นานแค่ไหนกันแล้วที่คนไทยไม่ได้ใส่เสื้อหนาวตามฤดู
นานแค่ไหนที่ระยะเวลาของฤดูหนาวมีจำนวนวันน้อยลงทุกที
นี่คือ ตัวอย่างของผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาดังกล่าวล้วนเกิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น เพื่อแก้ปัญหานี้ทำให้ทุกภาคส่วนเกิดการตื่นตัวที่จะช่วยกันลดโลกร้อน
ปลายปี 2565 ได้มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน คือการออกร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy) เป็นฉบับแรก ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับภาคธุรกิจ ในการวางแผนกลยุทธ์เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Thailand Taxonomy เพื่อการเตรียมตัวปรับในอนาคต
Taxonomy ไม่ใช่การเก็บภาษี
ก่อนอื่นต้องบอกว่า Taxonomy ไม่ใช่การเก็บภาษี แต่คือ ระบบการจำแนกประเภท และการจัดทำรายการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน กล่าวคือกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมระบุวัตถุประสงค์ ที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง ระบุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม หลักการในการระบุกิจกรรมว่าเป็นสีเขียว กำหนดภาคเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในขอบเขต และวิธีการดำเนินงาน
Thailand Taxonomy คือ อะไร
Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้ในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย พัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับภาคเอกชน
Thailand Taxonomy ถูกพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 °C โดยมีโครงสร้างสำคัญ ดังนี้
- เพื่อกำหนดแนวทาง กรอบแนวคิด และมาตรฐานให้แก่ตลาด นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
Taxonomy จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยหลีกเลี่ยง "การกล่าวอ้างเกินจริง (greenwash)" ของธุรกิจในด้านการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังช่วยให้การจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการสีเขียวสอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ตามแนวโน้มที่ผู้คนและสถาบันการเงินจำนวนมากต้องการลงทุนในโครงการที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ Taxonomy ยังทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติหรือกรอบการดำเนินงานอื่น ๆ มากขึ้น เช่น แนวปฏิบัติของกลุ่มคณะทำงานมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Taskforce on ClimateRelated Financial Disclosures (TCFD))
- เพื่อดึงดูดเงินลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากต่างประเทศ
Thailand Taxonomy จัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และ Taxnomy ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดย Thailand Taxonomy จะช่วยเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อของธุรกิจไทยในตลาดโลก
- เพื่อเอื้อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลที่สอดคล้องกัน
Thailand Taxonomy จะกำหนดนิยาม ของโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับอ้างอิงทำให้สามารถพัฒนาระบบข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบข้อมูลที่ดีจะทำให้ภาครัฐภาคเอกชน และหน่วยงานในภาคการเงินที่นำ Thailand Taxonomy ไปใช้ในการดำเนินงานสามารถเปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
- เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและเสนอทางเลือกในการลดความเสี่ยง
เงื่อนไขและตัวชี้วัดภายใต้ Thailand Taxonomy จะเป็นแนวทางที่ให้ภาครัฐและภาคเอกชนรับทราบความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประเมินความเสี่ยงในภาคการเงิน
- เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐให้เป็นไปตามที่มุ่งหวัง
ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ตามที่ได้ตกลงไว้ในความตกลง ปารีส (Paris Agreement) และตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยภาครัฐสามารถใช้ Thailand Taxonomy เป็นเครื่องมือในการกำหนดกิจกรรมเป้าหมายและพัฒนานโยบายสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
- เพื่อใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการเก็บข้อมูล
Thailand Taxonomy กำหนดเงื่อนไขและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ในการทำความเข้าใจสถานการณ์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงนโยบายและการดำเนินการเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action)
สำหรับประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาเป็น Thailand Taxonomy มีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ระยะที่ 1 ครอบคลุมภาคพลังงานและการขนส่ง มีเกณฑ์การประเมินวัดจากระบบ Traffic-Light System แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
สีเขียว คือ กิจกรรมที่มีการดำเนินงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็น Net Zero แล้ว หรือใกล้เคียงแล้วในปัจจุบัน เช่น การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังงานลม ฯลฯ มักใช้กับกิจกรรม สินทรัพย์หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคการขนส่ง
สีเหลือง คือ กิจกรรมที่มีศักยภาพสามารถไปสู่ความเป็น Net Zero ได้ โดยมีแผนการเปลี่ยนผ่านตามเส้นทางการลดคาร์บอนและกรอบเวลาที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่ใช้กับการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าชีวภาพที่มีแผนปรับปรุงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงในระยะสั้น
สีแดง คือ กิจกรรมที่ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญคือ อยู่นอกเหนือขอบเขตการเปลี่ยนผ่านที่น่าเชื่อถือ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ และสมควรที่จะลด หรือยุติการใช้ให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดีแม้ Thailand Taxonomy จะไม่ใช่มาตรการบังคับ แต่อาจใช้เป็นตัววัดของภาคธุรกิจ ซึ่งใครที่ทำได้ตามมาตรฐานนี้ก็ย่อมได้เปรียบในแง่หนึ่งที่จะเห็นได้ชัดขึ้นในอนาคตคือ การยอมรับจากสถาบันการเงิน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, finbiz by TTB,
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี