TEXT : Surangrak Su.
PHOTO : Sunun Lorsomsab
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เราใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์กันเกือบ 1 ใน 3 ของวัน โดย We Are Social เคยให้สถิติไว้ว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 58 นาทีจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการธุรกิจจะเข้ามาทำการค้าอยู่บนโลกออนไลน์กันเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในปี 2567 ที่กำลังผ่านไปนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องเจอกับศึกหนักอะไรบ้าง มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซที่ผ่านเป็นอย่างไร และในปี 2568 ต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง อะไร คือ ทางรอดให้ได้ไปต่อ
มาฟังบทสัมภาษณ์จาก กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย หรือ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) กัน
Q : ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซบ้านเราในปีนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
ในภาพรวม ก็คือ ยังเติบโตอยู่ อาจไม่ก้าวกระโดดเหมือนกับช่วงโควิดฯ ที่โต 10-200% แต่ก็ยังถือว่าคึกคัก เฉลี่ยโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% ได้ เพราะด้วยตอนนี้ทุกคนต้องหันมาโกออนไลน์กันเกือบหมด แต่มีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ Live Commerce ที่เติบโตขึ้นมากถึง 70-80% จากปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว หลายปีก่อนเรามี KOL อยู่ไม่ถึง 1 ล้านคน แต่ปีที่ผ่านมากลับมีมากถึง 9 ล้านคน เป็น Part Time ประมาณ 7-8 ล้านคน และแบบ Full Time 1-2 ล้านคน โดยไม่ใช่แค่ครีเอเตอร์เพื่อมอบความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นนักขาย ช่วยหลายธุรกิจในการไลฟ์ขายของ เพิ่มยอดขายให้แบรนด์เติบโตได้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะบนช่องทาง TikTok ที่กำลังมา ณ ตอนนี้
ในฝั่งผู้ขาย ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมากนัก แต่สิ่งที่แต่เพิ่มขึ้นมา คือ จำนวนสินค้าที่ดูหลากหลายมากขึ้น เพราะคงไม่ใครซื้ออะไรแบบเดิมๆ ตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่สินค้าที่ต้องใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เลยทำให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันหาสินค้าใหม่ๆ มาดึงดูดใจลูกค้า จำได้สมัยก่อนประมาณปี 2012 มีข้อมูลว่าร้านค้าที่จะขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องมีสินค้าอย่างน้อย 30 SKU แต่ ณ ปัจจุบันนี้ต้องมีมากถึง 90 SKU คือ 3 เท่าไปเลย ซึ่งจริงๆ เป็นผลดี เหมือนคุณเปิดร้านอาหาร จะมีให้ลูกค้าเลือกแค่ข้าวผัดกระเพรา, ข้าวไข่เจียว ก็คงไม่ใช่ เราอาจต้องมีตัวเลือกให้หลากหลายไว้ก่อน หลังจากนั้นค่อยไปทุ่มงบกับสินค้าที่เป็นโกลเด้นท์มาร์เก็ต ว่าตัวไหนขายดี ก็ลงทุนกับตัวนั้นให้มากหน่อย
Q : อย่าง Temu ที่เข้ามาตอนแรกหลายคนเป็นกังวล แต่ตอนนี้ดูเงียบๆ ไป แสดงว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรใช่ไหม
ที่หลายคนเป็นกังวลตอนแรก อาจเป็นเรื่องสินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาด แต่หากลองวิเคราะห์ให้ดีๆ สินค้าที่ถูกกว่า คือ พวก Non Brand ไม่ได้เป็นที่รู้จัก สินค้าแบรนด์ทั่วไป จริงๆ ถ้าลองเทียบในลาซาด้า, ช้อปปี้ บางอย่างขายถูกกว่าใน Temu อีก และไม่ต้องรอของนานจากจีนด้วย ตรงนี้อาจทำให้ Temu ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จริงๆ มองว่าเวลามีแพลตฟอร์มอะไรใหม่เข้ามาก็ตาม อย่าเพิ่งตื่นตกใจกลัว ให้ลองศึกษาดีๆ ก่อน อยากให้มองเพื่อพัฒนาตัวเอง เพราะถ้าเราอยู่เฉยๆ วันหนึ่งก็จะมีคู่แข่งแบบนี้เข้ามาหาแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ดังนั้นเตรียมศักยภาพตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ทุกวันนี้ผู้ประกอบการบางคนยังไม่จด สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร (Patent), เครื่องหมายทางการค้า (Trademark) หรือทรัพย์สินทางปัญญา (IP Mart) เลยด้วยซ้ำ ซึ่งจริงๆ เราต้องทำตัวเองให้แข็งแรงก่อน
Q : แล้วอย่างผู้ประกอบการจีนที่เข้ามาขายของถูกอยู่ในตอนนี้
ส่วนตัวมองว่า ไม่อยากให้ไปแข่งขันเรื่องราคา เพราะคงสู้ไม่ได้ แต่อยากให้มองที่แนวคิด “Economic Moat” ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ทำธุรกิจให้เหมือนป้อมปราการที่มีคู่น้ำล้อมรอบ คือ ให้ลองมองดูว่ามีวิธีไหนบ้างที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาตีเราได้ เรามีจุดเด่นอะไรบ้าง หรือทำยังไงให้สินค้าของเรา 3-6 เดือน ลูกค้าต้องกลับมาซื้อ นี่คือ โจทย์ที่ต้องคิดให้ได้
Q : อยากให้แนะนำทางรอดของ SME ไทย ในวันที่คู่แข่งเข้ามาจากหลายทิศทาง
มีอยู่ 3 เรื่องที่คิดว่าผู้ประกอบการต้องปรับตัว คือ 1. สินเชื่อ แหล่งเงินทุน ถ้าธุรกิจสภาพยังดีอยู่ สามารถยื่นเรื่องขอกู้ได้ ก็ควรศึกษาและสำรองเอาไว้บ้าง เพื่อให้กระแสเงินสด (Cash Flow) ในธุรกิจยังคล่องตัว ซึ่งจริงๆ มีหลายสถาบันการเงินพร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ยกตัวอย่างเช่น SME D Bank ที่มีดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ SME 1-3% รวมถึงแบงค์อื่นๆ ตอนนี้มีการปล่อยสินเชื่อ Green Economy กันเยอะขึ้น
2.ผู้ประกอบการไทยหลยคนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจด Trademark, Patent หรือ IP Mart เลยด้วยซ้ำ ผิดกับผู้ประกอบการจีนที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ยกตัวอย่างเช่น การจด Trademark ตัวเลขผู้ประกอบการชาวจีนน่าจะมีอยู่ประมาณ 8.9 ล้าน Trademark ในขณะที่ไทยมีการจดแค่เพียง 39,000 Trademark เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าความน่าจะเป็นมาก เพราะจะทำให้เราไม่สามารถขยายไปตลาดต่างประเทศได้เลย และ
3. Social Commerce และ Live Streaming ถ้าคิดจะทำการค้าออนไลน์ ก็ต้องทำให้ได้ ซึ่งในจีนถือว่าจริงจังมาก ไลฟ์กันตลอด 24 ชม. ไลฟ์ขายกันทีทำรายได้หลักหลายสิบล้านบาท ซึ่ง TikTok จีน หรือ “โต่วอิน” ประกาศว่ารายได้ธุรกิจออนไลน์จากหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากวิดีโอไลฟ์สตรีมมิ่งถึง 70% ในปีหน้าหรืออีกไม่นานนี้ทางสมาคมอีคอมเมิร์ซไทยจะร่วมมือกับโต่วยิง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดช่องไฟล์ขายสินค้าในแพลตฟอร์มติ๊กต๊อกของจีนได้ โดยไลฟ์อยู่ที่ไทยนี่แหละ แต่เอาสินค้าไปไว้ที่ Warehouse ที่จีน พอสินค้าขายได้ที่นี่ ก็ชิปปิ้งในจีนได้เลย
Q : ในปีหน้าเทรนด์อีคอมเมิร์ซจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้เราได้เห็นกันบ้าง และจะโตขึ้นกว่านี้ไปอีกเยอะไหม
คิดว่าคงอยู่ที่ 10-20% แต่การ Live Streaming จะมีเพิ่มมากขึ้น อาจจะถึง 30% ก็ได้ สำหรับเรื่องเทรนด์อีคอมเมิร์ซถ้ามองอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป คงเป็น Meta-Commerce มาจาก Metaverse + E-commerce ที่เคยพูดไว้ ต่อไปแค่ขยิบตา 1 ครั้ง สินค้าก็มาส่งถึงบ้านได้ นี่คือ เทรนด์โลกอีคอมเมิร์ซในอนาคตที่จะไป
แต่สำหรับเทรนด์อีคอมเมิร์ซในตอนนี้ คิดว่ายังเป็นการตลาดที่ต้องพึ่ง KOL (Key Opinion Leader) และ KOC (Key Opinion Customer) ค่อนข้างเยอะ ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ต้องลองหัดเป็นครีเอเตอร์เองให้ได้ด้วย เช่น Personal Branding ที่ซีอีโอหลายแบรนด์ทำอยู่ ตอนนี้เทรนด์มันมันแบบนี้จริงๆ อีกเรื่องที่มองว่าจะมา คือ E-Retailing หรือการค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ อย่างในจีนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซเกินครึ่ง คือ มาจาก E-Retailing เลย สำหรับในไทยตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 5-15% ผู้ประกอบการจึงต้องหันมาเพิ่มสินค้าใหม่ สินค้าอินโนเวชั่น หรือจะไปด้าน Go Green ก็ได้ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับธุรกิจตัวเอง ยุคนี้ถ้าไม่แตกต่าง คนก็ไม่ซื้อ
Q : ขอคำถามสุดท้าย ถ้ามองในเชิงการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจีน หรือชาติอื่นๆ คิดว่าผู้ประกอบการไทยเรามีความเสียเปรียบได้เปรียบยังไงบ้าง
จากที่ตัวเองก็เคยได้ไปร่ำเรียนที่ประเทศจีนมา สิ่งที่รู้สึกเลยระหว่างความแตกต่างของผู้ประกอบไทยและจีน ก็คือ ผู้ประกอบการชาวจีนมีความไฟต์ติ้ง ความเป็นเลือดนักสู้ค่อนข้างเข้มข้นมากกว่า เป็นประเทศที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ครั้งหนึ่งเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นนักลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่จีน เขาบอกเลยว่า คนจีนเขาไม่จำที่ 2,3 เขาจำแค่ที่ 1 สิ่งนี้เลยทำให้เขาไปได้ไกล และเติบโตได้เร็ว จนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในหลายๆ สถิติโลกได้ ฉะนั้นปัจจัยภายในตัวเอง เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันกับทักษะปัจจัยภายนอกที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี