ฟัง 3 อาวุธลับองค์กรเล็ก สู้ยักษ์ จากแบรนด์ PDM ขายดีตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิต

TEXT : กองบรรณาธิการ

     อาวุธองค์กรเล็กที่มีต้นทุนไม่มาก สามารถเติบโตได้ผ่าน 3 แกนหลัก ได้แก่ 1.โปรดักต์ดีไซน์ 2.การสื่อสารแบรนด์ และ 3. Data

     นี่คือ 3 เสาหลัก ที่ “ดิว - ดุลยพล ศรีจันทร์” เจ้าของสินค้าตกแต่งบ้านและแบรนด์เสื่อสุดฮอตอย่าง PDM ที่ออกตัวอย่างคอลเลคชั่นใหม่มาทีไร ก็ถูกสั่งจองเต็มตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิต ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจของเขาให้สู้กับแบรนด์ใหญ่ได้ ในสไตล์แบรนด์เล็กสู้ยักษ์ พูดไว้ในงานสัมมนา “SOLD OUT on Stage...แบไอเดีย ขายเกลี้ยงแผง

จากดีไซน์เนอร์สู่เจ้าของธุรกิจ

     ดุลยพล เล่าว่า PDM เติบโตมาจากทีมดีไซน์เนอร์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน วันหนึ่งเมื่อต้องเพิ่มโจทย์จากผู้คิด มาเป็นผู้ขาย ทำให้เจอกับประสบการณ์มากมาย ตั้งแต่ขายดีมาก ขายไม่ได้เลย จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จึงได้พยายามนำดีไซน์ + ความคิดสร้างสรรค์มาใส่ไว้ในกระบวนการสื่อสาร กระบวนการขาย ไปจนถึงการบริหารจัดการสต็อก เป็นแนวคิดการทำงานของ SME ตัวเล็กที่ไม่ได้เงินทุนมากมาย จุดเริ่มต้นจากคนแค่ 2 คน จนปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 20 คน

#เสาแรก : โปรดักต์ดีไซน์

     งานทุกชิ้นของ PDM มีจุดเริ่มต้นมาจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้สินค้าน่าสนใจมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เพิ่มโอกาสธุรกิจสามารถแตกโมเดลการทำงานได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ออริจินัลดีไซน์ หรือสินค้าที่ทางแบรนด์ออกแบบเอง เพื่อจำหน่าย 2. Collaboration กับแบรนด์ต่างๆ เช่น ยูนิโคล่, ไซโก้, รถมินิ ช่วยขยายฐานลูกค้าแบรนด์ให้ใหญ่ขึ้น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 3. Production Supervisor หรือรับออกแบบของพรีเมียมให้ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ตั้งแต่รับออกแบบ คิวซี จนส่งมอบถึงมือลูกค้า และ 4.Select Shop การคัดเลือกสินค้าน่าสนใจจากแบรนด์ต่างๆ นำมาขึ้นแพลตฟอร์มของ PDM เพื่อช่วยขายสินค้าให้

#เสาที่สอง : การสื่อสารแบรนด์

     ดุลยพลมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ โดยเชื่อว่า “แบรนด์จะปกป้องเรา ตอนที่มีพายุเข้ามา” เช่น ในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี มีแพลตฟอร์มซื้อมา-ขายไปเป็น Market Place ขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง SME ไม่สามารถสู้ได้อยู่แล้ว แต่การที่เรามีตัวตน หรือสร้างแบรนด์ขึ้นมา จะทำให้สามารถต่อสู้กับวิกฤตนั้นได้

     “PDM เราเป็นเหมือนครีเอทีฟคอมมูนิตี้ นำเสนอไอเดียแปลกใหม่ที่น่าสนใจ มีคุณค่า เราอยากให้คนที่ถือสินค้า PDM มีความรู้สึกว่าเขาเองก็เป็นคนมีดีไซน์ดี เลือกใช้ของดีๆ เหมือนกับคนถือหลุยส์วิตตอง หรือแบรนด์แฟชั่นแพงๆ ก็มักถูกมองว่าเป็นคนมีฐานะดี มีหน้าตาทางสังคม”

#เสาที่สาม : Data

     แบรนด์ PDM มีกลยุทธ์การตลาดหนึ่งที่เรียกว่า “เบิร์นการตลาด” หรือ “โยนหิน สร้างแบรนด์” ดุลยพลเล่าว่าเขาไม่ได้ทำการรีเสิร์ชตลาดว่าลูกค้าชอบ หรือไม่ชอบอะไร แต่ใช้วิธีพรีเซ็นต์ความเป็นตัวเอง โดยตั้งจากสมมติฐานแค่ว่า “ทุกคนอยากให้บ้านสวย” เพราะฉะนั้นก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่า หากสินค้าชิ้นนี้เข้าไปอยู่ในบ้านเขาแล้ว จะสวยสักแค่ไหน วิธีดังกล่าวทำให้รู้ได้ทันที ตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิตว่าสินค้านั้นสามารถขายได้ หรือไม่ได้ในชั่วข้ามคืน เป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้ธุรกิจได้มาก

     “แบรนด์ใหญ่เวลาจะผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้น ต้องมีการทำรีเสิร์ชผู้บริโภคก่อน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ไปเตรียมการผลิต อาจใช้เวลาร่วมปีจึงจะผลิตสินค้าออกมาขาย แต่ PDM เราเป็น SME เราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะทุกนาที คือ ต้นทุน

     ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามโฟกัส คือ เรามีฐานแฟนคลับคนที่เข้ามาไลค์ คอมเมนต์ แชร์ หรือกดติดตาม ถ้าเรามีห้างฯ คนเหล่านี้ ก็คือ คนที่เดินเข้าห้างเรา คือ ลูกค้าของเรา หน้าที่ของเรา ก็คือ การนำไอเดียเราขึ้นแพลตฟอร์ม ซึ่งเปรียบเสมือนดิสเพลย์ให้เร็วที่สุด และดูฟีดแบ็กว่า อันนี้เป็นสิ่งที่เขาต้องการไหม วิธีนี้ทำให้บางชิ้นเราเปิดพรีออร์เดอร์ ลูกค้ายอมรอนานกว่า 2 เดือนได้”

     และนี่คือ 3 เสาที่ PDM ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจมาตลอดเกือบสิบปี

     ข้อมูลจากงาน “SOLD OUT on Stage...แบไอเดีย ขายเกลี้ยงแผง

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

D'Art Cafe & Coffee Lab คาเฟ่ในหอศิลป์ จ.นราธิวาส จุดเชื่อมโยงที่อยากให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ

ในวันนี้ร้านน้ำชา จ.นราธิวาส บางร้านเริ่มถูกดัดแปลงเป็นร้านกาแฟตามยุคสมัย คนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนผ่านสถานที่รวมตัว D'Art Cafe & Coffee Lab จึงเกิดขึ้นในหอศิลป์ De' Lapae Art Space Narathiwat เพราะอยากจะให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ โดยมีคาเฟ่เป็นจุดเชื่อมโยง

นคร แขฉายแสง จากแรงบันดาลใจในปรัชญาอิคิไก สู่ CATUP โดมแมวอัปไซเคิล

นคร แขฉายแสง วิศวกรผู้รักในงานประดิษฐ์ และลองผิดลองถูกกับการปลุกปั้นชิ้นงานต่างๆ เพื่อหวังเติบโตทางธุรกิจ แต่แล้วในวันหนึ่งเมื่อเขาเข้าใจปรัชญาอิคิไกอย่างลึกซึ้ง จึงเริ่มต้นทำธุรกิจอีกครั้งด้วยความมั่นใจ และคาดหวังว่าจะความยื่งยืนในวิถีอิคิไก

ศิลินลักษ์ ตุลยานันต์ CEO ที่เคยเกือบถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง

เรื่องราวของ เฟิร์น - ศิลินลักษ์ ตุลยานันต์ CEO บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด ผู้นำเข้าและผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหาร ที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง จากความมุ่งมั่น และจริงจังในการทำงานที่มีมากเกินไปจนล้น เป็นยังไง ไปติดตามกัน