ไทรสุก ธุรกิจสุดครีเอท เล่าเรื่องเขาใหญ่ผ่านไอศกรีม

Text: Wipawan Inwakul


     ใครว่าหาข้อมูลความรู้ต้องแค่ในหนังสือ หรือโลกอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ตอนนี้ร้านไอศกรีมก็สามารถให้ความรู้ที่ถ่ายทอดออกมาพร้อมความอร่อยได้แล้ว

     จากการผนวกความฝันของ “เต้ย-ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน” ไกด์นำเที่ยวสำรวจป่าเขาใหญ่ ผู้คลั่งไคล้ในการถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ และ “แนน-วราภรณ์ มงคลแพทย์” แฟนสาวเจ้าของธุรกิจแปรรูปผลไม้ ผู้หลงใหลในเรื่องของวัตถุดิบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และจินตนาการ จนเกิดเป็น “ไทรสุก” ร้านไอศกรีมที่มีกิมมิคการถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์ป่าและธรรมชาติของเขาใหญ่ ผ่านรสชาติแสนอร่อยและสีสันที่สวยงาม

จากความชอบส่งต่อสู่ไอเดียธุรกิจ

     เต้ย เล่าว่าเขาชอบเดินป่ามากๆ และมีความฝันอยากเล่าเรื่องราวความสวยงามและความหลากหลายของสัตว์ป่ารวมถึงพืชพันธุ์นานาชนิดในเขาใหญ่ แต่จะให้ไปนั่งเล่าปากเปล่าหรือเขียนบรรยายลงเพจก็ดูจะธรรมดาเกินไป จึงได้หยิบความชำนาญของแฟนในการทำไอศกรีมมาผสานเข้ากับความฝันของตัวเองดูจะเป็นอะไรที่น่าสนใจดี

     จึงเริ่มต้นคิดโปรดักส์ของร้านโดยตั้งโจทย์ว่าไอศกรีมทุกแท่งในร้านจะต้องได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายและสีสันของสัตว์ป่าและธรรมชาติ โดยขั้นตอนการคิดจะมีอยู่ 2 วิธี

     1. ดึงคาแรคเตอร์ของสัตว์แต่ละชนิดออกมาเป็นตัวตั้ง เช่น สี หรือ ลวดลาย และนำมาจับคู่กับวัตถุดิบที่มี

     2. นำวัตถุดิบเป็นตัวตั้ง และหาคาแรคเตอร์ของสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกับสีสันของวัตถุดิบ

     ส่วนชื่อของรสชาติจะตั้งตามชื่อของสัตว์ชนิดนั้นๆ ที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจ ตัวอย่างเช่น ไอศกรีมรสแรกของร้าน อย่าง รสนกกก นกเหงือกขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย คาเเรคเตอร์สี คือ เหลือง ดำ ขาว ที่สีเหลืองได้จาก มะม่วง เสาวรส ส้ม สีขาวจากครีมชีส และสีดำจากโอริโอ้ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่รสชาติเข้ากันอย่างลงตัว

     ไม่ใช่เพียงชื่อ และสีสันของไอศกรีมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ป่า “ไทรสุก” ชื่อร้านแสนเก๋ของเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ต้นไทรไม้ยืนต้นสุดสง่า และเมื่อผลของมันสุกงอมก็กลายเป็นภัตคารระดับห้าดาวให้กับเหล่าสัตว์ป่าที่พร้อมใจกันมารุมล้อมอยู่ที่ต้นไทร เลยนำโมเดลไทรสุกในธรรมชาติมาตั้งเป็นชื่อร้าน เพื่อเป็นที่ให้ลูกค้ามารวมตัวกันร่วมลิ้มลองไอศกรีมแสนอร่อย

ความตั้งใจที่จะเป็น Khao Yai Wildlife 101

     ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติ ไม่มีใครนึกถึงร้านไอศกรีมแน่นอน เพราะดูจะต่างขั้วกันอย่างสิ้นเชิง แต่สำหรับไทรสุกแล้วความตั้งใจของแบรนด์คืออยากให้ลูกค้ากินไอศกรีมและนึกถึงความสวยงามของธรรมชาติและสัตว์ป่าตัวนั้น

     การที่ตั้งชื่อด้วยชนิดของสัตว์ป่า ลูกค้าไม่มีทางรู้เลยว่าส่วนผสมคืออะไรบ้าง แต่การตั้งชื่อแบบนี้อย่างน้อยคือทำให้ลูกค้าได้รู้จักกับสัตว์ป่าและพืชพันธ์ในเขาใหญ่ ได้รู้สัตว์ตัวนี้มีลักษณะสีประมาณแบบไหน สำหรับลูกค้าบางท่านก็นำไปต่อยอด พอได้ขึ้นเขาใหญ่ เห็นสัตว์ป่า ก็นึกได้ว่าสีประมาณนี้ ใช่สัตว์ที่เป็นชื่อไอศกรีมที่ร้านหรือเปล่า บางท่านก็กลับมารีวิวว่าเจอนกตัวนี้สีแบบเดียวกับไอศกรีมที่ได้ทานไป ซึ่งชื่อเป็นเหมือนด่านแรกที่ทำให้รู้จักกัน

     “เพื่อตอกย้ำว่าร้านไอศกรีมกับสัตว์ป่า เป็นการผสมผสานที่ไปด้วยกันไปจริงๆ ผมจึงจัดโซนให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของสัตว์ป่าเขาใหญ่ ผ่านฐานการเรียนรู้กว่า 7 ฐาน พร้อมทั้งโซนที่เปรียบเสมือนจุดกระจาย passion ของผม อย่างโซนแกลลอรี่ จัดแสดงภาพถ่ายจากป่าเขาใหญ่โดยฝีมือการกดชัตเตอร์ของเอง ซึ่งทั้งสองโซนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้า เข้าถึงความตั้งใจในการเล่าเรื่องราวสัตว์ป่าผ่านไอศกรีมได้มากยิ่งขึ้น ”

     และจะขึ้นชื่อว่าเป็นไอศกรีมแห่งป่าเขาใหญ่ได้อย่างไร ถ้าขาดวัตถุดิบจากท้องถิ่น ปัจจุบันไทรสุกมีไอศกรีมประมาณ 30 รสชาติ ซึ่ง 40 – 50% ของตู้ไอศกรีมเขาเลือกใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น โกโก้ วนิลา เสาวรส มะม่วง แต่ความยากของการเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นคือไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะวัตถุดิบธรรมชาติให้ผลตามฤดูกาล จึงต้องเดินหน้าหาแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่ที่สามารถให้ผลผลิตได้ทั้งปี

ไอเดีย + การสื่อสารที่ดี = สำเร็จ

     ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ไทรสุกได้ออกรสชาติไอศกรีมมามากมาย ผ่านการคิดค้นและทดลองของเต้ยและแนน ทั้งวัตถุดิบ รสชาติ การนำเสนอ และเทรนด์ต่างๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆอยู่เสมอ ไทรสุกใช้ไอศกรีมเป็นตัวสื่อสารเหมือนเป็นสำนักข่าวรูปแบบนึง ให้คนได้รับรู้โดยนำเสนอผ่านไอศกรีม มีการเล่าเรื่องผ่านเพจว่าไอศกรีมแต่ละแท่งมีเรื่องราวมาอย่างไร เต้ยรับหน้าที่บรรยายด้านของเรื่องราว แรงบันดาลใจ ส่วนแนนรับหน้าที่บรรยายด้านส่วนผสม และรสชาติ

     เต้ย เล่าว่า ความท้าทายที่ทำให้เห็นว่าไอเดียอย่างเดียวไม่พอ การสื่อสารต้องดีด้วย คือการออกรสชาติ I’m Here ไอศกรีมที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเงินตัวทอง ที่ออกแบบไอศกรีมได้เหมือนจนเกิดการถกเถียง 2 ฝ่าย ทั้งอยากลองรสชาติ และเหมือนจนไม่กล้าทาน เขาเลือกใช้การสื่อสารธรรมชาติ ประวัติ และหน้าที่ของสัตว์ชนิดนี้ จนทำให้คนสนใจเกิดเป็นกระแส และเป็นผลเชิงบวกให้กับแบรนด์

     “อย่างที่เห็นหลายๆ แบรนด์ ตั้งชื่อสินค้าแปลกๆ โดยไม่ได้สอดคล้องกับสินค้า แต่ไทรสุกตั้งใจอยากเล่าเรื่องจึงจำเป็นต้องสอดคล้องกันระหว่างชื่อและสินค้า ด้วยความชอบถ่ายรูปทุกครั้งที่ดูรูปถ่ายจะทำให้นึกถึงประสบการณ์ ความรู้สึก ย้อนกลับไปในรูปนั้น เลยอยากเป็นร้านที่ต้อนรับคนที่ชื่นชอบสัตว์ป่าและธรรมชาติ พอได้มาทานไอศกรีมก็จะทำให้ย้อนกลับไปเหมือนการดูรูปถ่าย เราเลยตั้งใจให้สีต้องเหมือน หรือคล้ายคลึงให้มากที่สุด” เต้ยกล่าวปิดท้ายว่า การทำธุรกิจในยุคนี้กระแสโซเชียลเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นกุญแจดอกสำคัญคือคุณภาพ เรื่องราว และรสชาติ ที่จะทำให้แบรนด์คงอยู่ได้ตลอดไป

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล