Co-CEOs สูตรบริหารธุรกิจหมื่นล้านของ Netflix

TEXT : Sir.nim

     การจะตัดสินใจได้เด็ดขาด ต้องมีผู้นำเพียงคนเดียว แล้วถ้ามี 2 คนล่ะ (จะดีกว่าไหม?)

     การมีผู้นำสูงสุดในธุรกิจ ต้องมีคนเดียวจริงหรือ? วันนี้ชวนมาทำความรู้จักกับ Co-CEOs” หรือ กลยุทธ์ซีอีโอร่วม จาก Netflix ที่มองว่าไม่ควรจำกัด หรือฝากความหวังอำนาจการบริหารไว้แค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะถ้ามีผู้นำที่สุดยอดได้มากกว่าหนึ่งคน ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจเพิ่มทวีคูณขึ้นได้ แต่จะทำยังไงให้บริหารร่วมกันได้ดี ไม่เกิดความขัดแย้งกันเอง จนทำให้เกิดความสับสนใจองค์กรเสียก่อน ไปดูกัน

รวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียว

     Greg Peters และ Ted Sarandos คือ ซีอีโอ หรือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของ Netflix คนปัจจุบันทั้งสองคน โดยเข้ามาบริหารดูแลครั้งแรกในเดือนมกราคม 2566 หลังอดีตผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอคนเก่าอย่าง Reed Hastings ก้าวลงจากตำแหน่ง ซึ่งการมีผู้นำสองคนไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในองค์กรธุรกิจ

     ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจบริหารร่วมกัน Greg Peters และ Ted Sarandos ได้ศึกษาจากหลายๆ องค์กรในอดีตที่เคยใช้หลักการเดียวกัน โดยพบว่าผลลัพธ์มีทั้งสองรูปแบบ คือ มีทั้งประสิทธิภาพสูงขึ้น และต่ำลง แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นว่าวิธีนี้จะช่วยทำให้ Netflix แข็งแกร่งได้มากขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่พวกเขาต้องเชื่อมั่น และมองว่าเป็นประโยชน์ มากกว่ากลายเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคในธุรกิจ

     ซึ่งผลจากการทำงานร่วมกันมาปีกว่า พบว่าการมีซีอีโอสองคน ช่วยให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด แม่นยำ และรวดเร็ว มากขึ้นกว่าที่บริหารด้วยบุคคลเพียงคนเดียว โดยผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 ก็สามารถทำรายได้กว่า 9.37 พันล้านเหรียญ มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่าที่ Wall Street คาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า

     ในการทำงาน สองซีอีโอคู่จะแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ โดย Greg Peters จะดูแลการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ภาพยนตร์ เกม และอื่นๆ ไปจนถึงการโฆษณา และการเงิน ส่วน Ted Sarandos ดูแลด้านเนื้อหา การตลาด การประชาสัมพันธ์ กฎหมาย และ แต่หากมีเรื่องสำคัญให้ต้องตัดสินใจ พวกเขาจะตัดสินใจร่วมกัน นอกจากนี้พวกเขายังเน้นเรื่องความโปร่งใส ไม่มีการปิดบังซ่อนเร้น บุคลากรในองค์กรสามารถปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเขาคนใดคนหนึ่งก็ได้ โดยทั้งสองคนจะรับรู้เหมือนกันทุกเรื่อง

หลายองค์กร เริ่มหันมาทดลองใช้กันมากขึ้น

     โดยนอกจาก Netflix แล้ว ตัวอย่างบริษัทที่เคยใช้การบริหารด้วย Co-CEOs ก็มีอีกหลายแห่งด้วยกัน มีทั้งไปได้สวย และไปไม่รอด ที่ไปได้ดี ก็เช่น Blackberry, Deutsche Bank, Chitople ที่ทำแล้วเหมือนไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่งก็เช่น Salesforce โดยเคยมี Co-CEOs อยู่นานถึง 5 ปี แต่เมื่อคนหนึ่งเสียชีวิตไป สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนใจมาใช้ CEO เพียงคนเดียวเหมือนเดิม เพราะหาคนใหม่มาจับคู่เป็น Co-CEO ไม่สำเร็จ

     นอกจากนี้ยังเคยมีผลการศึกษาถึงการใช้ระบบ Co-CEOs หรือ ซีอีโอร่วมเอาไว้ด้วย ใน Harvard Business Review (HBR) เคยมีบทความที่พูดถึงปรัชญาการมีผู้กุมอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว โดยรวบรวมบริษัทมหาชน 87 แห่งที่ใช้การบริหารแบบ Co-CEOs มาเทียบกับผลประกอบการของบริษัทที่มี CEO คนเดียวในธุรกิจเดียวกัน

     ผลการประเมินปรากฏว่า บริษัทที่มี Co-CEOs ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 9.5% ในขณะที่บริษัทมี CEO คนเดียวให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 6.9% โดยจากกลุ่มตัวอย่างบริษัท 87 แห่ง พบว่าเกือบ 60% ของกลุ่มบริษัทที่มี Co-CEOs ทำผลงานได้ดีกว่าจริงๆ ส่วน 40% ที่เหลือก็มักจะทำได้ดีใกล้เคียงกับบริษัทที่มี CEO คนเดียว

จะทำอย่างไร ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น

     Greg Peters และ Ted Sarandos เคยให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาไม่ใช่ไม่เคยมีความขัดแย้งกัน แต่ตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจทำงานร่วมกัน พวกเขาก็คุยกันทันทีเลยว่า หากมีความเห็นไม่ตรงกันเกิดขึ้น พวกเขาจะรับมืออย่างไร

     Ted Sarandos เคยให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขามีจุดดีจุดแข็งกันคนละอย่าง เวลาไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย พวกเขาจะไม่ปล่อยให้มันผ่านไป จะมีการโต้เถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เหมือนกับผู้ร่วมงานอื่นๆ แต่สุดท้าย คือ พวกเขาจะเคารพและยอมรับในทักษะที่แตกต่างของกันและกัน และหากไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม พวกเขาก็มี  Reed Hastings ซีอีโอคนเดิม ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาไว้คอยช่วยชี้แนะ และให้มุมมองแก่พวกเขาทั้งคู่ได้ด้วยเมื่อเวลามีความคิดเห็นขัดแย้งกันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเคล็ดลับว่า เวลาต้องเจอการตัดสินใจที่ยากๆ แม้ต้องบริหารร่วมกันสองคน พวกเขาสามารถผ่านมันมาได้ยังไง เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อธุรกิจ

Tip

2 คำถาม ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ระบบ Co-CEOs

     สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจเลือกใช้ระบบ Co-CEOs เจ้าของธุรกิจต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า 1.เหตุใดการมี CEO เพียงแค่คนเดียว จึงไม่เพียงพอต่อการบริหารธุรกิจ 2. การมีซีอีโอช่วยบริหารสองคน ส่งผลดีต่อองค์กรอย่างไร

ที่มา : https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=34043

https://www.businessinsider.in/tech/news/netflix-is-the-rare-company-with-2-ceos-so-what-happens-when-they-disagree/articleshow/111348768.cms

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน