Text : Neung Cch.
Photo : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจทวีความรุนแรง และเศรษฐกิจผันผวน ผู้ประกอบการ SME ไทยจะสามารถก้าวผ่านความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร? หนึ่งในคำตอบสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม คือ "ทรัพย์สินทางปัญญา" (IP) ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธลับที่ช่วยผลักดันธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
SME Thailand ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเปิดเผยทุกสิ่งที่ SME ควรรู้ ตั้งแต่การเริ่มต้นใช้ IP อย่างง่ายดาย การแก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเพลงในร้านค้า ไปจนถึงการใช้ IP เป็นเกราะป้องกันและเครื่องมือขยายธุรกิจสู่เวทีโลก
IP: อาวุธลับที่ SME ต้องมี
"ทรัพย์สินทางปัญญาคือ ขุมทรัพย์ที่สร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจ" นุสราเปิดประเด็นด้วยน้ำเสียงมั่นใจ "มันไม่ใช่แค่การปกป้อง แต่เป็นการสร้างมูลค่าและความน่าเชื่อถือ ในยุคที่สินค้าคล้ายกันเต็มตลาด สิ่งที่ทำให้ลูกค้าหยิบสินค้าของคุณคือ เครื่องหมายการค้า หรือโลโก้"
IP มีหลายแบบ เช่น เครื่องหมายการค้า (เช่น Red Bull, คาราบาวแดง) สร้างการจดจำ, ลิขสิทธิ์ ปกป้องงานสร้างสรรค์, สิทธิบัตรการประดิษฐ์ คุ้มครองนวัตกรรม และ สิทธิบัตรการออกแบบ เน้นดีไซน์ "ทั้งหมดนี้ช่วย SME แข่งขันได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ
หากพิจารณาจากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่าในปี 2567 ทรัพย์สินทางปัญญาที่คนไทยเป็นเจ้าของมากที่สุดต้องยกให้ เครื่องหมายการค้า หรือโลโก้ โดยคนไทยยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามากถึง 27,889 คำขอ (เพิ่ม 6.39%) จากปีก่อนหน้า
"ถ้าคุณใช้โลโก้ที่ไปเหมือนหรือซ้ำกับคนอื่นโดยไม่จดทะเบียน มันไม่ใช่แค่เสียโอกาส แต่กลายเป็นความผิดทางอาญาได้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถฟ้องร้องคุณได้ทันที" นี่คือเหตุผลที่อธิบดีฯ ย้ำว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็น "การจดทะเบียนคือเกราะป้องกันให้คุณ และยังเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจในระยะยาว"
จากตัวอย่างจริงสู่ความสำเร็จ
ถ้าถามว่า IP มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง อธิบดียกตัวอย่างเคสจริง เช่น Butterbear ที่ใช้คาแรกเตอร์ “น้องหมีเนย” จดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ป้องกันการลอกเลียน พร้อมขยายสู่ตลาดจีนผ่านสัญญากับบริษัท Qizhongji หรือ ข้าวศรีแสงดาว ที่เปลี่ยนจากโรงสีธรรมดาเป็นแบรนด์พรีเมียมด้วยเครื่องหมายการค้าและ GI คว้ารางวัล World’s Best Rice และบุกตลาด 35 ประเทศ
"เคสเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า IP เป็นทั้งเกราะป้องกันและเครื่องมือขยายโอกาส" นุสรากล่าว
IP: เริ่มต้นง่ายๆ ได้ทันที
เพื่อรักษาผลประโยชน์ SME ควรเริ่มต้นดูแล IP เช่น เครื่องหมายการค้า นุสรา แนะนำว่า SME สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก “ก่อนทำอะไร ต้องค้นก่อนว่าไอเดียของคุณซ้ำกับใครหรือเปล่า” ซึ่งกรมทรัพย์สินฯ มีระบบออนไลน์ให้ตรวจเช็กฟรีว่า ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง แต่ลดความเสี่ยงได้มหาศาล
“กรณีที่เป็น SME มีสูตรหรือนวัตกรรม เช่น สูตรอาหารหรือผลิตภัณฑ์ สามารถไปยื่นจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรเลย ถ้าไม่อยากเปิดเผยสูตรทั้งหมด เก็บเป็น ความลับทางการค้า ได้ แต่ต้องมีระบบป้องกันการรั่วไหล" อธิบดี ได้แนะนำศูนย์ IPAC ที่ให้คำปรึกษาพร้อมคำแนะนำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
ลิขสิทธิ์เพลงที่ใกล้เจอบทสรุป
ต่อกรณีเรื่องที่ร้านอาหารหรือคาเฟ่มีการเปิดเพลงและเจอปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น มีรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องค่อยๆ แก้ไข อาทิ ปัจจุบันนี้มีองค์กรเก็บลิขสิทธิ์กว่า 20 แห่ง แต่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน รวมทั้งวิธีการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ในจำนวนแค่ไหนถึงสมดุลระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ซื้อลิขสิทธิ์ ขณะนี้กรมฯ กำลังร่างกฎหมายเพื่อสร้างสมดุลให้ทุกฝ่าย
“อยากให้ร้านอาหารเลือกใช้เพลงที่เหมาะกับบรรยากาศของร้าน อย่าเปิดเกินจำเป็น เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือว่าร้านอาหารรวมตัวไปในนามสมาคมภัตตาคารไปเจรจาเพื่อต่อรองทำให้ได้ค่าลิขสิทธิ์ถูกลง”
IP – ช่วยขยายตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม นุสราบอกว่า IP คือกุญแจสำคัญจะยิ่งมีความหมายมากขึ้นสำหรับคนที่ต้องการบุกตลาดต่างประเทศ โดยถ้าเป็น "ลิขสิทธิ์” เช่น เพลงหรือภาพวาด จะคุ้มครองอัตโนมัติทั่วโลก แต่เครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรจดที่ไหนคุ้มครองที่นั่น ดังนั้นถ้าจะไปขายของที่จีนแต่ไม่จดที่นั่น หากถูกก๊อบปี้ก็ทำอะไรไม่ได้ เธอแนะนำระบบ Madrid System ที่ช่วยให้ SME ยื่นจดเครื่องหมายการค้าจากไทยไปยังหลายประเทศได้ง่ายขึ้น
"กรมฯ ยังมีโครงการมอนิเตอร์การจดทะเบียนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนและจีน "เราเห็นเคสเยอะที่แบรนด์ไทยถูกต่างชาติฉกไปจดก่อน พอเราเข้าไปขาย กลายเป็นเราละเมิดเขา โครงการนี้จะช่วย SME รายเล็กให้รอดจากกับดักนี้ และตอนนี้เรามีแผนเข้าร่วมความตกลงกรุงเฮก เพื่ออำนวยความสะดวกให้งานออกแบบของไทยไปต่างประเทศได้ด้วย"
เธอยกตัวอย่าง ข้าว "ศรีแสงดาว" เป็นแบรนด์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ได้รับรางวัล "World's Best Rice" จากงาน World Rice Conference หลายปีซ้อน ได้รับการรับรองเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้จดทะเบียนผ่านระบบ Madrid จนสามารถขยายการคุ้มครองไปถึง 35 ประเทศทั่วโลก
"IP เป็นสิ่งที่จะสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างศักยภาพแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี เมื่อเรามีทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ฯ มันจะทำให้เรามีช่องทางในการทำการค้ามากขึ้น สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าและนักลงทุน ซึ่งโลกนี้แข่งขันสูง แต่ถ้าคุณมี IP การดำเนินธุรกิจให้ก้าวต่อไปได้” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี