TEXT : Neung Cch.
PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
“ถ้าบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วเราหยุดตามเศรษฐกิจก็หมายความว่าเราถอยหลัง ดังนั้นในขณะที่หลายคนอาจหยุดแต่ผมกำลังจะออกโปรดักส์ใหม่ 3-4 ตัว”
นี่คือ แนวคิดของ หนุ่ม-ธนจักร เมืองจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยกซด 1988 จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ยกซด” แจ่วฮ้อนกึ่งสำเร็จรูปที่เจ้าตัวตัดสินใจจะเดินหน้าสวนกระแสเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้วยการเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 3-4-รายการ อาทิ ซอสผัดกะเพรา ซอสผัดกระเทียมพริกไทย ซอสผัดไทย
นอกจากเป็นหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจแล้ว เส้นทางการทำธุรกิจ “ยกซด” ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่น่าสนใจให้ผู้ประกอบการ SME ได้เรียนรู้และลองนำไปปรับใช้ ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจที่ไม่มีความรู้ การเอาชนะอุปสรรค ไปจนถึงการต่อยอดธุรกิจที่มีทรัพยากรจำกัดให้เติบโต
รู้ข้อมูล...รู้ทางรวย!
หนุ่มมหาสารคาม เล่าให้ SME Thailand ฟังว่า ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มธุรกิจสิ่งแรกที่ตัวเขาทำคือ การใช้เวลาในการหาข้อมูลก่อนเสมอ อย่างเช่น ก่อนเปิดร้านอาหาร ไปใช้เวลาอยู่บริเวณที่จะเปิดร้านเป็นอาทิตย์ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพื่อสังเกตดูพฤติกรรมกลุ่มคนที่อยู่แถวนั้น ว่าสอดคล้องกับสิ่งที่จะขายไหม มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือเดินแจกใบปลิวให้กับกลุ่มลูกค้าที่อยู่คอนโนมิเนียมกว่า 800 ห้องที่ติดกับร้านอาหารเขา เพื่อพยายามเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ทำความรู้จักลูกค้าในเบื้องต้น เพราะยิ่งได้ข้อมูลลูกค้ามากเท่าไหร่ ก็จะทำให้มีข้อมูลประกอบการทำธุรกิจหลายๆ อย่าง อาทิ การตั้งราคาอาหารที่เหมาะสม
อย่ากลัวที่จะเรียนรู้
เพราะบางครั้งโอกาสก็ไม่มีให้เลือกมากนัก เหมือนกับตอนที่หนุ่มต้องมารับผิดชอบดูแลร้านอาหารทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องอาหารเลยสักนิด แต่ด้วยความคิดที่ต้องการเอาชนะความท้าทาย ฉะนั้นถ้าจะทำให้ธุรกิจนี้รอดได้ สิ่งที่เขาไม่รู้คือ สิ่งที่เราต้องเข้าไปเรียรู้ อาทิ อาศัยป้าแม่ครัวเป็นคุณครูสอนวิชาทำอาหารให้ หรืออย่างตอนที่ตัดสินใจทำร้านแจ่วฮ้อน ก็เริ่มศึกษาหาความรู้ว่าแจ่วฮ้อน เรียนผิดเรียนถูก ทดลองทำ ฟังเสียงลูกค้าจนได้ผลเป็นที่พอใจ
ขายของให้ลูกค้า ไม่ใช่ขายของให้ตัวเอง
หลายครั้งที่คนทำธุรกิจมักพยายามที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เหมือนกับหนุ่มมหาสารคามคนนี้ ตอนที่เปิดร้านแจ่วฮ้อนช่วงแรกๆ เขาคิดว่าวัตถุดิบอย่างโบโหระพาที่ใส่ไปในน้ำซุปนั้นช่วยทำให้แจ่วฮ้อนมันหอม แต่จากการที่เขาสังเกตพบว่าทำไมน้ำซุปในหม้อถึงเหลือเยอะมาก ท้ายที่สุดจากการสังเกตและฟังเสียงลูกค้าจึงทราบต้นเหตุมจากใบโหระพา จึงตัดสินใจเอาวัตถุดิบนี้ออกจากน้ำซุป ปรากฏว่าทุกอย่างดีขึ้น จากตรงนี้ทำให้เขาเรียนรู้ว่า ต้องฟังเสียงลูกค้าเยอะๆ เพราะว่าเราไม่ได้ขายของให้ตัวเอง แต่เราขายของให้กับลูกค้า
ร่างกาย คือ ต้นทุนที่ต้องรักษา
จากการบุกเบิกร้านอาหารที่ใกล้เจ๊งให้กลับมาเกิดใหม่ ทำให้เขาใช้ร่างกายหนักมาก ต้องเดินทั้งวัน ทั้งเสิร์ฟอาหาร แจกใบปลิว จนกระทั่งวันหนึ่งที่ร่างกายส่งสัญญาณฟ้องเจ้าของร่าง ไม่สามารถเดินได้เพราะเจ็บขาจนต้องพักรักษาตัวเกือบสองปี เงินที่หาหมาได้จากการทำร้านอาหารหมดไปกับการรักษาตัว ซึ่งผ่านไปสองปีอาการยังไม่สู้ดีขึ้น
ด้วยเลือดนักสู้ทำให้เขาต้องฮึดสู้ลุกขึ้นยืนให้ได้ เพราะการนอนป่วยบนเตียงทำให้ขาเริ่มลีบ จึงกัดฟันใช้ไม้เท้าพยุงตัวเองขึ้นเดินแม้จะเจ็บแต่ก็พยายามที่จะใช้ร่างกายเพื่อไม่ให้ขาลีบ กอปรกับการหาสาเหตุอาการป่วยเจอจนทำให้ร่างกายค่อยๆ กลับมาดีขึ้น
จนกระทั่งกลับมาแข็งแรงและเริ่มไปทำร้านน้ำปั่นจนขายแฟรนไชส์เก็บเงินได้อีกครั้งไปเปิดร้านอาหารที่สีลม แต่ต้องแลกด้วยการตื่นแต่เช้าเพื่อใช้เวลาอยู่บนท้องถนน ทำให้คิดได้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ จึงตัดสินใจขายร้านทิ้งและไปลงหลักปักฐานที่ต่างจังหวัดคือ ฉะเชิงเทราเพื่อได้มีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนมากขึ้น
อดทนรอคอย…กล้ายอมรับผลที่จะเกิดขึ้น
เมื่อมาเปิดร้านอาหารแจ่วฮ้อนที่ฉะเชิงเทรา เขามองว่าการจะทำให้น้ำจิ้มแจ่วฮ้อนเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้รวดเร็วจะต้องสร้างโรงงาน จึงตัดสินใจขายร้านอาหารเพื่อจะสร้างโรงงาน แต่ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คิดเมื่อร้านอาหารกว่า 3 ไร่โดนโกงทำให้เขาหมดตัว
เมื่อสิ่งที่คิดไว้ไม่เป็นไปตามแผน เขาก็บอกว่าต้องยอมรับมันให้ได้ ควรตระหนักไว้เสมอว่าในระหว่างเส้นทางที่เดินไปมีอุปสรรคเยอะมากที่จะเข้ามาบั่นทอน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องเชื่อมั่นในตัวโปรดักส์ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เส้นทางที่กำลังจะก้าวเดิน เพื่อจะไปต่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในเร็ววัน ต้องใช้เวลาเป็นปี สองปี หรือมากกว่านั้นก็ต้องยอมรับมันให้ได้
“ผมมองว่ามันเป็นเรื่องเรื่องธรรมชาติ จะต้องยอมรับ ต้องทำใจแล้วก็ยอมรับมันแล้วก็ อ๋อมันก็ต้องพอแล้วเรายอมรับมันแล้วเราก็ มามองตัวเราว่าเออถ้ามันเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เราพยายามล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาให้เร็วที่สุดดีกว่าดีกว่าที่จะไปโทษตัวเองหรือว่า ไปโทษคนอื่น น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว”
สร้างจังหวะและโอกาสให้ตัวเอง
ถึงจะสูญเสียทุกอย่าง แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังเหลือกำลังใจ พร้อมกับเลือดนักสู้ของทั้งสามคนทั้งคุณหนุ่มและแฟนพร้อมกับแม่ครัวคู่ใจ กับกระทะอีกสองใบ ที่ใช้โรงรถเป็นโรงรถเป็นจุดเริ่มต้นผลิตน้ำจิ้มแจ่วฮ้อน แม้ยังไม่เห็นความหวังแต่ก็ไม่หยุดที่จะสร้างโอกาสให้ตัวเองทั้งทำการตลาดผ่านโซเชียล การออกบูธแนะนำสินค้า
หรือการสมัครเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ จนกระทั่งได้มีโอกาสเมื่อสินค้าของเค้าไปเข้าตา แม็คโคร ที่มองว่าแจ่วฮ้อนกึ่งสำเร็จรูปยังไม่เคยมีในตลาด แม็คโครเลยให้โจทย์มาว่าอยากได้เป็น ‘พริกแกงแจ่วฮ้อน’ เพื่อวางจำหน่ายในแม็คโคร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจเติบโต
ต้องมองเห็นหน้าลูกค้าก่อน ถ้ายังนึกหน้าลูกค้าไม่ออกอย่าเพิ่งทำ
นอกจากจะได้โอกาสในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายแล้วก็ยังมีโอกาสได้พัฒนาทักษะการทำธุรกิจมากมาย อาทิ ต้องหาตลาดก่อนแล้ว มีกลุ่มลูกค้าใหญ่พอไหม ค่อยผลิตสินค้า หรือเรื่องการวางตำแหน่งสินค้า เช่น ถ้าเป็นซุปก้อนลูกค้าเป็นใคร เพื่อมาดีไซน์ thinking เป็นที่มาของซุปก้อนที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ สินค้าต้องมีขนาดไม่ใหญ่ราคาไม่สูงเกินไป ก่อนทำสินค้าต้อง มองหน้าลูกค้าให้ออกก่อน
“เราไม่ลงสนามบางทีมันก็ไม่รู้ แต่ก่อนที่จะลงสนามก็ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ”
ค่อยๆ โตแบบคนตัวเล็ก
เมื่อมีโอกาสเขาก็ไม่ทิ้งโอกาส สิ่งที่เขาทำคือ การทดลอง ซึ่งในการทดลองไม่จำเป็นต้องทำใหญ่โต ค่อยๆ ลองทำแบบเล็กๆ เริ่มจากช่องทางออนไลน์ หรือเวลาที่จะไปเสนอสินค้าเพื่อขายห้างสรรพสินค้า สามารถม็อกอัปตัวอย่างแพ็กเก็จจิ้งก่อน เป็นไอเดียให้คู่ค้าเห็น จะได้ไม่ต้องไปเสียเงินหากมีมีผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น ต้องเปลี่ยนหรือแก้ไขข้อความในแพ็กเก็จจิ้ง
อย่าลืมมาร์เก็ตติ้ง
ถึงแม้ว่าสินค้าจะได้ขายในห้างสรรพสินค้าแล้ว นั่นอาจเป็นแค่ด่านแรกเพราะยังมีภารกิจต้องรีบทำต่อคือ ต้องทำให้ลูกค้าที่เดินเข้าห้างไปซื้อสินค้าของเรา ฉะนั้นเรื่องการตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารจะทำอย่างไรให้คนเปิดใจมาลองชิม และรู้จักแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการออกบู๊ธหรือการทำตลาดออนไลน์จึงจำเป็นอย่างน้อยจะทำให้คนรู้จัก
ล่าสุด “ยกซด” ยังได้ใช้ศิลปินสุดฮอตอย่าง ลำไย ไหทองคำ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์
ข้อมูลเพิ่มเติม |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี