มิติใหม่ร้านอาหารไทย! Mr.Kanso ธุรกิจบาร์อาหารกระป๋อง จากญี่ปุ่นสู่สาขาแรกในไทยที่สงขลา

Text: Neung Cch.

Photo: Mr.Kanso


     สงขลาไม่ได้มีแค่ทะเลหาดสะมิหลา หรือตลาดกิมหยง แต่ยังมีบาร์อาหารกระป๋องสุดเก๋ที่แรกในไทยและยังเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

     นี่คือเรื่องราวของ Mr.Kanso บาร์อาหารกระป๋องจากญี่ปุ่นที่ เอก-เศรษฐกรณ์ รัตนาชัยโรจน์ หนุ่มสงขลาได้ลิ้มชิมรสแล้วรู้สึกถูกปากถึงขั้นตัดสินใจขอซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นที่ใช่จะได้มาง่ายๆ เพราะต้องใช้ลูกตื้อเป็นเวลา 3 ปี กว่าจะทำให้เจ้าของใจอ่อนยอมเปิดใจให้นำเข้ามาเปิดที่สงขลาบ้านเกิด

     หนุ่มใต้คนนี้มองเห็นโอกาสอะไรจากร้านอาหารบาร์กระป๋องทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ได้ถูกไปกว่าอาหารทั่วไป แถมคนไทยส่วนใหญ่ยังชอบทานอาหารสดปรุงใหม่มากกว่า ที่สำคัญไม่มีธุรกิจต้นแบบ ไม่มีตำรา ไม่มีการการันตีความสำเร็จใดๆ มีแต่ความมั่นใจในตัวสินค้ากับความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค

     ผ่านไปราวสองปี ร้านแห่งนี้ไม่เพียงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั้งไทยและเทศ ยังได้รับการตอบรับจากร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ ที่สำคัญยังได้รับการทาบทามให้ไปเปิดร้านในกรุงเทพฯ ซึ่งเอกได้แต่ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลคือ เพื่อรอเวลาที่พร้อมกว่านี้และที่สำคัญ เขาอยากทำบางสิ่งบางอย่างให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับจังหวัดบ้านเกิดตัวเองบ้าง..ก็แค่นั้น

รสชาติที่ชอบกับคอนเซปต์ที่ใช่

     ไม่ใช่แค่ความประทับใจในรสชาติอาหารกระป๋องของ Mr. kanso ที่เอกบอกว่ารสชาติไม่เหมือนกับการทานอาหารกระป๋องแต่เหมือนได้ทานของสด มิหนำซ้ำยังมีให้เลือกมากกว่า 300 SKU มีทั้งของหวาน ขนมเค้ก ผัก ผลไม้ ปลาทะเลน้ำลึกที่หาทานได้ยาก หรือ แม้แต่เนื้อม้า สิงโตทะเล แมวน้ำ

     นอกจากจะเป็นเมนูอาหารที่ว้าวหาทานยากและไม่ผิดกฎหมายในญี่ปุ่นแล้ว ตัวคอนเซปต์ของร้านก็ทำให้เอกรู้สึกว้าวไม่แพ้กันคือ เป็นบาร์อาหารกระป๋องให้คนมานั่งทานกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นการรีแลกซ์หลังเวลาเลิกงาน

     เอก บอกว่าเขารู้จักร้านนี้ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งจุดกำเนิดของกานผลิตอาหารกระป๋องร้านนี้ มาจากประเทศญี่ปุ่นนั้นมีภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติบ่อยมาก ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว เมื่อเกิดภัยเหล่านี้ประชากรของเขาออกไปไหนลำบาก Mr. Kanso จึงเกิดไอเดียนำวัตถุดิบที่เก็บไว้ได้นานปรุงเป็นอาหารบรรจุกระป๋องเพื่อเก็บไว้กินยามฉุกเฉิน เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ปี 2002 ทำแกงกระหรี่และไข่ม้วน

     "ถ้าให้เปรียบ Mr. Kanso ก็เหมือนแหล่งรวมโอท็อปของดี OTOP ที่ญี่ปุ่นมาจำหน่ายในร้าน และปัจจุบันก็มีกว่า 30 สาขาทั่วประเทศ”

ของดีไม่ต้องตะโกนมาก

     นับจากวันที่เขาไปชิมต้นตำรับอาหารกระป๋องที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2017 และรู้สึกว่าน่าจะมาทำเป็นธุรกิจในไทยได้ และรู้สึกว่าน่าจะมาทำเป็นธุรกิจได้จึงได้พยายามติดต่อที่จะซื้อลิขสิทธิ์ Mr. Kanso เพื่อมาเปิดสาขาในไทย ซึ่งต้องใช้เวลาเจรจากว่า 3 ปี กว่าจะได้มาเปิดที่สงขลาเมื่อปี 2022

     “เนื่องจาก Mr. Kanso จริงๆ เขาไม่อยากส่งออกนอกประเทศ เพราะเขาอยากให้คนในประเทศได้ทานของดีๆ ด้วยความที่ผมเคยทำงานกับคนญี่ปุ่นทำให้พอรู้จักนิสัยใจคอ จึงใช้ลูกตื้อแต่ต้องไม่ใช่การตื้อน่าเกลียดเกินไป เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจจริง กระทั่งเขาใจอ่อนได้เปิดที่ไทยเป็นสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เอกเล่าถึงสาเหตุที่ต้องใช้เวลาในการเจรจาหลายปี

     การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ว่ายากแล้ว อุปสรรคในการทำตลาดเอกบอกว่าก็ยากไม่แพ้กัน เนื่องจากคนไทยนั้นชอบทานของปรุงสดมากกว่าอาหารกระป๋อง รวมทั้งราคาอาหารกระป๋องที่ค่อนข้างสูง อย่างปูอลาสก้าที่ราคาประมาณ 4,000 แต่ด้วยความเชื่อมั่นใจตัวสินค้า และด้วยความชอบส่วนตัวที่อยากหาทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค เขาจึงตัดสินใจที่จะนำอาหารกระป๋องประมาณ 100 รายการ ที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 95 บาท คือ ไข่นกกระทาต้มเกลือออร์แกนิก ไปจนถึงที่มีราคา 900 กว่าบาท อย่างพีชขาวชิมิสึ ราชินีแห่งพีชจากจังหวัดโอคายาม่า

     “ของบางอย่างไม่ต้องตะโกน มันก็มีคุณค่าของมัน โดยเฉพาะสินค้าญี่ปุ่นทุกกระป๋องจะมีเรื่องเล่า เช่น ปลาไหล ทำจากร้านเปิดมาร้อยกว่าปี ใช้ปลาในทะเลสาบฮามานะมีชื่อเสียงของญี่ปุ่น รสชาติอร่อยไม่คาว ราดด้วยซอสของญี่ปุ่น ดังนั้นเราแค่พยายามที่จะสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ เพื่อทะลายกำแพงเหล่านี้ให้หมดไป”

เล่าเรื่องดีมีผล

     ปัจจุบันเอกเปิดร้าน Mr. Kanso สองสาขาคือ ที่มาเลเซีย กับสงขลา สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักๆ ในจังหวัดสงขลาคือนักท่องเที่ยวทั้งที่มาจากกรุงเทพ ชาวต่างชาติ แล้วก็มีกลุ่ม back pack กลุ่มที่ซื้อของจำนวนมาก ซื้อติดไปแค้มปิ้ง เพราะสะดวก กินง่าย ซึ่งบางอย่างไม่ต้องใช้ไมโครเวฟอุ่นแค่ต้มน้ำให้ร้อนแล้วเอากระป๋องแช่ก็ทานได้

     “การมีเรื่องเล่า ประสบการณ์เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะทำให้ผู้บริโภคสนใจ ถ้าโชคดีเขาเข้าใจและอินกับเรื่องราวเราก็ได้ลูกค้า แต่ถ้าเขายังไม่ซื้อเขาก็อาจไปเล่าให้คนอื่นฟังต่อคนอื่นอาจจะมาเป็นลูกค้าแทนก็ได้ อย่างน้อยก็มีเรื่องคุยสื่อสารระหว่างเรากับลูกค้า” เอกกล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับย้ำว่า ถ้าอยากทำธุรกิจแบบยั่งยืน ไม่ควรธุรกิจตามกระแสแม้จะทำให้คืนทุนได้เร็วแต่ไม่ยั่งยืน อยากให้ผู้ประกอบการมองหาความแตกต่างและศึกษาข้อมูลให้ดีจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนมากกว่า

ข้อมูลติดต่อ

Facebook. https://www.facebook.com/mrkansoth/

Tel. 065 232 4685

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล