เรื่อง วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
หลัง “อาลีบาบา กรุ๊ป” บริษัทอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในจีนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเมื่อเดือนก.ย. 2557 ที่ผ่านมาและทุบสถิติมูลค่าการซื้อขายอย่างเป็นทางการครั้งแรกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลที่ตามมาคือ “แจ๊ค หม่า” ประธานบริษัทและผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ปกลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในจีนด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 29,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มั่งคั่งเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ลี กาชิง และขึ้นแท่นเศรษฐีลำดับ 18 ของโลกที่จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส ขณะที่บริษัทอาลีบาบา กรุ๊ปของเขามีมูลค่า 230,000 ล้านเหรียญ สูงกว่าสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊กเสียอีก!
ปูมหลังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
นาทีที่อาลีบาบา กรุ๊ปเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก ใครต่อใครต่างให้ความสนใจชายร่างเล็กจากแดนมังกรที่รุกเข้าไปเขย่าวงการอี-คอมเมิร์ซสหรัฐฯ แต่กับความสำเร็จในวันนี้ จะมีสักกี่คนรู้ว่ากว่าแจ๊ค หม่า หรือชื่อจีน “หม่า หยุน” นักธุรกิจวัย 50 ปีจากเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียงจะก้าวมาอยู่ ณ จุดนี้ได้ เขาต้องผ่านความล้มเหลวมาแล้วกี่ครั้ง ในยุคที่จีนปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์จ๋าและแยกตัวจากโลกตะวันตก หม่าถือกำเนิดในครอบครัวยากจนที่มีลูก 3 คน โดยหม่าเป็นคนกลาง มีพี่ชาย 1 คนและน้องสาว 1 คน
เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ หม่าไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แถมยังมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนร่วมชั้นทั้งที่ตัวเล็กกว่าใครเขา ดีหน่อยตรงที่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ สืบเนื่องจากนโยบายเปิดประเทศและอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของสหรัฐฯได้เดินทางมาเยือนหังโจว ส่งผลให้บ้านเกิดของหม่าซึ่งมีทัศนียภาพสวยงามกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ในวัย 12 ขวบ เด็กชายหม่ายอมตื่นเช้าตรู่ ใช้เวลา 45 นาทีในการปั่นจักรยานจากบ้านไปยังโรงแรมในเมืองหังโจวเพื่อฝึกพูดภาษาอังกฤษ และบ่อยครั้งทำตัวเป็นมัคคุเทศน์น้อยนำชาวต่างชาติเที่ยวโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อแลกกับการได้มีโอกาสพูดภาษาที่ 2 ชื่อสากล “แจ๊ค” ก็ได้มาจากนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่กลายมาเป็นเพื่อนกับเขาภายหลังตั้งให้
ครั้นจบมัธยมปลาย หม่าตั้งใจสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เขาต้องพลาดหวังถึง 2 ครั้ง 2 ครา ก่อนลงเอยที่การเข้าเรียนวิทยาลัยครูหังโจวในสาขาภาษาอังกฤษ พอจบการศึกษามาก็ตั้งเป้าได้งานดี ๆ ทำ แต่หว่านใบสมัครไปหลายสิบแห่ง ก็ไม่ได้รับการตอบรับ รวมถึงร้านไก่ทอด KFC ที่เพิ่งเข้ามาเปิดในจีนก็ไม่แยแสบัณฑิตจบใหม่อย่างเขา ท้ายที่สุดหม่าก็ได้งานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ด้วยเงินเดือนเพียง 12 เหรียญ พร้อมกับการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวกับ “ฉาง อิง” คู่รักจากรั้วสถาบันเดียวกันที่ตัดสินใจร่วมหอลงโรงกับเขาด้วยเหตุผล “หม่าไม่ใช่คนหน้าตาดี แต่ฉันเลือกเขาเพราะเขาทำอะไรได้หลายอย่างที่คนหล่อ ๆ ทำไม่ได้”
อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนชีวิต
หาเลี้ยงชีพด้วยการสอนหนังสือจนได้ตำแหน่ง 1 ใน 10 อาจารย์ยอดเยี่ยมแห่งเมืองหังโจว แม้มีแววรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน หม่ากลับลาออกจากงานสอนเพื่อเดินตามความฝันของตัวเองในการทำธุรกิจ โดยเปิดบริษัทรับแปลและเป็นล่าม ทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางไปสหรัฐฯในฐานะล่ามให้กับบริษัทของจีนที่ไปเจรจาธุรกิจ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ชายวัย 31 ปีได้สัมผัสคอมพิวเตอร์และรู้จักอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ “ผมมองเห็นแล้วว่าเจ้าสิ่งนี้ (อินเตอร์เน็ต) จะเปลี่ยนแปลงโลก” เขาท่องเข้าไปในเครือข่ายใยแมมุมอย่างสนใจ และลองค้นหาคำว่า “เบียร์” ในยาฮู ในบรรดาข้อมูลเกี่ยวกับเบียร์ที่แสดงบนหน้าจอทั้งหมด ไม่พบเบียร์หรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากเมืองจีนเลย
เมื่อเขากลับจากสหรัฐฯ เป็นช่วงที่รัฐบาลจีนเริ่มเปิดให้ประชาชนใช้อินเตอร์เน็ต หม่าเชิญเพื่อน ๆ มาที่บ้านเพื่อสาธิตวิธีการใช้อินเตอร์เน็ต แม้ความเร็วเน็ตจะช้าขนาดต้องรอไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงจึงจะโหลดได้ครึ่งหน้า ต้องฆ่าเวลาด้วยการดูทีวี เล่นไพ่ คุยกันไป แต่หม่าก็รู้สึกภูมิใจที่ได้นำเสนอเทคโนโลยีนี้ และด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนในสหรัฐฯ หม่าเริ่มรับทำเว็บไซต์ให้บริษัทในจีน กระทั่งปี 2548 เขาเปิดตัว China Yellowpages บริษัทออนไลน์แห่งแรกของจีน ไม่นานก็ต้องปิดตัวไปเนื่องจากอินเตอร์เน็ตยังเป็นของใหม่ คนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง จำนวนผู้ใช้งานจึงไม่มาก อย่างไรก็ตาม หม่าหายอมแพ้ไม่ 4 ปีหลังล้มเหลวจากสมุดหน้าเหลืองออนไลน์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจีนแข็งแกร่งขึ้น ปี 2542 เขาก็ผุดธุรกิจใหม่
กำเนิดอาณาจักรอาลีบาบา
ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเพื่อน 17 คนที่เขาเชิญมาพูดคุยเกี่ยวกับไอเดียธุรกิจ ทุกคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ อย่าทำเลย มีเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มบอกกับเขาว่า “ก็ลองดู ถ้าไม่สำเร็จก็กลับไปทำงานเดิมแค่นั้น” เมื่อคิดทบทวนคำพูดของเพื่อนอยู่คืนเดียว ด้วยเงินทุน 6,000 เหรียญหรือประมาณ 2 ล้านบาท หม่าตัดสินใจเปิดเว็บอี-คอมเมิร์ซ alibaba.com เพื่อให้ผู้คนได้นำสินค้ามาขายแบบไม่ต้องมีหน้าร้าน ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในการทำการตลาดโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย
หม่าเชื่อว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เขาจึงอยากช่วยผู้ประกอบการให้สามารถขายสินค้าไปทั่วโลก “ความฝันของผมคือการเปิดบริษัทอี-คอมเมิร์ซเพื่อสร้างงานให้กับคนนับล้าน ๆ คน และเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีนให้ดีขึ้น หากเป็นไปได้ก็อยากทำให้เว็บไซต์นี้เป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เป็นคำกล่าวของหม่า ผู้ผุดแนวคิดล้ำเลิศ และมองการณ์ไกลก่อนที่ฝั่งโลกตะวันตกจะมีเว็บอเมซอน และอี-เบย์ด้วยซ้ำ
ทำไมต้อง “อาลีบาบา” หลายคนอาจสงสัย หม่าให้เหตุผลในการเลือกชื่อนี้ว่าเมื่อคราวที่เขานั่งจิบกาแฟที่คอฟฟี่ช้อปแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก เขาถามพนักงานเสิร์ฟว่ารู้จักอาลีบาบาไหม คำตอบคือรู้จัก เขาเดินไปตามถนนและลองสุ่มถามผู้คนกว่า 30 คน ทุกคนซึ่งมาจากหลากหลายที่ของโลกต่างก็เคยได้ยินชื่อของตัวละครดังในนิทานอาหรับเรื่อง “อาลีบาบากับ 40 จอมโจร” หม่ากล่าวว่า “อี-คอมเมิร์ซเป็นเรื่องสากล ผมจึงอยากได้ชื่อที่เป็นที่รู้จักระดับโลก นอกจากเป็นเชื่อที่ออกเสียงง่าย อาลีบาบายังทำให้ผมนึกถึง“open sesame” คาถาที่เปิดไปสู่ขุมทรัพย์ในถ้ำ เว็บอาลีบาบาของผมก็เปรียบดังประตูการตลาดที่นำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปพบกับความมั่งคั่ง”
สู่ยุคการค้าที่ปลายนิ้ว
การที่จีนเปิดกว้างในโลกออนไลน์ อินเตอร์เน็ตถูกใช้งานแพร่หลาย และจำนวนประชากรเน็ตที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจของหม่า ยอดขายสินค้าผ่านอาลีบาบาเพิ่มขึ้นวันแล้ววันเล่า ปี 2003 อี-เบย์ เว็บซื้อขายสินค้าและประมูลที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ก็ได้รุกเข้าตลาดจีน ชิงส่วนแบ่งตลาดจนอาลีบาบาตกที่นั่งลำบาก แต่หม่าสามารถพลิกกลยุทธ์เอาชนะจนอี-เบย์ต้องปิดตัวถอยร่นออกจากตลาดจีนไป ปัจจุบัน อาลีบาลา กรุ๊ปมีสำนักงานใน 70 ประเทศทั่วโลก พนักงานกว่า 20,000 คน มีบริษัทในเครือ 9 แห่ง ครอบคลุมทุกบริการที่เกี่ยวกับการค้าผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บในเครืออาลีบาบาให้บริการสมาชิกใน 240 ประเทศทั่วโลก ยอดขายผ่านเว็บไซต์มูลค่า 240,000 ล้านเหรียญต่อปี หรือมากกว่าอเมซอน และอี-เบย์ 2 และ 3 เท่าตามลำดับ
เฉพาะในจีน เว็บในสังกัดอาลีบาบามีผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านคน ครองตลาดอี-คอมเมิร์ซจีนร้อยละ 80 นักวิเคราะห์มองตลาดออนไลน์จีนยังโตได้อีกเพราะมีชาวจีนอีกหลายร้อยล้านคนยังไม่เคยซื้อของผ่านเน็ต มีการประเมินอีก 5 ปีนับจากนี้ ตลาดอี-คอมเมิร์ซของจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซของสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่นรวมกันเสียอีก จึงไม่แปลกที่หม่าจะกลายเป็นนักธุรกิจดาวรุ่ง ได้รับตำแหน่งมากมาย และเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสารฟอร์บส
มุมมองชีวิตในวัยครึ่งศตวรรษ
สำหรับหม่าแล้ว สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตคือการกล้าที่จะลองทำ ต่อให้ล้มเหลวหรือสำเร็จล้วนแต่เป็นประสบการณ์ที่มีค่า อีกอย่างหนึ่งที่ต้องมีคือความทะเยอทะยาน หากขาดซึ่งสิ่งนี้ ชีวิตอาจไร้ความหมาย ความทะเยอทะยานถือเป็นเป้าหมายอันงดงามในชีวิต และยังเป็นตัวกำหนดอนาคตของคน ๆ นั้นด้วย “ต้องไม่ยอมแพ้ วันนี้อาจลำบาก พรุ่งนี้อาจย่ำแย่กว่าเดิม แต่หลังจากนั้นแล้ว ต้องมีสักวันที่เป็นวันสวยงามสำหรับเรา” หม่าได้กล่าวเอาไว้
ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ในฐานะมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในจีนว่า ”การอยู่ในจุดนี้ทำให้ผมต้องแลกกับบางอย่าง นั่นคือแรงกดดัน บริษัทเข้าตลาดหุ้นได้ ผมก็ดีใจแต่ก็จะเกิดความคาดหวังสูงตามมาทรัพย์สินที่มีอยู่ ผมไม่คิดว่าเป็นของผม แต่เป็นของประชาชนที่เขาไว้ใจให้เราบริหารให้ ก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด วิธีหนึ่งคือการให้คืนสู่สังคม จะด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งมูลนิธิ การสนับสนุน SME และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
ทุกวันนี้หม่าดำเนินชีวิตเรียบง่ายตามปกติ ยังชอบอ่านหนังสือ เขียนนิยายกังฟู เล่นไพ่โป๊กเกอร์ ฝึกสมาธิ เล่นไท้เก๊ก และเดินสายเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต หม่ายังชอบเอ็นเตอร์เทนพนักงานของเขาโดยการร้องเพลงในงานฉลองบริษัท และเคยถึงขนาดจัดงานสมรสหมู่ให้พนักงาน 700 คนมาแล้ว การที่เขาและพนักงานรอดชีวิตจากการระบาดอย่างหนักหน่วงของไข้หวัดนกเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้เขาคิดได้ว่า
“ชีวิตช่างสวยงามและแสนสั้น ฉะนั้น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเมื่อยังทำได้”
บทความจากวารสาร K SME Inspired ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557
www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)