเป็นช่วงเวลาที่ขายๆ หยุดๆ เป็นรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า จนสุดท้ายเมื่อต้องทำงานประจำไปด้วยและทำธุรกิจไปด้วย ทำให้ไม่มีเวลาใช้ชีวิตเท่าไหร่ แต่เมื่อมั่นใจว่าธุรกิจเล็กๆ นี้ จะสามารถเติบโตได้จึงตัดสินใจก้าวออกจาก Safe Zone แล้วเอาเงินเก็บจากการขายเครื่องประดับในช่วง 2 ปีนั้นจำนวน 200,000 บาท มาลงทุนจดทะเบียนบริษัท เช่าออฟฟิศ จ้างพนักงาน และเริ่มสร้างแบรนด์ Yvis ของตัวเองขึ้นมา
“ดีไซน์เองเลยตามแบบที่เราชอบเลย แต่จริงๆ ก่อนหน้านี้ แม้เราจะซื้อเครื่องประดับมาขายแต่ก็จะมีการประดิษฐ์ประดอยเองเพิ่มเติม สมมติเป็นต่างหูห่วงก็เอามุกใส่เพิ่ม ฉะนั้น จะค่อนข้างแตกต่างจากร้านอื่นอยู่แล้ว แต่เมื่อเราทำแบรนด์เอง มีดีไซน์ของตัวเอง สินค้าทุกชิ้นของ Yvis ก็มีเรื่องราว ซึ่งผลตอบรับดีมากๆ ลูกค้าชอบมากขึ้นกว่าเดิมอีก”
สู่ 60 ล้าน ปี 2567
“จริงๆ ก็คือว่ามาไกลกว่าที่คาดมาก เพราะว่าแบรนด์เติบโตมาเรื่อยๆ แต่ถามว่าพอใจไหมก็ยังไม่ได้พอใจ เพราะคิดว่ามันยังสามารถเติบโตกว่านี้ได้อีก”
โดย พริม บอกว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้ Yvis ก้าวมาได้ไกลในวันนี้ มาจากการสร้างแบรนด์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ Yvis ที่มีความชัดเจน คือมีความสดใส น่ารัก มีรายละเอียดเยอะ นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ Yvis แตกต่างจากแบรนด์อื่นคือแพ็กเกจจิ้งที่สวยงามมีของแถม เมื่อลูกค้าเปิดกล่องจะรู้สึกว่าแฮปปี้ อยากถ่ายรูปลงโซเชียลฯ รวมถึงบริการต่างๆ เช่น การรับประกัน 2 เดือนถ้าสินค้ามีปัญหาก็สามารถเปลี่ยนได้เลย ทั้งหมดนี้ทำให้ลูกค้ารู้สึกไว้วางใจแล้วกลับมาซื้อซ้ำอีกเรื่อยๆ
“Yvis เติบโตมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่ามาทีเดียวแล้วปังเลย ฐานเราค่อนข้างแข็งแรงมั่นคง ไม่ได้ไปกู้เงินมาลงทุน ค่อยๆ โตด้วยเงินของเราเองต่อยอดมาเรื่อยๆ จาก 1,000 บาทในตอนเริ่มต้น ปีที่แล้ว 2567 เรามีรายได้ประมาณ 60 ล้านบาท และวางเป้าหมายที่จะเติบโตขึ้นปีละ 60% โดยปีนี้ตั้งใจว่ารายได้น่าจะอยู่ที่ 90 ล้านบาท”
สำหรับเส้นทางการเติบโตที่ทำให้ Yvis มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 60% นั้น พริมวางแผนเอาไว้ว่านอกจากจะขยายตลาดเครื่องประดับเดิมที่ทำอยู่แล้ว ยังจะการแตกไลน์สินค้าใหม่ที่เป็น Accessories เช่น นาฬิกา แว่นตา และเข็มขัดขั เป็นต้น
“เราอยากให้คนเมื่อแต่งตัวที่ไม่ใช่เสื้อผ้าแล้วนึกถึง Yvis เลยจะมี Accessories ต่างๆ เข้ามาเสริม ซึ่งวางแผนไว้แล้วว่าจะไปทีละสเต็ป นอกจากนาฬิกาที่เพิ่งลอนซ์แล้ว จะตามมาด้วยแว่นตาซึ่งเราจะดีไซน์เองทั้งหมด มองว่าความยากในการทำแบรนด์ ก็คือเราต้องพัฒนาสินค้าใหม่เรื่อยๆ เราต้องเข้าใจลูกค้าว่าต้องการอะไร พยายามที่จะถามฟีดแบคตลอดเวลา เป็น Customer Centric เอาลูกค้าเป็นตัวตั้งแล้วทำตามที่เขาต้องการ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีความสุขกับแบรนด์ Yvis”
“ในตอนแรกเลยที่เริ่มทำแบรนด์ มองว่าคู่แข่งคือปัญหา เพราะว่ามีคู่แข่งที่ทำลักษณะคล้ายๆ เรา แล้วมีการขายตัดราคา เราเลยพยายามดั้มราคาลงไปแข่งกับเขา เช่น เราขายที่ 290 บาท แต่คู่แข่งขาย 190 บาท เราก็ไปลดราคาเหลือ 190 บาท แต่คู่แข่งเขาซื้อมาขายไป ขณะที่เรามีดีไซน์ของตัวเองซึ่งต้นทุนเยอะกว่า ดังนั้นไม่มีทางที่เราจะไปสู้ราคาเขาได้ ซึ่งพอเราไปลดราคาก็ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสีย ลูกค้ามองว่าคุณภาพลดลงหรือเปล่า อีกอย่างพอกำไรน้อยก็กลายเป็นว่าเราเอาเงินไปหมุนทำอย่างอื่นไม่สะดวก สุดท้ายก็คิดได้ว่าไม่ต้องกังวลเลยว่าคู่แข่งจะทำอะไร เรามี Value เราให้ลูกค้ามากกว่า จากนั้นก็ไม่ได้ลดราคาเลย มุ่งพัฒนาสินค้าพัฒนาดีไซน์ให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะจ่าย”
ในตอนท้าย จากประสบการณ์ในการทำแบรนด์ Yvis มา 8 ปี พริมได้ฝากข้อคิดสำหรับคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจว่า แต่ละคนมีต้นทุนไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงควรลงทุนด้วยกำลังที่มีจะดีกว่า
“คนที่มีเงินลงทุนไม่เยอะ รับความเสี่ยงไม่ได้ ก็แนะนำให้ทำแบบพริมคือทำควบคู่กับงานประจำก่อนแล้วค่อยๆ ใส่เงินลงทุน ใส่เวลาไปเพิ่ม แต่ถ้าใครมีเงินทุนเยอะ รับความเสี่ยงได้ ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ก็เชียร์ให้ลงทุนเยอะไปตั้งแต่แรก เริ่มด้วยเงินน้อย ถามว่าโตช้ามั้ย ก็เป็นสเต็ปที่ช้า ถ้าเราลงเงินหนึ่งล้านตั้งแต่แรก แล้วมีดีไซน์ตั้งแต่แรกอาจจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้ วันนี้อาจจะเป็นร้อยล้านไปแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคน”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี