tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : N.S / tISI

     ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้

     แต่นั่นอาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่ถูกคิดขึ้นมาโดย แบม-ธันยพร กิจจาเสถียรพันธุ์ ที่มีความเชื่อว่า ไม่จําเป็นต้องใช้ความพยายามในการอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

     ถึงแม้ไม่ได้ร่ำเรียนสายแฟชั่นมาโดยตรงตั้งแต่แรก แต่จากความชอบส่วนตัว จึงไปศึกษาเพิ่ม จนทำให้ได้พบกับแนวทางสร้างแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของผ้าทอพื้นเมืองภาคเหนือ และการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้มาดีไซน์ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น สามารถนำมาใส่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบของเสื้อแจ็คเก็ต, กางเกงยีนส์, เสื้อ ฯลฯ ที่เท่ไม่แพ้แบรนด์นอกเลย

ประยุกต์ภูมิปัญญา ให้ใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

     “จริงๆ ไม่ได้เรียนทางแฟชั่นโดยตรงตั้งแต่แรก ตอน ป.ตรี จบอักษรศาสตร์ เอกภาษาอิตาเลียน ระหว่างเรียนได้มีโอกาสเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ ทำให้ได้รู้จักกับศิลปินอิตาลีหลายคนที่นำแรงบันดาลใจจากรูปภาพเก่าๆ มาออกมาเสื้อผ้าของตัวเอง เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เรารู้สึกอยากทำแบบนั้นบ้าง เลยไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจแฟชั่น ที่อิตาลี

     “พอจบมา ก็ไปเรียนเพิ่มด้านภาคปฏิบัติอีก 2 ปีครึ่ง เกี่ยวกับการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นที่เมืองไทย ทำให้ได้เริ่มรู้จักผ้าทอของไทยมากขึ้น และการย้อมสีธรรมชาติ จึงมีความสนใจและอยากนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านั้น มาผสมผสานกับการออกแบบดีไซน์ร่วมสมัย ทำเป็นเสื้อผ้าที่สามารถนำมาใช้ใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะจำได้ว่าแต่ก่อนเราเองเคยไปเดินงานโอทอป 5 ดาว เราชอบวัตถุดิบ ชอบความเป็นงานฝีมือนะ แต่กลับรู้สึกไม่มีอะไรที่เราอยากได้เลย เพราะไม่รู้ว่าจะเอามาใช้ทำอะไร พอได้มาทำแบรนด์ของตัวเอง ก็เลยอยากทำขึ้นมา เพื่อสื่อสารออกไปให้ทุกคนรู้ว่า ของไทย ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าแบรนด์นอกนะ” ธันยพรเล่าที่มาของแบรนด์ tISI ให้ฟัง

ลงมือสร้างเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบ จนตัดเย็บ

     หลังจากได้คอนเซปต์แบรนด์ ธันยพรก็เริ่มต้นให้ความสำคัญตั้งแต่การเฟ้นหาวัตถุดิบที่ใช่ ขับรถขึ้นเหนือไปตามชุมชนบนยอดดอยต่างๆ จนได้เจอกับ “บ้านสันดินแดง” อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีฝีมือการทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติ จึงได้ลงไปคลุกคลีทำงานร่วมกับชาวบ้าน ตั้งแต่การออกแบบโทนสีที่ต้องการ, ลวดลายการทอ, การปักผ้า

     “เรามีมายเซ็ตว่า วันหนึ่งจะต้องพาแบรนด์ไปขายที่ห้างดังในฝรั่งเศสให้ได้ พอคิดแบบนี้ ทุกอย่างเลยต้องแข็งแรงตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่วัตถุดิบที่นำมาใช้ ไม่งั้นเราก็จะเหมือนกับคนอื่น เราใช้เวลาสื่อสาร ทำความเข้าใจกับชาวบ้านอยู่นานเกือบปี กว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ พอได้ผ้าที่ต้องการแล้ว มาถึงขั้นตอนการตัดเย็บ ด้วยความที่ผ้าทอมือของที่นี่จะทอด้วยกี่ทอเอว ทำให้ได้ออกมาเป็นผ้าเล็กๆ ขนาดประมาณถุงย่ามใบเล็ก ไม่ได้เป็นผ้าผืนใหญ่แบบที่ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าทั่วไป เลยต้องมีการออกแบบแพทเทิร์นขึ้นมาเป็นพิเศษ ว่าต่อผ้าแบบไหนถึงจะพอดี ใส่แล้วสวย เย็บออกมาแล้วตะเข็บไม่นูนขึ้นมาเป็นก้อน ไม่รุ่ย”

นำด้วยดีไซน์ รับผิดชอบด้วยความยั่งยืน

     ธันยพรเล่าว่า เสื้อผ้าของ tISI มีจุดเด่น คือ เป็นสไตล์การออกแบบที่เรียกว่า “Work Wear” ได้รับรางแรงบันดาลใจมาจากยูนิฟอร์มของชนชั้นแรงงานที่เน้นความทนทาน มีฟังก์ชั่นการใช้งานค่อนข้างเยอะ เป็นแฟชั่นยุค 1920-1980  รวมไปถึงการเลือกใช้โทนสีพาสเทลสดใสที่คิดค้นเฉดสีขึ้นมาเอง จึงทำให้โดดเด่น และแตกต่างจากแฟชั่นผ้าทอทั่วไป โดยมีทั้งเสื้อเชิ้ต, เสื้อกล้าม, แจ็คเก็ต, กางเกงยีนส์, กางเกงหูรูด ฯลฯ

     “การทำแบรนด์แฟชั่น สิ่งที่จะดึงดูดลูกค้าได้ ก็คือ เราต้องมีสไตล์ที่ชัดเจนของตัวเองก่อน ทำให้คนจดจำเราได้ ว่าถ้าเป็นสไตล์ที่เขาชอบ เขาก็จะเข้ามาหาเราเอง เป็นการสื่อสารออกไปที่สิ่งที่ง่ายที่สุด แล้วค่อยมารู้ทีหลังว่ามีคุณสมบัติพิเศษ เป็นงานผ้าทอมือนะ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกว้าว! และเพิ่มคุณค่าให้กับงานได้ แต่อันดับแรกต้องทำให้เขาชอบและสนใจก่อน”

     สำหรับการผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ tISI ไม่ได้เน้นการผลิตออกมาเป็นคอลเลคชั่นตามเทรนด์ที่ต้องเปลี่ยนไปทุกฤดูกาล แต่จะใช้วิธีค่อยๆ ทดลองผลิตออกมาจำนวนไม่เยอะชิ้นก่อน เพื่อทดลองตลาด หากไปได้ดีจึงค่อยผลิตเพิ่มขึ้นมา เพื่อไม่ให้ผลิตออกมามากเกินความต้องการ และสอดคล้องกับรูปแบบงานภูมิปัญญาที่ต้องค่อนข้างใช้ระยะเวลาในการผลิต  รูปแบบใดที่ยังคงเป็นที่นิยม ได้รับความนิยมอยู่ ก็จะผลิตออกมาเรื่อยๆ และเพิ่มแบบใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างตามเทศกาล

     “เสื้อผ้าของแบรนด์ tISI เราจะไม่ได้ผลิตออกมาตามแฟชั่นที่ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกซีซั่น เราไม่อยากทำแบบนั้น รู้สึกว่าทำไมต้องทำให้เสื้อผ้าของเราเก่า เราอยากเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ได้เรื่อยๆ ใส่ได้ทุกวัน การไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ หรือไปซื้อใหม่ แต่ทำให้ใช้ได้นานๆ เรามองว่า นี่คือ ความยั่งยืนที่ง่ายที่สุด และของเราเป็นแบรนด์ค่อนข้างลักซูรี ไม่ได้ผลิตออกมาทีละ 200-300 ตัวอยู่แล้ว คำว่า แฟชั่น มันขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะนิยามยังไง สำหรับเรามองว่า มันคือ สไตล์ที่ชัดเจน เพราะจริงๆ คำว่า tISI มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณที่มีความหมายว่า ‘It’s me’ หรือ ‘ตัวตนของฉันเอง’ ซึ่งเราต้องการสื่อถึงการเป็นตัวเองในแบบที่ไม่ต้องตามใคร เลือกเป็นในแบบที่ตัวเองต้องการได้อย่างอิสระ”

     ปัจจุบันแบรนด์ tISI มีจำหน่ายทั้งในเมืองไทย 2 สาขา ได้แก่ เกษรอัมรินทร์ และ One Bangkok สำหรับต่างประเทศมีเปิดเป็นร้านมัลติแบรนด์ที่อังกฤษและอินเดีย

     โดยธันยพรได้ฝากถึงใครที่อยากเริ่มต้นธุรกิจทำธุรกิจของตัวเองว่า

     “สำหรับใครที่กำลังคิดอยากจะทำธุรกิจขึ้นมา อยากให้ลองหาตัวเองให้เจอว่าเราอยากทำอะไร ซึ่งไม่ใช่แค่ความชอบ แต่ต้องดูว่าเราจะอยู่กับมันได้ไหมด้วย ลองเช็คตัวเองว่าสมมติถ้าวันหนึ่งตัดทุกอย่างออกไป แล้วเหลือแค่สิ่งๆ นี้ เราจะสามารถอยู่กับมันได้ไหม ยังมีความสุขที่จะทำอยู่หรือเปล่า เพราะการจะทำอะไรขึ้นมาสักอย่างให้สำเร็จได้ ไม่ใช่แค่เงินทุนอย่างเดียว คุณต้องมีการเสียสละบางอย่าง เช่น เวลา ที่ต้องทุ่มเทลงไปด้วย”

ข้อมูลติดต่อ

IG : tisi_tisai

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล