dot.b ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวในเมืองเก่าสงขลา ทำหน้าที่สเมือนสมองเมือง เปิดถึงเที่ยงคืน

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

     การทำร้านหนังสือในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้ทยอยปิดตัวไปเล่มแล้วเล่มเล่า นับเป็นความกล้าที่บางคนเอาความรักในการอ่านมาเดิมพันในสนามของธุรกิจร้านหนังสืออิสระ โดยเฉพาะในเมืองเล็กๆ อย่างสงขลา ที่คนภายนอกแทบมองไม่เห็นโอกาส แต่ dot.b เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้เมืองไม่ขาดร้านหนังสือ

     ตึกเก่าสีขาวสองชั้นดึงดูดสายตาด้วยป้ายบอกขายหนังสือพร้อมอ่าน ที่ถ้ามองผ่านๆ ดูเหมือนป้ายขายตึก สูงขึ้นไปมีป้ายไฟชื่อร้านเล็กๆ มีอักษรดำบนพื้นขาวว่า dot.b ยิ่งมองเห็นน้องแมวนอนฟุบอยู่บนโต๊ะยาวด้านในริมกระจกกับชั้นหนังสือเรียงราย ผมยิ่งอดใจไม่ได้ที่จะผลักประตูเข้าไปสำรวจ ณะ-นคินทร์ พูนศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกำลังถือไม้กวาดไล่ฝุ่นซอกซอนไปตามชั้นวางหนังสือ

     “สงขลาเคยมีร้านหนังสือเล็กๆ ที่ถนนยะหริ่ง แต่เมื่อร้านย้ายไปเชียงใหม่ ผมกับพี่โก้-ธีระพล วานิชชัง จึงอยากเติมช่องว่างของร้านหนังสือในเมืองเก่าให้ต่อเนื่อง เราเริ่มช่วยทำตั้งแต่แรกเริ่ม  โดยผมรับหน้าที่หลักช่วงกลางวัน ในขณะที่พี่โก้จะดูแลต่อในเวลากลางคืน”

     ณะ เริ่มเล่าเรื่องราวของร้านให้ผมรู้จัก พร้อมอธิบายคร่าวๆ ของการใช้พื้นที่

     “เราเปิดมาได้แค่ประมาณ 1 ปี 8 เดือน พยายามให้หนังสือมีความหลากหลาย กลุ่มหลักๆ ที่ขาย เริ่มจากหนังสือที่เราอ่านเอง แล้วน่าสนใจ รองลงมาเป็นหนังสือที่ขายดีรวมกับวรรณกรรมคลาสสิก  เราจัดไว้ที่ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนทำเป็นสเปซโล่งๆ  ปรับเปลี่ยนเป็นลานแสดงงานหรือวงเสวนาบ้างตามแต่โอกาส ถ้าไม่มีอีเวนต์อะไร เราจัดพื้นที่ไว้ให้อ่านหนังสือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่อาจจะไม่ได้สะดวกสบายมาก”

     เมื่อพูดถึงโอกาสทางธุรกิจของร้านหนังสือในย่านเมืองเก่าสงขลา ณะ บอกว่า

     “ทุกคนอาจจะมีคำถามถึงการเปิดร้านหนังสือ แต่เมื่อมีร้านหนังสือ เหมือนเราสร้างพื้นที่ให้คนเห็น กลุ่มคนที่กระจัดกระจายก็จะแสดงตัวขึ้นมาเอง ร้านหนังสือเป็นที่ประเทืองปัญญาของผู้คน แล้วทำไมจะอยู่ไม่ได้ ยิ่งในความเป็นเมือง ที่เป็นเหมือนศูนย์รวมของระดับหัวกะทิอยู่แล้ว  ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินว่าร้านหนังสือกำลังจะตาย เมื่อคนหันไปอ่านหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น สุดท้ายหนังสือก็พิสูจน์ตัวเองว่ายังอยู่ได้ นักเรียนนักศึกษายังเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของ dot.b แนวโน้มของการประกอบการ เราวางเป้าไว้ไม่สูงมาก ภาพรวมก็ยังไปได้ อยู่ในระดับที่พอใจ”

     เมื่อเราพูดถึงเทคโนโลยี การอ่านหนังสือก็หนีไม่พ้นเช่นกัน  หนังสือเล่มกระดาษเริ่มกลายเป็นไฟล์ดิจิตอล แต่ทั้ง ณะ และผม ต่างเห็นพ้องกันว่า ทั้งความรู้สึกในการหยิบจับและสุนทรีในการอ่าน หนังสือเล่มยังได้เปรียบอยู่ดี

     “ส่วนเวลาเปิด-ปิดของร้าน เคยลองเปิดเช้าแต่เงียบ  เราเลยเริ่มนับเข็มนาฬิกากันที่ตอนเที่ยงดีกว่าพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตของพวกเราไปด้วย  และจะได้เป็นภาพจำว่า เราเปิดกลางคืนแน่นอน”

     น่าจะเป็นร้านหนังสือร้านเดียวในสงขลาหรือแค่ไม่กี่ร้านในประเทศที่เปิด-ปิดในเวลานี้

     

     “ตอนทำร้าน เราชอบประโยคหนึ่งว่า เมืองที่ดีควรมีร้านหนังสือ คุณอาจจะไม่ใช่นักอ่านก็ได้ แค่เดินเข้ามาเดินเล่น เข้ามาตากแอร์ อาจจะเจอหนังสือสักเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิต เหมือนที่เราเคยเจอ พอนับหนึ่งแล้ว เมื่อเราทัชกับมันแล้ว การอ่านอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็ได้”

     วันหนึ่งหากการเดินทางของคุณ ได้ผ่านพบร้านหนังสือสักร้านจะเป็น dot.b หรือไม่ใช่  แค่ลองผลักประตูร้านหนังสือเข้าไป บางข้อความในหนังสือที่คุณไม่ได้ตั้งใจเปิดอ่าน  อาจจะสร้างปรากฎการณ์ยิ่งใหญ่ของชีวิต อย่างที่ ณะ สรุปทิ้งท้ายไว้ให้

     ข้อมูลติดต่อ https://www.facebook.com/dot.b.bookstore

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก