เจ้าแรกในไทย "วุ้นเส้นเฮยะ" ทำจาก โมโรเฮยะ ฉายาผักพระราชาของอียิปต์ พลิกจากไร่อ้อยสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพ”

Text: Neung Cch.

Photo : Sunun Lorsomsub


       ผืนดินกว่า 10 ไร่ที่เต็มไปด้วยต้นอ้อย กลายเป็นมรดกที่วิทยา เพชรมาลัยกุล ต้องรับผิดชอบทันทีที่ผู้เป็นพ่อจากไป การกลับบ้านเกิดจังหวัดเพชรบุรีเพื่อสานต่อธุรกิจของครอบครัว ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด กลิ่นยาฆ่าแมลงกลายเป็นกลิ่นตัวที่คนรอบข้างเริ่มทัก อีกทั้งปัญหาสุขภาพของเขาและภรรยา ทำให้เจ้าของไร่เพชรมาลัยกุล เกิดคำถามกับตัวเองว่า

     นี่คือสิ่งที่เขาต้องทำไปตลอดชีวิตหรือ?

     จากคำถามนำไปสู่การตัดสินใจครั้งใหญ่คือเปลี่ยนจากการทำไร่อ้อยสู่การปลูกผักโมโรเฮยะ หรือ "ผักพระราชา" ที่ว่ากันว่าอุดมด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการที่สูงที่คุ้นเคยกันในอียิปต์แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักดีนักในบ้านเรา

     การพลิกผืนดินเพื่อปลูกพืชชนิดใหม่ จึงเต็มไปด้วยคำถามมากายจากผู้คนรอบข้างแม้กระทั่งลูกน้องผู้ร่วมงาน

     ทุกคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ แต่ปณิธานที่อยากให้คนไทยได้ทานของดี และอยากเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้อยู่ต่อถึงรุ่นลูก ไม่เพียงจะได้ผักที่ขายดิบขายดี แต่ยังต่อยอดแปรรูปสินค้าสร้างแบรนด์ "เฮยะ" ที่โดดเด่นด้วยผลิตภัณฑ์ "วุ้นเส้นโมโรเฮยะ" เจ้าแรกของไทย

จุดเริ่มต้นจากความใส่ใจในสุขภาพ

     ปัญหาการทำไร่อ้อยที่ต้นทุนสูงแล้ว วิทยาและภรรยาต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะภรรยาที่ป่วยเป็นโรคไต ทำให้เขาเริ่มมองหาพืชผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำรุงและรักษาโรค จนได้มาพบกับ "โมโรเฮยะ" ผักพื้นบ้านของอียิปต์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี ว่ากันว่าเป็นเคล็ดลับความงามของพระนางคลีโอพัตรา ด้วยความที่โมโรเฮยะมีวิตามินและแร่ธาตุสูงกว่าผักทั่วไปหลายเท่า วิทยาจึงเริ่มปลูกโมโรเฮยะเพื่อรับประทานเอง และพบว่าสุขภาพของภรรยาดีขึ้น  
     เมื่อผู้คนรอบเข้างเริ่มเห็นก็สนใจเริ่มมีการถามหาผักโมโรเฮยะ จากที่ปลูกรับประทานเองก็กลายเป็นการปลูกเชิงพาณิชย์

จากไร่อ้อยสู่ผักโมโรเฮยะ: เส้นทางที่ไม่ง่าย แต่คุ้มค่า

     การเปลี่ยนแปลงจากไร่อ้อยมาปลูกผักโมโรเฮยะ วิทยายอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของตนเองและทีมงาน การเรียนรู้เทคนิคการปลูกผักชนิดใหม่ การหาตลาดสำหรับผลผลิต และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของโมโรเฮยะ

     "ช่วงแรกๆ มันยากมากครับ" วิทยาเล่า "เราต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองก่อนว่าทำได้จริงเหรอ แล้วก็ต้องไปบอกคนงานว่าเราจะเลิกปลูกอ้อยแล้วนะ มาปลูกผักแทน ซึ่งตอนแรกทุกคนก็ไม่เชื่อ แถมยังต้องหาตลาด หาคนซื้ออีก มันเป็นช่วงที่เหนื่อยมากจริงๆ"

     แต่ด้วยความมุ่งมั่นและใจรักในสุขภาพ วิทยาก็ไม่ย่อท้อ เขาค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัว จนสามารถพลิกไร่อ้อยมาเป็นไร่ผักโมโรเฮยะที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

     "ความยากลำบากมันก็เหมือนบททดสอบครับ" วิทยา กล่าว "ถ้าเราไม่ยอมแพ้ เราก็จะผ่านมันไปได้ และผลลัพธ์ที่ได้มันก็คุ้มค่าเสมอ"

จากผักสดสู่ "วุ้นเส้นโมโรเฮยะ"

     ด้วยคุณสมบัติของผักและการเรียนจบทางด้านฟูดไซน์บวกกับประสบการณ์ในการทำงานที่โรงงานวุ้นเส้น วิทยาจึงเริ่มต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและเป็นเจ้าแรกของโลกคือ "วุ้นเส้นโมโรเฮยะ"

     “คามยากคือไม่ใช่ผักทุกอย่างที่จะนำไปทำวุ้นเส้นแล้วอร่อยไม่อืด”

     เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกแปรรูปผักโมโรเฮยะเป็นวุ้นเส้น วิทยาอธิบายว่า "ตอนแรกเราก็ทำเป็นผักสดขาย แต่ผู้บริโภคบางคนไม่มีพื้นที่ปลูกผัก หรือบางคนก็ไม่สะดวกที่จะทำอาหารจากผักสด เราก็เลยคิดว่าทำยังไงให้คนเข้าถึงโมโรเฮยะได้ง่ายขึ้น ก็เลยมาลงตัวที่วุ้นเส้น เพราะวุ้นเส้นมันเป็นอาหารที่ทานง่าย แล้วก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย"

     นอกจากนี้ วิทยายังมองว่าการแปรรูปเป็นวุ้นเส้นจะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง "อุปทานส่วนเกิน" ที่มักเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรได้อีกด้วย

     "ถ้าเราทำเกษตรแบบขายผลผลิตสดอย่างเดียว เราจะเหนื่อยมากครับ เพราะเราต้องเจอกับปัญหาเรื่องราคาที่ไม่แน่นอน เรื่องผลผลิตที่ล้นตลาด เรื่องการขนส่งที่ยากลำบาก การแปรรูปจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเรา ทำให้เรามีทางเลือกในการขายมากขึ้น และยังช่วยยืดอายุของผลผลิต ทำให้เราสามารถขายได้นานขึ้นด้วย"

ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมดีขึ้น

     วิทยายังเล่าถึงแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรของตนเองเพื่อความยั่งยืนในอนาคตว่า

     "เมื่อก่อนเราใช้คนเยอะ ใช้เครื่องจักรเยอะ สุดท้ายต้องปรับตัว ใช้คนน้อยลง ใช้พื้นที่น้อยลง แต่สามารถสร้างรายได้เท่าเดิม ค่าใช้จ่ายลดลง กำไรก็มากขึ้น อย่างทำไร่อ้อย ตัดไร่อ้อยผมใช้เกือบ 100 คน ตอนนี้ 5 คนก็ได้แล้ว"

     วิทยาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

     "ถ้าเรายังทำเกษตรแบบเดิมๆ เราอาจจะอยู่ไม่ได้ในอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่ชอบทำเกษตรแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เราอาจจะต้องขายที่ดินทิ้งไปก็ได้ ผมเลยคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเราให้ทันกับยุคสมัย เพื่อให้ลูกหลานของเรายังคงมีอาชีพทางการเกษตรต่อไปได้ อย่างที่ผมเปลี่ยนมาปลูกผักโมโรเฮยะ เพราะเข้ากับเทรนด์สุขภาพเป็นตลาดที่เติบโตได้ดี”

สร้างแบรนด์ "เฮยะ" สู่ตลาดโลก

     ในช่วงเวลาประมาณ 3 ปีกับการบุกเบิกผักโมโรเฮยะ วิทยายอมรับว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้คนรู้จักและเปิดใจยอมรับทานผักตัวนี้ วัดได้จากการออกอีเว้นต์ที่มีเอเย่นซี่สนใจนำผักไปจำหน่าย หรือจากไร่ของเขาที่ทำเป็นศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีคนสนใจมาศึกษาดูงาน

     ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเฮยะวางจำหน่ายในร้านค้าของฝาก ส่งให้กับโรงแรม 5 ดาว นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นโมโรเฮยะในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

     “เป้าหมายต่อไปคือจะพัฒนา "เฮยะ" ให้เป็นแบรนด์ไทยที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่จุดเริ่มต้น แต่วัดกันที่ความมุ่งมั่นและความพยายาม" วิทยา สะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางที่เขาเดินผ่านมา และเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง

ข้อมูลติดต่อ
Facebook: ไร่เพชรมาลัยกุล
Tel. 063 782 9352

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Caffe Pralet คาเฟ่ที่เปลี่ยนมือจากแม่สู่ลูก Success เพราะยกเลิกเมนูเก่า เหลือ 2 เมนูเด็ด

Caffe Pralet เป็นคาเฟ่ที่เปิดมานาน 19 ปี เป็นที่รู้จักในเรื่องขนมอบ เค้ก และอาหารจานต่างๆ แต่เมื่อทิมโมธี ผู้เป็นลูกชายเข้ามารับไม้ต่อ เขาโละเมนูต่างๆ เหล่านี้ออก แล้วขายเพียงโดนัทสี่เหลี่ยมและแซนด์วิซ ..ซึ่งกลับทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้ประสบความสำเร็จ

ชีววิถี จากปฏิวัติสมุนไพรไทยด้วยนวัตกรรม สู่การทำ ESG โมเดลพาธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน 

ไม่มีเส้นทางไหนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เช่นเดียวกับสมุนไพรไทย “ชีววิถี” ที่เริ่มต้นจากการมองเห็นของดีในท้องถิ่นของอรประภา พรมรังฤทธิ์ จึงเอาน้ำมันมะพร้าวมาเป็นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ความงาม จากธุรกิจครัวเรือนเล็กๆ ถูกต่อยอดด้วยนวัตกรรม จนส่งออกไปขายทั่วโลก

5 นักแสดงที่เปิดร้านอาหาร คาเฟ่ สุดปัง

นอกจากจะเป็นนักแสดงมากฝีมือแล้ว เมื่อหันมาทำธุรกิจ ก็เป็นผู้ประกอบการที่มากความสามารถไม่แพ้กัน และนี่คือ 5 นักแสดงที่ทำธุรกิจร้านอาหาร-ร้านขนมจนดัง ​