บ้านมัดใจ ศิลปะมัดย้อม ใช้ดีไซน์ผสานภูมิปัญญารุ่นแม่ แก้ปัญหาสินค้าให้เข้าถึงง่ายขึ้น

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • สาวแดนใต้ที่หลงใหลแพร่ จนตั้งหลักปักฐาน สร้างงานมัดย้อมให้เป็นธุรกิจครอบครัว

 

  • "บ้านมัดใจ" เป็นบ้านแห่งศิลปะ ที่มีทั้งคาเฟ่โฮมเมด การมัดย้อม และงานเซรามิก เป็นศูนย์การเรียนรู้ครบวงจรของการมัดย้อมฮ่อม และมีโฮมสเตย์ให้ผู้เข้าพักที่สนใจ

 

     หลายคนจัดให้ แพร่ เป็นแค่เมืองเล็กๆ ทางผ่าน และไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางหลักของการท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ วิถีชีวิตน่าสนใจ รวมไปถึงงานคราฟต์ต่างๆ อย่างการทำมัดย้อมฮ่อมที่หาดูกรรมวิธีการทำได้ไม่ง่าย "บ้านมัดใจ" จึงเป็นเหมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเชื่อมต่อความโดดเด่นระหว่างการดีไซน์สมัยใหม่กับงานฝีมือของคนรุ่นพ่อแม่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

     มะปราง-ชิดชนก สุชนก สาวพัทลุงที่หลงใหลเมืองแพร่ จนไม่อยากกลับใต้ เล่าให้ผมฟังถึงเส้นทางของบ้านมัดใจว่า เกิดจากความตั้งใจของครอบครัวที่รักศิลปะ เธอจบการออกแบบ ส่วนน้องสาวจบด้านเซรามิกมาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     “เคยตั้งคำถามในช่วงที่กำลังทำงานอยู่ว่า ทำไมคนรุ่นเราถึงใส่เสื้อผ้าม่อฮ่อมไม่ได้ ทั้งๆ ที่รุ่นพ่อแม่ ตายายใส่ได้ จึงมีโปรเจกต์หาคำตอบให้ตัวเอง ด้วยการนำเสื้อผ้าของคุณแม่มาต่อยอด ใส่การดีไซน์ที่ตัวเองถนัดเข้าไป พร้อมกับเรียนรู้วิธีการทำสี สร้างแบรนด์ ‘มัดใจย้อม’ ตั้งแต่ปี 2012 เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ เมื่อก่อนไม่ได้มีคาเฟ่ แต่เราทำเวิร์กชอปลวดลายบนผืนผ้าให้นักเรียนบริเวณหลังบ้าน เลยมีความคิดว่านักท่องเที่ยวก็น่าจะทำกิจกรรมเดียวกันได้ จนกลายเป็นบ้านมัดใจโฮมเมดคาเฟ่อย่างตอนนี้”

     ผมกำลังนั่งดูมะปรางสาธิตการทำผ้ามัดย้อม มัด ก็คือ การเอาผ้าพับหุ้มชิ้นไม้เล็กๆ ตามรูปแบบที่ต้องการ แล้วเอายางมัดผ้าให้คงรูป ก่อนเอาไปจุ่มในน้ำคราม ยกขึั้นสะบัด แกะไม้ออกแล้วเอาไปตาก เสน่ห์ของผ้าคราม คือ มีลวดลายเฉพาะ ถ้าคนที่เริ่มลองทำแบบเรา แทบไม่มีทางรู้ว่า จะได้ลายแบบไหน กว่าจะได้สวยสมใจ จึงต้องใช้เวลา

     สินค้าในร้านของบ้านมัดใจจึงเป็นคำตอบอย่างดีถึงความประณีต ยิ่งได้รู้ถึงกระบวนการทำครามแล้ว ทำให้ผมยิ่งเข้าใจถึงความคราฟต์ของที่นี่ นอกจากผลิตภัณฑ์มัดย้อม ในร้านของบ้านมัดใจยังมีผ้าพิมพ์เทียน งานเซรามิกของน้องสาว และของตกแต่งบ้านอีกด้วย

     “รู้สึกว่าเมืองเล็กไปไหนง่าย อบอุ่น เหมือนบ้านหลังใหญ่ ทุกคนรู้สึกกันหมด ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่ ได้ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์อย่างที่ชอบ ยิ่งรู้สึกมีความสุขดี”

     มะปรางไขข้อข้องใจว่าทำไมถึงเลือกเมืองแพร่เป็นที่ปักฐาน ส่วนงานมัดย้อมของที่นี่ ถ้าเป็นสีธรรมชาติจะรับเฉพาะออร์เดอร์ของลูกค้า สินค้าต่างๆ ยังมีขายทางออนไลน์ด้วย

     “เมื่อก่อนต่างคนต่างทำกับน้องสาว อนาคตวางแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกัน จะเอางานเซรามิกกับงานผ้ามาแมตซ์กัน ให้เป็นสินค้าประดับตกแต่งบ้าน”

     เสียดายผมมีเวลาไม่มากในการเยี่ยมชมและทำความรู้จักบ้านมัดใจ อย่างน้อยทำให้ผมรู้ว่า ธุรกิจที่ต้องรักษาความเป็นศิลปะเอาไว้ ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่ใครก็ทำได้

รายละเอียดเพิ่มเติม

Banmatjai homemade & cafe 

Banmatjai Homestay 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน