เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : กฤษฎา ศิลปะไชย
เมื่อพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไป ความต้องการอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพเพียงอย่างเดียว แต่แฝงไปด้วยเรื่องของความสร้างสรรค์ ดีไซน์ และความต่างอันโดดเด่นที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ได้ เช่นเดียวกับธุรกิจประเภทขนมหวาน ซึ่งวันนี้จะอาศัยเพียงรสชาติเพื่อใช้เป็นเอกลักษณ์อย่างเดียวคงไม่ช่วยให้สินค้ามีจุดเด่นเหนือไปกว่าใครๆ
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ รับขวัญ จิรบวรวิสุทธิ์ หนึ่งในผู้ริเริ่มนำเสนอไอเดียเก๋ๆ มาผสมเข้ากับขนมหวานแสนน่ารักที่เห็นแล้วต้องยิ้มไม่หุบอย่าง เค้กป๊อบ ด้วยความโดดเด่นด้านโฮมเมด และการดีไซน์ขนมให้ออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งความสร้างสรรค์ที่นำศิลปะมาผสานรวมกับความเป็นขนมได้อย่างลงตัว ภายใต้แบรนด์ Pop Me Up
“เป็นเพราะเราเปิดรับแนวความคิดใหม่ๆ จึงได้นำเอาไอเดียจากต่างประเทศมาใช้เพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจ โดยประยุกต์ไอเดียของเขาให้เข้ากับขนมหวานในแบบฉบับของเรา พร้อมทำตามโจทย์ที่ตั้งไว้ว่า โปรดักต์ต้องมีเอกลักษณ์และไม่มีขายเกลื่อนกลาดตามท้องตลาด
สำหรับเค้กป๊อบในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมทำมากนัก หากจะมีก็ยังอยู่ในรูปแบบการปั้นให้เป็นลูกกลมๆ เพียงอย่างเดียว เราจึงทำให้แตกต่างยิ่งกว่าด้วยการออกแบบเป็นตัวการ์ตูนแอนิเมชั่นล้อไปกับกระแสที่กำลังได้รับความนิยมหรือตามที่ลูกค้ารีเควสต์เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น รูปสัตว์ กระเป๋า จักรยาน อาจมีบ้างที่ความต้องการของลูกค้าที่บางชิ้นรายละเอียดเยอะเกินไปจนไม่สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาก็นับว่ามีน้อยมาก โดยขนมทุกชิ้นจะถูกปั้นขึ้นด้วยสองมือล้วนๆ ถือว่าพิถีพิถันและละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ซึ่งจุดนี้เหมือนเป็นเสน่ห์ของ Pop Me Up ที่มีให้ไม่ซ้ำใคร”
นอกจากนั้นแล้วการคำนึงถึงช่องทางการขายก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สำคัญ เพราะเธอมองว่าหากผลีผลามเปิดหน้าร้านใหญ่โตอาจจะพลาดได้และทำให้ธุรกิจไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะการมีหน้าร้านก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าจะประสบความสำเร็จ คงจะดีกว่าถ้าค่อยๆ เดินไปอย่างระมัดระวัง จนมีฐานลูกค้าที่มั่นคงแล้วถึงขยับขยายแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกว้างไกลยิ่งขึ้น
“เรามองว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก การใช้สื่อออนไลน์จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้รวดเร็วที่สุด ดังนั้น การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook Fan Page จึงเป็นทางเลือกแรกที่ปิ๊งเข้ามาในหัว
โดยการทำตลาดในช่วงเริ่มแรกเราก็ขอเพื่อนที่รู้จักให้มาช่วยกดไลก์ จนได้มีการประชาสัมพันธ์ออกไปสักระยะหนึ่งปรากฏว่า Feedback ที่ได้รับกลับมาดีเกินคาด จากตอนแรกรู้จักกันแค่กลุ่มเพื่อน ก่อนจะเริ่มกระจายไปสู่คนไม่รู้จักในลักษณะแบบปากต่อปาก ซึ่งใช้เวลาอยู่ 2 ปีเต็มกับการขายผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก
จนในที่สุด Back Area ของ Pop Me Up มีความแข็งแกร่ง สามารถผลิตสินค้าได้มากตามความต้องการของลูกค้า และเมื่อคำนวณหักลบต้นทุนแล้วธุรกิจไม่บาดเจ็บเราจึงตัดสินใจเปิดหน้าร้านเป็นของตนเอง ถือเป็นการเอาใจลูกค้าที่เก็บกดจากการสั่งผ่านทาง Facebook และต้องผิดหวังจากคิวที่ยาวเหยียด เพราะการทำแต่ละครั้งมีข้อจำกัด อย่างรูปแบบ Customize ในหนึ่งวันมีลิมิตอยู่ที่ 10 กล่องเท่านั้น”
และด้วยความที่เค้กป๊อบจัดว่าเป็นงานโฮมเมด กอปรกับใช้ความพิถีพิถันค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้ขนมหวานชนิดนี้ต่างจากขนมหวานรูปแบบอื่นทั้งด้านคุณค่าและราคา หากลูกค้าไม่เข้าใจในแก่นแท้ของโปรดักต์คงยากที่จะยอมควักเงินออกจากกระเป๋า ดังนั้น เธอมองว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่เรื่องของอายุหรือเพศ แต่ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของลูกค้ามากกว่า
“เรามองลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีความเต็มใจและกำลังจ่ายมากกว่าเพราะชิ้นงานเค้กป๊อบในหนึ่งชุด มีจำนวน 10 ไม้ ราคา 1,000 บาทขึ้นไป หรือตกไม้ละ 100 กว่าบาท ตรงนี้ขึ้นอยู่ที่รูปแบบและรายละเอียดของชิ้นงานด้วย ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจในคอนเซ็ปต์ของโปรดักต์จึงมองว่าของเราราคาแพงเกินจริง
แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีวิธีรับมือ เพราะนอกจากการขายผ่าน Facebook และหน้าร้านแล้ว เรายังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เปิดให้ลูกค้าได้ลงมือทำเค้กป๊อบด้วยตนเอง นอกจากจะเป็นการทำตลาดให้แบรนด์แล้ว ยังเป็นการปรับทัศนคติของลูกค้าให้รู้ถึงขั้นตอนการทำที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูงกว่าจะออกมาเป็นเค้กป๊อบได้หนึ่งชิ้น
ซึ่งตรงนี้อาจจะช่วยให้เขาเข้าใจความเป็นเค้กป๊อบได้ไม่มากก็น้อย ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เวลาว่างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีประโยชน์หรือเป็นกิจกรรมภายในครอบครัว อย่างเคสที่ผ่านมาช่วงวันแม่ ก็มีคู่แม่ลูกมานั่งทำเค้กป๊อบด้วยกัน ถือเป็น Gimmick เล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม”
และด้วยความที่ขนมหวานสามารถรองรับความต้องการของคนได้ทุกเพศ ทุกกลุ่ม ทุกวัย และทุกชาติ ดังนั้นสำหรับรับขวัญแล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเสมือนเป็นโอกาสสำหรับเธอมากกว่า ซึ่งขณะนี้เธอได้เริ่มดำเนินการพูดคุยกับคู่ค้าหรือพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจบ้างแล้ว เพื่อสร้างฐานให้ Brand เข้มแข็ง โดยประเทศที่เธอสนใจจะไปเจาะตลาด ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์
สิ่งเหล่านี้เองที่แสดงให้เห็นแล้วว่าการอยู่บนเส้นทางธุรกิจเพียงแค่ 2 ปีกว่า แต่ด้วยแนวคิดที่สร้างสรรค์และไม่หยุดนิ่ง ส่งผลให้ศักยภาพทางความคิดของ Pop Me Up ล้ำหน้าไปก่อนใคร แน่นอนว่าเมื่อเปิด AEC แบรนด์ Pop Me Up จะสามารถก้าวนำคู่แข่งไปได้หลายก้าวเลยทีเดียว
เว็บไซต์ www.popmeupshop.com
โทร. 0-2381-5355
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของ SME (เอสเอ็มอี)