คำสารภาพจากแม่ค้าประตูน้ำ ยอมออกจาก Comfort zone สู่โลกออนไลน์ เมื่อความสำเร็จเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     ช่วงนี้มักได้ยินเสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าหนาหูว่า เศรษฐกิจไม่ดีและไม่ใช่เศรษฐกิจไม่ดีแบบธรรมดา แต่เป็นเศรษฐกิจที่แย่สุดๆ รับรู้ได้จากแม่ค้าหลายรายได้โพสต์คลิประบายความในใจจนกลายเป็นไวรัล อาทิ คลิปแม่ค้าประตูน้ำรายหนึ่งบอกว่า ขายของมา 20 ปีไม่เคยเงียบเหงาขนาดนี้มาก่อน ขายได้แค่ 2 ใบเทาแต่ต้องเสียค่าเช่า 6 หลัก และยังมีอีกหลายคลิปจากผู้ประกอบการที่ออกมาระบายความในใจในทำนองเดียวกัน

     ล่าสุดทีมงาน SME Thailand Online ได้ไปสะดุดกับคลิปหนึ่งที่โพสต์ระบายความในใจว่า “...เชื่อไหมว่าเราเปิดแบรนด์เสื้อผ้าขายส่งมาเกิน 7 ปีแล้ว อยู่แถวประตูน้ำนี่แหละ ช่วงแรกๆ มันง่ายมาก อะไรที่เขาฮิตกันคือ เราทำมาขายหมดเกลี้ยง ...แล้วพอมาวันนี้ที่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ไอ้เราก็ไปโทษเศรษฐกิจต้องนาน เออใช่มันก็เพราะเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เรากำลังประสบปัญหาหลัก คือ เราไม่กล้าออกจาก comfort zone ของตัวเอง

     เจ้าของคลิปยังได้บอกต่อว่าเธอกับพี่สาวจึงได้ตัดสินใจก้าวออกจาก comfort zone ด้วยประสบการณ์ทางด้านการตลาดออนไลน์ที่เป็นศูนย์ แถมยังเป็น introvert แต่ก็จะขอพาแบรนด์ AKKARA STUDIO ก้าวสู่เวอร์ชั่นออนไลน์เต็มตัว

     นั่นทำให้เราสนใจแนวคิดนี้จึงได้ตามหาเจ้าของคลิปคือ พิชามญชุ์ อัคราธิวัฒน์ (โมสต์) Co-owner บริษัท อัครา สตูดิโอ จำกัด เจ้าของแบรนด์ AKKARA STUDIO กับการปรับตัวทางธุรกิจที่บอกว่าความสำเร็จในอดีตมันเป็นเหมือนดาบทำให้เกิดเป็นความเคยชิน จากยุคเฟื่องฟูประตูน้ำที่เคยทำรายได้สูงสุดวันละล้านบาท แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไป รายได้ที่เคยได้มาง่ายๆ ไม่เกิดขึ้นแบบนั้นอีกแล้ว หากยังไม่ปรับตัวเองไม่ใช่แค่รายได้ที่หายไป แต่อาจต้องหลุดจากวงโคจรธุรกิจที่พวกเธอรัก ลองไปดูคำสารภาพของเธอกัน   

Q: ทั้งๆ ที่คลุกคลีและถือว่าการทำธุรกิจแจ้งเกิดมากับย่านประตูน้ำแต่ทำไมถึงตัดสินใจทุบหม้อข้าวตัวเอง

     คือ โมสต์ไม่ได้ยุติการขายของเป็นแม่ค้าขายส่ง อย่างที่บอกในคลิปคือ ต้องปิดร้านตรงประตูน้ำเพราะว่าค่าเช่าที่ตรงนั้นมันขึ้นเป็น 300,000 บาท ถือว่าราคาค่าเช่าขึ้นมาเยอะนะค่ะ คือตอนแรกค่าเช่าแถวนั้นเรทอยู่ในหลักแสนต้นๆ แต่หลังๆ มีนายทุนจากจีนมาเปิดร้านเองเยอะมากแล้วเขาพร้อมสู้ราคา ยิ่งทำให้ค่าเช่าที่ตรงนั้นโดดขึ้นไปเยอะ

     ตอนนี้โมสต์ไม่เห็นถึงความจำเป็นว่ามันต้องมีหน้าร้าน เพราะถ้าพูดตรงๆ เดี๋ยวนี้หน้าร้านโมสต์มันแทบขายไม่ได้เลยอย่าเรียกว่าแทบคือไม่ได้เลยดีกว่า ยิ่งค่าเช่าที่มันสูง แต่ตลาดมันเงียบลง โมสต์ก็เลยอยากลดต้นทุนตรงนี้เพื่อเอาไปเพิ่มในตรงส่วนของออนไลน์แทนค่ะ ก็เลยปิดหน้าร้านตรงนั้นและย้ายเข้าไปอยู่ร้านเล็กๆ อยู่ในห้างแถวนั้นแทนค่ะ คือเรายังไม่ได้ทิ้งการขายส่ง แต่ถามว่าตอนนี้จุดโฟกัสของเรามันเปลี่ยนจากออฟไลน์หันไปเน้นออนไลน์เต็มตัว

Q: ที่บอกว่าขายของไม่ได้ สถานการณ์แบบนี้เป็นมานานหรือยังหรือว่าเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปีนี้

     ตอนที่โมสต์เริ่มขายเสื้อผ้าที่ประตูน้ำช่วง 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมันเหมือนยุคทองเลยนะคือ แบบโมสต์ตื่นมาตั้งแต่ตี 5 มาถึงร้าน 6 โมงเช้าประมาณ 7 โมงก็มีคนมาต่อแถวรอซื้อของยาวแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ร้านโมสต์เท่านั้น แต่เป็นเหมือนกันทุกร้านคือมีคนต่อแถวยาวหมดเลย คือมันซื้อง่ายขายคล่อง คู่แข่งก็ยังมีน้อย มันอาศัยแค่ทำแบบให้ไว มันเลยทำให้เราติดพฤติกรรมเก่าๆ

     แต่ปัจจุบันพฤติกรรมคนซื้อเปลี่ยนไปหมดแล้ว ตั้งแต่หลังโควิดบวกกับทุกอย่างมันเริ่มมาทางออนไลน์มากขึ้นคือ คนซื้อไม่ได้ซื้อเพราะเสื้อผ้าสวย คุณภาพดี แต่เขาซื้อ experience ด้วย ยกตัวอย่างคนส่วนใหญ่ชอบไปซื้อของในไลฟ์สดเพราะเขาได้ experience อย่างหนึ่งคือได้ความสนุกด้วย เพราะต้องรีบเข้าไปแย่งเอฟ ดังนั้นมันเลยเปลี่ยนวิธีการขายไปหมด ตอนนี้คนซื้อมีความรอยัลตี้ต่อแบรนด์น้อยลง เลยคิดว่าออนไลน์มาแรงมากๆ ซึ่งจริงๆ คนอื่นเขาคิดกันได้ก่อนเยอะมาก เขาไปทำออนไลน์กันนานแล้ว

Q: พูดได้ไหมว่าสถานการณ์บีบทำให้ต้องปรับตัว

     เมื่อก่อนตื่นเช้าอยากไปร้านทุกวัน พอวันที่มันขายไม่ได้โมสต์กับพี่สาวก็มีโทษเศรษฐกิจบ้าง คิดว่ารอก่อนอีกแป๊บนึงเดี๋ยวเศรษฐกิจก็ดีเว้ย เดี๋ยวเปลี่ยนรัฐบาลก็คงดี คือเรายังยึดติดกับ Comfort zone มองว่าเราไม่ถนัดเรื่องออนไลน์ คือปกติโมสต์เล่นแต่ไอจี โพสต์รูปของตัวเอง คือค่อนข้างเป็น introvert ไม่ชอบอยากคุยอะไรกับใครเยอะแยะ คิดว่าทำสินค้าให้ดีเดี๋ยวก็ขายได้

     แต่พอมาถึงจุดที่มันต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวแล้วอ่ะค่ะคือ มันต้องปรับตามสถานการณ์ซึ่งคนอื่นเขาปรับกันไปแล้วซึ่งเราก็ไม่รู้นะว่าคนที่ปรับตัวกันแล้วโอเคกันขนาดไหน แต่ตัวโมสต์เองแค่รู้สึกว่าทำไมเราแบบ Loser จังเลย เราต้องสู้แล้วก็พยายามพัฒนาตัวเอง ก่อนหน้านี้เราก็อยู่แค่นั้นขายหมด 3 โมงกลับบ้านพอจบใช้เงิน แต่ไม่ได้วางแผนอนาคตอะไรเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ก็คือเหมือนได้สติปุ๊บบวกกับที่ว่าเราแค่รู้สึกว่าเราต้องพัฒนาตัวเอง

Q: เมื่อต้องก้าวออกจาก Comfort zone จริงๆ แล้วเป็นอย่างไรบ้าง

     จริงมันก็ยังบอกอะไรไม่ได้โมสต์เพิ่งเริ่มแค่ 3 เดือน แต่สิ่งที่เห็นชัดคือ จากที่คิดว่าเราทำไม่ได้แน่เลย สุดท้ายโมสต์ก็พยายามจนโมสต์ว่าโมสต์ก็ทำโอเคขึ้นมาระดับหนึ่ง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ค่อยๆ ปูทางไปเป็นการ learning by doing คือจริงๆ มันก็สามารถจ้างเอาท์ซอร์สทำออนไลน์ได้ แต่แค่รู้สึกว่าเจ้าของต้องรู้พื้นฐานทั้งหมดก่อนด้วยไม่ใช่อยู่ดีๆจะไปจ้างเค้าเลย คือต้องปรับตัวแล้วลองหาความรู้เพิ่ม เราไม่เก่งอะไรก็ไปพัฒนาในจุดนั้น ไม่ใช่โทษแต่สถานการณ์บ้านเมืองแต่ไม่ได้ปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง

Q: จากคนที่เป็น Introvert เมื่อต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มีความรู้สึกลำบากใจไหม

     บอกเลยว่าหนูก็มีเคว้งๆ มีท้อเยอะมาก เพราะว่าจริงๆ มันมีหลายปัจจัยคือ ไม่ใช่แค่การก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนแต่มันมีเพนพ้อยท์อีกอย่างหนึ่งคือ ช่วงที่ขายดี กลายเป็นว่าตลาดฮิตอะไรเราก็ทำอย่างนั้นแหละ มันทำให้เราสูญเสียอัตลักษณ์ของแบรนด์ Akkara ไปซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะตั้งแต่เริ่มทำตลาดออนไลน์ พอได้ทำคอนเทนต์ สังเกตว่าถ้าได้ทำสิ่งที่มันเป็นแพชชั่นของเราจริงๆ เสื้อผ้าเรามีอัตลักษณ์ชัดเจน ฟีดแบ็กมันดี การทำออนไลน์ต้องรู้จักสร้างแบรนด์ดิ้ง มันต้องมี personal branding ชัด ไม่งั้นมันจะขายของไม่ได้

     อีกอย่างตอนนี้คนไม่ได้ใช้จ่ายเหมือนยุคก่อนแล้วคือ อันนี้มันเป็นผลพวงเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจด้วย แม้กระทั่งตัวหนูเองที่ปกติช้อปปิ้งบ้ากระจายมาก เมื่อก่อนอาทิตย์หนึ่งซื้อเสื้อผ้าใหม่ไปเที่ยวเมืองนอกค่าเสื้อผ้าแพงกว่าค่าทริปค่ะ แต่ตอนนั้นเป็นวัยเด็กตอนนั้นหนูอายุ 20 กว่า แต่ตอนนี้หนูอายุ 29 แล้ว การใช้จ่ายก็เปลี่ยนไปต้องคิดก่อนว่า ซื้อไปแล้วมันเวิร์กหรือเปล่ามันคุ้มค่าไหม มันก็ต้องคิดมากขึ้น

Q: ถ้าให้ลองเปรียบเทียบการตลาด 7 ปีก่อนกับปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

     เมื่อก่อนโคตรง่ายสำหรับโมสต์ เพราะความโชคดีของโมสต์กับพี่สาวเรามีเรื่องสไตล์ มี test ที่โอเคระดับหนึ่ง  ยุคนั้นแข่งกันที่ความขยัน แข่งกันที่ทำแบบได้ไว เรียกได้ว่าร้านเรานำเทรนด์ในตอนนั้น ถือว่าเป็นร้านแรกๆ ไปเอาเสื้อยืดจากจีนมีโชกเกอร์ในตัวมาขาย จำได้วันแรกที่ขายมีเสื้อพันกว่าตัวเปิดร้าน 10 กว่านาทีหนูขายหมดเกลี้ยง แล้วหนูก็ติดกับการทำตลาดแบบเดิมๆ ออกแบบ สเก็ตซ์ ส่งให้โรงงานๆ ผลิตให้เรา คำนวณต้นทุน ค่าขนส่ง ค่าถ่ายแบบ เอารูปไปโพสต์ในกลุ่มแม่ค้า ซึ่งมันง่ายมากทุกอย่างผ่านแอปเดียวคือ ไลน์แอดจบ

     ยุคนี้อาจจะต้องอาศัยเรื่องการตลาดออนไลน์ซึ่งหนูกับพี่ไม่มีทักษะทางด้านนี้ คิดว่ายุคนี้ยากมากสำหรับหนูสองคน ต้องมีการทำคอนเทนต์ ทุกวันนี้ไปไหนต้องทำคอนเทนต์ ชีวิตติดคอนเทนต์ มันเหนื่อยนะ ยากขึ้น แต่พอตอนนี้เริ่มปรับตัวได้ก็ชอบ สนุกดี

     ถามว่าเมื่อก่อนหนูได้พัฒนาสกิลอะไรใหม่ๆ ไหม หนูไม่ได้พัฒนาอะไรเลย อยู่เหมือนแม่ค้าขายส่งไปวันๆ ทุกวันนี้รู้สึกได้พัฒนาตัวเอง รู้สึกภูมิใจด้วย ต่อให้มันไปไม่รอดนะแต่ก็แค่รู้สึกว่ากูก็เก่งเหมือนกันโว้ยทำได้ว่ะ คนเราไม่ควรหยุดพัฒนาเลย โลกสมัยนี้ไปเร็วมาก

            

Q: อยากจะฝากอะไรสำหรับคนที่ยังยึดติดกับการตลาดแบบเดิมที่ยังไม่กล้าก้าวออกจาก comfort zone

     เรื่องของการแข่งขันมีทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว สิ่งเดียวที่ต้องเอาชนะให้ได้คือตัวเราเอง อย่างตัวหนูเองที่ยังกลัวอยู่ไม่กล้า จริงๆ ตอนนี้หนูควรเริ่มไลฟ์ขายของได้แล้ว แต่ยังผลัดไปก่อน ยังเขินอยู่ไม่กล้าพูดหน้ากล้อง ก็ค่อยฝึกไปปรับตัวไป แต่หนูเชื่อเรื่องของกฎแรงดึงดูด อยากเก่งก็ต้องอยู่กับคนที่เก่ง คนที่เขาประสบความสำเร็จ คนรอบข้างก็สำคัญ ถ้าทุกวันนี้ยังงมโข่งอยู่ประตูน้ำ มันก็คงเป็นเหมือนเดิมๆ แต่พอวันนี้เราพยายามมากขึ้น อย่างน้อยเราก็ได้พัฒนาตัวเอง”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

1:2 Coffee 3 ปี ร้อยล้าน เส้นทางความสำเร็จร้านกาแฟในเชียงรายขยายสู่กรุงเทพ

1:2 Coffee, onetotwo,แรงบันดาลใจ, ธุรกิจกาแฟ, ธุรกิจร้อยล้าน, sme, ไอเดียธุรกิจ, ผู้ประกอบการ, เจ้าของธุรกิจ, เทรนด์ธุรกิจ, บริหารธุรกิจ, case study, SME, กลยุทธ์การตลาด, คาเฟ่, ร้านกาแฟ

รู้จัก YJ 3D MODEL สตูดิโอเก็บความทรงจำแบบล้ำๆ ที่ทำคนจิ๋วเสมือนจริง!

การเก็บความทรงจำด้วยภาพถ่ายเป็นที่ระลึกแบบเดิมๆ นั้น ในวันนี้ต้องหลบให้กับโมเดลฟิกเกอร์ 3 มิติ ที่เราสามารถสแกนตัวเองแล้วได้คนจิ๋วเสมือนจริงมาเป็นความทรงจำแทน โดยเริ่มมีสตูดิโอที่ทำโมเดล 3 มิติมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ YJ 3D MODEL Studio

ทำ Workshop ให้เป็น Hero Product กลยุทธ์ปลุกฮีโร่พันธุ์ใหม่ สไตล์ Herbaria Studio

ใครว่า Hero Product ต้องเป็นแค่สินค้าเพียงอย่างเดียว เมื่อวันนี้ Workshop ก็สามารถเป็นฮีโร่ตัวจริงของแบรนด์ได้ เหมือนอย่างที่เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร แห่ง Herbaria Studio ผู้ให้กำเนิด Workshop สุดอาร์ท กำลังทำอยู่..