เมื่อทายาทโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู พลิกโฉมธุรกิจ สร้างแบรนด์ Sooo Guichai จนขายได้วันละ 1,000 ลูก

TEXT : Ratchanee P.

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์


     ถ้าพูดถึงขนมกุยช่าย ก็ต้องเป็นกุยช่ายตลาดพลู ที่ว่าแป้งนุ่มอร่อย แต่ถ้าถามคนรักสุขภาพ หรือคนรุ่นใหม่ๆ อาจจะส่ายหน้าหนี เพราะแป้งหนา น้ำมันเยิ้ม นี่จึงเป็นโอกาสของ ที-กิตติคุณ กชกรจารุพงศ์  ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู ที่จะต่อยอดธุรกิจกุยช่าย ด้วยการหาตลาดใหม่ จนเป็นที่มาของ Sooo Guichai (โซกุยช่าย) กุยช่ายแป้งเปลือย เน้นไส้ แป้งน้อย ที่ขายได้วันละ1,000 ลูก

ทำไมกุยช่ายต้องสร้างแบรนด์

     “ขนมกุยช่ายแบบดั้งเดิมเราขายได้อยู่แล้ว ไม่ได้หายไปไหน แต่มันคงไม่โตไปกว่านี้แล้ว เพราะเด็กยุคใหม่ เขาจะไม่กินกัน บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำ แล้วยิ่งมีแป้งเยอะๆ มันๆ ก็ยิ่งไม่เอา คนรักสุขภาพก็ไม่อยากกิน จากประสบการณ์ที่ทำอาหารมาก็คิดว่าน่าจะมีการพัฒนาสูตรใหม่เพื่อเข้าไปหาตลาดใหม่ๆ”

     ที-กิตติคุณ กชกรจารุพงศ์ เล่าถึงที่มาของ Sooo Guichai ก่อนที่จะบอกต่อว่า ครอบครัวของเขาทำขนมกุยช่ายขายมาตั้งแต่รุ่นอาม่า โดยในตอนนี้ทำในลักษณะโรงงานผลิตเพื่อขายส่ง และตัวเขาเองก็ไม่เคยคิดที่จะสืบทอดธุรกิจ เพราะสนุกกับการเป็นเชฟร้านอาหารที่ออสเตรเลีย และมีเป้าหมายของตัวเองแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อทนความรบเร้าของผู้เป็นพ่อไม่ไหว ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเกิดวิกฤตโควิดทำให้ร้านอาหารหลายแห่งปิดตัวลง เลยทำให้ตัดสินใจกลับมารับไม้ต่อธุรกิจ

     “พอคิดว่าคงจะต้องกลับมาทำธุรกิจนี้ ก็เริ่มหาข้อมูลว่ามีตลาดไหนบ้างที่กุยช่ายยังไม่ได้เข้าไป ก็เจอตลาดคนรักสุขภาพที่ไม่ชอบแป้ง แล้วก็กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเจน Z เลยมีไอเดียว่าเราจะทำกุยช่ายแป้งเปลือย คือมีแป้งให้น้อยที่สุด โดยผมพัฒนาสูตรอยู่ที่ออสเตรเลีย ขณะเดียวกันพ่อก็พัฒนาสูตรในแบบของพ่อที่ไทย แล้วเราก็คุยกันตลอดเวลา จนผมกลับมาก็เอาสูตรมาปรับอีกรอบ เพราะวัตถุดิบที่ออสเตรเลียไม่เหมือนไทย

     “พอเป็นสินค้าใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ เลยคิดว่าต้องสร้างแบรนด์ ทำแพ็คเก็จจิ้ง มีโลโก้ แล้วกุยช่ายแป้งเปลือยนี้ ต้นทุนค่อนข้างสูง ราคาก็จะสูงนิดนึง เราขายลูกละ 16 บาท จะไปขายที่ตลาดแบบเดิมๆ คงไม่ได้ เลยตัดสินใจขึ้นห้าง เปิดบูธขายในห้างสรรพสินค้า”

ขายดีเกินคาด

     ความตั้งใจของกิตติคุณนั้น Sooo Guichai ไม่ได้จะมาเปลี่ยนหรือแทนกุยช่ายแบบดั้งเดิม แต่จะเป็นทางเลือกมากกว่า ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดตัวออกบูธขายตามห้างสรรพสินค้าจะได้รับฟีดแบค 2 แบบ คือ ชอบกับไม่ชอบไปเลย

     “ช่วงแรกๆ เราก็ต้องพยายามอธิบายให้คนเข้าใจว่านี่คือขนมกุยช่าย เราพัฒนามาจากกุยช่ายแล้วทำเพื่ออะไร เขาก็จะคิดว่ากุยช่ายแบบเก่ามันก็ดีอยู่แล้วจะมาเปลี่ยนทำไม เราก็ต้องอธิบายต่อว่า Sooo Guichai ไม่ได้จะมาแทนกุยช่ายแบบดั้งเดิม แต่เหมือนเราขยายเส้นทาง ให้มีตัวเลือกมากขึ้น บางคนที่เขายังชอบแบบเก่าก็ยังชอบแบบเก่า แต่คนที่ไม่เคยกินแบบเก่าเลยแล้วมาลองแบบใหม่เขาก็จะชอบ”  

     กิตติคุณ บอกว่าในช่วงแรกของการขาย สัดส่วนจำนวนการขายระหว่างกุยช่ายแบบเดิมกับกุยช่ายแป้งเปลือย อยู่ที่ 50: 50 จากนั้นสัดส่วนของกุยช่ายแป้งเปลือยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งแต่เมื่อเดือนที่ผ่านสัดส่วนพุ่งขึ้นมาประมาณ 20: 80 ซึ่งแสดงว่าคนยอมรับ Sooo Guichai มากขึ้นเรื่อยๆ 

ถึงเวลาพลิกโฉม

     ความพิเศษของ Sooo Guichai คือแป้งน้อย กล่าวคือ จากกุยช่ายแบบเดิมขนาด 65 กรัม จะใช้แป้งประมาณ 20 กรัม แต่ Sooo Guichai กุยช่ายแป้งเปลือยนี้ ขนาด 60 กรัม มีแป้งเป็นส่วนผสมเพียง 3 กรัมเท่านั้น เท่ากับว่าแป้งหายไปถึง 90% ทีเดียว โดยมีให้เลือกถึง 7 ไส้ ได้แก่ ผักกุยช่าย มันแกวกุ้งแห้ง หน่อไม้กุ้งแห้ง เผือก ผักกะหล่ำเห็ดหอม รวมถึงไส้เห็ดรวม และมันม่วง ที่เป็นไส้ใหม่ไม่มีในกุยช่ายแบบเดิมๆ

     นอกจากกุยช่ายแป้งเปลือยแล้ว กิตติคุณยังพัฒนาสู่กุยช่ายแช่แข็ง ที่สามารถเก็บได้นาน และเพียงฉีกซองเข้าไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้อีกด้วย

     “พยายามทำอะไรใหม่ๆ กับกุยช่าย อย่างเช่นทำเป็น Seasonal Menu ตอนที่เปิดตัวก็ทำกุยช่ายทอดเทมปุระ แล้วตอนนี้ก็เปลี่ยนมาทำเป็นเกี๊ยวกรอบไส้กุยช่าย ก็คือกุยช่ายที่เราทำแต่เอามาทำในลักษณะเกี๊ยวกรอบ

     “เราทำ Sooo Guichai มาปีกว่าแล้ว แต่ไม่ได้รีบร้อนว่าจะต้องโตเร็วๆ เลยยังไม่ได้ทำการตลาดอะไร พยายามทำโปรดักต์ขึ้นมาให้ได้ก่อน อยากดูฟีดแบคก่อนด้วยว่าเป็นอย่างไร ให้สินค้ามันสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง จากนั้นจึงค่อยทำการตลาด ตามมาทีหลังอันนี้ นี่เป็นแนวคิดของเรา”

     สำหรับแผนต่อไป กิตติคุณบอกว่าวางแผนที่จะเอา Sooo Guichai เข้าไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

     ในตอนท้ายเขายังฝากคำแนะนำสำหรับทายาทที่จะเข้ามารับช่วงธุรกิจต่อด้วยว่า “ทำธุรกิจของครอบครัวต้องใช้ความเข้าใจ โดยเฉพาะจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง Gen เพราะว่าผมก็เจอเหมือนกัน ต้องปรับความคิดเข้าหากันให้ได้ ส่วนถ้าคนรุ่นเก่าเขาไม่ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่เราทำ เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็นว่า ทำด้วยวิธีการของเรามันก็ใช้ได้เหมือนกัน ดีกว่าที่จะมีแค่วิธีการเดียว เหมือนการที่จะเดินไปให้ถึงเส้นชัย จริงๆ แล้วมันสามารถเดินได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องเดินทางเดียวเสมอไป”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Casper’s Gallery จากของขวัญงานแต่งให้เพื่อน สู่นักวาดภาพงานแต่งเจ้าแรกในไทย 3 ชม. รายได้ตกหมื่นกว่าบาท

ใครจะคิดว่าจากภาพวาดของขวัญวันแต่งงานให้เพื่อนที่ทำอย่างตั้งใจ จะทำให้ แคท - นรินนา ศรีวรรณา ที่ชื่นชอบการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ เห็นโอกาสในการทำธุรกิจภาพวาดงานแต่งขึ้นมา จนสามารถทำรายได้หลักหมื่นบาทในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ไทรสุก ธุรกิจสุดครีเอท เล่าเรื่องเขาใหญ่ผ่านไอศกรีม

จากการผนวกความฝันของ “เต้ย-ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน” ไกด์นำเที่ยวสำรวจป่าเขาใหญ่ และ “แนน วราภรณ์ มงคลแพทย์” แฟนสาวเจ้าของธุรกิจแปรรูปผลไม้ เกิดเป็น “ไทรสุก” ร้านไอศกรีมที่ถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์ป่าผ่านรสชาติแสนอร่อยและสีสันที่สวยงาม