Text: วันวิสา งามแสงชัยกิจ
ใครว่า “Hero Product” หรือของเด็ดขึ้นชื่อของแบรนด์นั้นต้องเป็นแค่ “สินค้า” เพียงอย่างเดียว เมื่อวันนี้ “Workshop” หรือการจัดกิจกรรมให้คนเข้าร่วมได้ความรู้หรือทักษะใหม่ๆ กลับไปก็สามารถเป็น “ฮีโร่ตัวจริง” ของแบรนด์ได้เหมือนกัน
คำถามจึงมีอยู่ว่า แล้วแบรนด์จะปั้นฮีโร่พันธุ์ใหม่นี้ได้อย่างไร? เพื่อต่อสู้และเอาชนะได้ในศึกธุรกิจสุดเดือด
ซึ่งผู้ที่จะมาเฉลยคำตอบนี้ให้เรานั้นก็คือ เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร ผู้ร่วมก่อตั้ง Herbaria Studio สตูดิโอทำงานศิลปะและเวิร์คชอปจากดอกไม้และพืชพรรณ ผู้ให้กำเนิด Workshop สุดอาร์ท ที่นำเทคนิค Herbarium หรือการทำตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้งมาสอน ตั้งแต่วิธีการทับดอกไม้ การคัดเลือกดอกไม้มาทับ ไปจนถึงการจัดกรอบดอกไม้แห้งนั่นเอง
ต่อยอดความชอบ...ต่อยอด Hero Product
“สินค้าพวกนี้เราทำเองหมด ทำให้เรามีองค์ความรู้เรื่องเทคนิค
เรื่องอะไรที่สามารถสอนได้ มันก็เลยแตกไลน์ออกมาเป็น Workshop ได้
ยิ่งเรามีความอินและมีความชอบอยู่แล้ว พอทำออกมาเป็น Workshop ก็จะทำ Workshop ได้ดีไปด้วย”
แน่นอนว่า อยากแรกที่ต้องมีเลยคือ ความชอบในสิ่งที่ทำ ซึ่งนักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะเภสัชพฤกษศาสตร์ ผู้สอนทางด้านพฤกษศาสตร์ และคลุกคลีกับพืชสมุนไพรมามากกว่า 15 ปีรายนี้ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความชอบในเรื่องนี้เช่นกัน จนก้าวเข้าสู่การเริ่มทำแบรนด์ในปีนี้ ที่ไม่เพียงมีสินค้าอย่างโปสการ์ดและเทียนหอมที่ตกแต่งด้วยดอกไม้แห้งเท่านั้น ยังวาง Workshop ให้เป็นโปรดักต์ไฮไลท์ของแบรนด์ด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำ Workshop อาจจะเหมาะกับสินค้าบางประเภท รวมถึงเป็นแต้มต่อและสร้างข้อได้เปรียบให้กับสินค้าบางประเภทในขณะเดียวกัน
“คนที่ทำงานทำมือ หรือทำตัวสินค้าเองอยู่แล้ว ถือว่าได้เปรียบที่จะแตกไลน์ออกมาสอนได้ เพราะอาจจะไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะมาทำเป็น Workshop ได้หมด”
รู้จักตัวตน...รู้จักจุดเด่นของตัวเอง
“จุดเด่นของเราคืออะไร และจุดไหนที่ไม่มีใครทำได้เหมือนเรา = นำมาทำเป็น Workshop”
นี่คือคำแนะนำต่อมาของเบญญากาญจน์ ผู้ที่ใช้การนำดอกไม้จริง ใบไม้จริง และวัชพืชจริงมาทับเป็นตัวชูโรง ซึ่งทำให้ได้สีที่เป็นธรรมชาติ แตกต่างจากดอกไม้แห้งทั่วไปในตลาด ที่มักทำเป็นล็อตใหญ่และทำให้แห้งด้วยการใช้ความร้อนสูง แล้วนำไปย้อมสี ทำให้ได้สีสดที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ และมีชนิดที่ไม่หลากหลาย โดยตัว Workshop ของทางสตูดิโอนั้นจะสอนเทคนิคขั้นตอนการทำให้สีอยู่คงทน วิธีการทำให้ดอกไม้นั้นแห้งสนิท และการจัดลงกรอบให้สวยงาม
“เราวางตัวเองในสเกลของ Artist ที่อยากสร้างสรรค์งานที่ใช้ดอกไม้จริง เพื่อให้คนที่ไม่เคยเห็นดอกไม้นั้นจริงๆ ได้สัมผัสของจริงและเป็นธรรมชาติได้มากกว่า ดังนั้น มันจะมีเรื่องของศิลปะ เรื่องของคุณค่าในการ Appreciate ต้นไม้ การเก็บดอกไม้ ความประดิดประดอยที่เราทำ แต่ว่าในตลาด Workshop จะแข่งกันด้วยราคาก็มี หรือว่าทำดอกไม้ ทำเรซินแบบนี้คล้ายๆ กันก็มี ซึ่งราคาจะถูกกว่าของเรามาก เพราะว่าเขาไม่ได้ทำดอกไม้เอง ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีการที่จะบอกความเป็นตัวเรา หรือว่าความแตกต่างของสินค้าเรา เพื่อที่จะแข่งขันในตลาดได้”
คำนวณต้นทุน...คำนวณสิ่งที่ต้องนำมาคิด
“Workshop สามารถเป็นจุดแข็งหรือจุดขายให้เราได้
เพราะนอกจากจะมีสินค้าที่ทำเองแล้ว ยังมีสอนทำด้วย
จึงถือเป็นจุดเสริมที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในเรื่องของทำเองได้มากขึ้น”
ดังนั้น เพื่อให้การทำ Workshop ไม่หลงทาง ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง 3 ต้นทุนสำคัญ ต่อไปนี้
- ค่าเช่าสถานที่
“ช่วงนี้เป็นช่วงที่ Workshop ค่อนข้างจะบูมในประเทศไทยประมาณหนึ่ง โดยเราจะเห็นได้ว่าคาเฟ่ต่างๆ จะพยายามหา Workshop มาลง ทำให้ตรงนี้สามารถเป็นโอกาสสำหรับคนที่อยากจะเริ่มทำตัว Workshop ให้เป็นผลิตภัณฑ์” ซึ่ง SME สามารถทำการดีลคุยกับทางคาเฟ่ได้เลย ถึงวิธีการคิดค่าเช่าสถานที่ โดยบางที่อาจจะหักเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือบางที่อาจจะคิดเป็นรายวันให้นำตรงนี้มาใส่ในตัวต้นทุน
- ค่าความรู้ ค่าความชำนาญ
ค่าความรู้ ค่าความชำนาญของเราหรือตัวผู้สอนเป็นอีกหนึ่งข้อที่ต้องนำไปคิดในตัวต้นทุน ซึ่ง “จุดนี้จะหลากหลายมาก เพราะว่าตลาด Workshop เอง ก็มีตั้งแต่ Workshop ในราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น” ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่า เราจะเข้าไปเล่นในตลาดไหน และควรจะได้รายได้หรือกำไรเท่าไรจากต้นทุนที่มี อย่าง “เรามีเพื่อนที่ลงทุนด้วยกัน 3 คน ดังนั้น จะแบ่งตามค่าแรงและค่าสอน ซึ่งต้องคิดว่าควรจะได้กันเท่าไร และบวกลบออกมาถึงจะได้กำไรเท่านี้ ”
- ค่าเข้าร่วมกิจกรรม
ข้อนี้ลืมไม่ได้คือ “การคิดต้นทุนจากอุปกรณ์ทั้งหมดที่จัดไว้ให้ผู้เข้าร่วม Workshop ได้ใช้” เช่นของทางสตูดิโอที่จะคิดจากอุปกรณ์ที่แจกให้ในวันนั้นอย่างของที่ทำ กรอบรูป และต้นทุนของตัวดอกไม้แห้งที่ต้องมีการเตรียมล่วงหน้า เป็นต้น
คำนึงความถี่...คำนึงความเหมาะสม
“จะจัด Workshop ให้ได้ดี ต้อง Research ตลาดก่อนว่า
Workshop ที่คล้ายกันหรือที่เป็นแนวเดียวกันนั้น เขาทำอยู่ที่ราคาเท่าไร มีดีเทลอย่างไร
จะได้รู้ว่าจุดแตกต่างของเราคืออะไรที่จะไปแข่งกับเขาได้”
เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้พลาดท่า มี 5 เรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ได้แก่
- จำนวนครั้งที่จัด
ต่อเดือนควรจัด Workshop กี่ครั้งนั้น “ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าและความสามารถในการสอนโดยที่ไม่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยจนเกินไป” อย่างเบญญากาญจน์ที่มีอาชีพประจำด้วย จึงทำให้การจัด Workshop เหลือเพียงแค่ 1 ครั้งต่อเดือน จากเดิมที่จัดแบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ “ต้องสื่อสารกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา โดยอาจจะผ่านทางหน้าเพจ ซึ่งต้องประกาศบอกวันที่ที่แน่นอนหรือบอกตารางให้ชัดเจน เพื่อให้เขาสามารถเตรียมตัวเข้าร่วม Workshop ในครั้งหน้าได้”
- จำนวนคนที่รับ
จัด Workshop ครั้งหนึ่ง รับคนมาเรียนเท่าไรดี? เรื่องนี้ให้ “จำกัดจำนวนคนและระบุให้ชัดเจน โดยดูจากความพร้อมของสถานที่ และกำลังความสามารถของเราในการสอนที่ต้องดูแลทุกคนได้อย่างทั่วถึง” อย่างของ Herbal Studio ที่จะรับไม่เกิน 6 คนต่อรอบ เพราะต้องสอนคนเดียว ต้องมีความใกล้ชิด ต้องดูไปทีละคนๆ และต้องมีความละเอียด
- ระยะเวลาที่เรียน
อีกคำถามที่หลายคนสงสัย หนีไม่พ้น ควรจัด Workshop นานเท่าไรดี? คนถึงจะไม่เบื่อและสนุกตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งคำเฉลยก็คือ “ให้ดูจากเวลาที่เราใช้ทำตัวชิ้นงานจนเสร็จสมบูรณ์ นำไปบวกลบกับเวลาซักถามสำหรับคนที่มาเข้าร่วม” นั่นเพราะการจัด Workshop ที่ดีนั้น ไม่ใช่เพียงมุ่งแต่สอน แต่ต้องมีช่วงของการอธิบายและเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยกันด้วย
- หัวข้อที่สอน
ในส่วนของหัวข้อกิจกรรมการทำ Workshop แต่ละครั้งนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องคิดหัวข้อใหม่ๆ เสมอไป เพราะหากสอนเป็นประจำควรที่จะมี “หัวข้อยืนพื้น หรือกิจกรรมหลัก” แล้วค่อยเพิ่มสีสันด้วยการสอดแทรกธีมใหม่ๆ เข้ามา เช่น การทำการ์ดอวยพรดอกไม้ช่วงใกล้ปีใหม่ หรือนำสิ่งที่ลูกค้า Request ว่าอยากทำมาพิจารณาดู
- สถานที่จัด
นอกจากนี้ เรื่องของสถานที่หรือโลเกชันที่จัด Workshop ก็สำคัญเช่นกัน โดยควรเลือกสถานที่ที่ใกล้กับตัวเองด้วย เพราะต้องคำนึงถึงค่าขนของหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ รวมถึงควรเลือกที่จัดที่มีทราฟฟิกคนเข้าร้านค่อนข้างมาก เดินทางสะดวก และมีที่จอดรถให้ หรือในกรณีที่ไปออกงานแฟร์ควรเลือกสถานที่โดยคำนึงถึงราคาค่าบูธ ต้นทุนสถานที่ และวัน-เวลาที่สะดวกในการไปร่วมงาน
สุดท้ายแล้ว การทำ Workshop อาจจะไม่ได้เป็นแค่ Hero Product ของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางสู่การพบเจอ “คนใจ+คอเดียวกัน” ดังที่เบญญากาญจน์ทิ้งท้ายไว้ว่า “พอเราได้สอน เราได้เจอคนที่มีความชอบเหมือนๆ กัน เราได้คุยกัน แล้วมันก็เป็นพลังงานดีๆ”
EntreTrick:
- Walk-in Workshop ตามงานแฟร์ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
- การให้ลูกค้าได้ลงมือทำชิ้นงานเอง = ได้ของที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก + เพิ่มความน่าสนใจและความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี