รู้จักไหม บริษัทซอมบี้ ผีดิบในวงการธุรกิจ ที่ไม่ตาย แต่ก็ไม่โต สภาวะน่ากลัวที่กระจุกตัวอยู่ใน SME ไทย

TEXT : Sir.nim

     ลงทุนทำธุรกิจ แน่นอนไม่ว่าใครก็อยากเติบโตก้าวไปข้างหน้าด้วยกันทั้งนั้น การบริหารจัดการระหว่างเงินเข้า-เงินออก คือ หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องบาลานซ์ให้ดี ยิ่งเข้ามากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ต้องไม่น้อยกว่าออก นี่คือ กฎเหล็กเพื่อให้กิจการไปต่อได้ แต่จะทำยังไง หากวันหนึ่งธุรกิจเกิดสะดุดหยุดนิ่งเหมือนถูกแช่แข็ง เมื่อศักยภาพในการทำกำไรกลับถดถอย ในขณะที่รายจ่ายและหนี้สิน ก็ยังดำเนินต่อไป หลายบริษัทเกิดสภาวะเช่นนี้ จนเกิดคำเรียกว่า “Zombie Company” หรือ บริษัทผีดิบขึ้นมา ที่ไม่ตาย แต่ก็ไม่เติบโต เดินหน้าต่อไปได้ยาก ซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที

     บริษัทซอมบี้ เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร ทุกวันนี้มีจำนวนมากแค่ไหน ส่งผลเสียอะไรต่อธุรกิจบ้าง หากไม่อยากเป็นซอมบี้ในธุรกิจ ต้องทำตัวอย่างไร วันนี้ชวนมาทำความรู้จัก Zombie Company ให้ลึกซึ้งมากขึ้นกัน

บริษัทซอมบี้ คือ อะไร

     “Zombie Company”, “Zombie Firm” หรือแปลเป็นไทยตรงตัว ก็คือ บริษัทผีดิบ ซึ่งในที่นี้ใช้เปรียบเปรยถึง ธุรกิจที่ไม่มีความสามารถในการดำเนินกิจการให้เติบโตขึ้นได้ ไม่ทำกำไร แต่ยังพยุงตัวอยู่ได้ มีเงินจ่ายค่าแรงพนักงาน ค่าเช่า แต่กับหนี้สินจ่ายได้เพียงแค่ดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีกำไรไปจ่ายเงินต้น จนเกิดเป็นหนี้สินล้นตัว เรียกง่ายๆ ว่าไม่ตาย ไม่ล้มละลาย แต่ไม่โต โดยทั่วไปจะใช้เรียกกับบริษัทที่ไม่สามารถทำเงินได้เพียงพอ กิจการหยุดนิ่งไม่เติบโตภายในระยะเวลาติดต่อกันนานสามปี

ญี่ปุ่น ผู้ให้กำเนิด Zombie Company

     คำว่า Zombie Company เกิดขึ้นมาในช่วงปี 1990 เริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นกำลังประสบปัญหาการส่งออกหดตัวจากค่าเงินเยนแข็งตัว หลังจากทำข้อตกลง Plaza Accord กับสหรัฐอเมริกา จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งกินระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี จนมีคำเรียกว่า “Lost Decade” หรือทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่น มีหลายบริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

     ตัวอย่างเช่น บริษัท Daiei ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่เกือบล้มละลายจากวิกฤต จนทำให้เป็นหนี้ก้อนโตกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ด้วยความที่มีพนักงานอยู่เกือบราวแสนคน รัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นแล้วว่า หากปล่อยให้เกิดล้มละลายขึ้นมาต้องส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อผู้คนจำนวนมาก และเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ยื่นมือเข้าไปช่วยอัดฉีดด้านการเงิน อาทิ การปล่อยสินเชื่อเพิ่ม การคิดอัตราดอกเบี้ยราคาถูก ไปจนถึงการให้ผ่อนจ่ายชำระเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อนได้

     จากการช่วยเหลือของภาครัฐที่เข้าไปช่วยพยุงไว้ ทำให้บริษัท Daiei ไม่ล้มละลาย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เติบโตไปข้างหน้าได้ สภาวะดังกล่าวจึงไม่ต่างจากซอมบี้ หรือผีดิบ ที่ยังเดินเหินได้ แต่ก็ไร้ซึ่งชีวิต จนถูกตั้งฉายาให้ว่า “Zombie Company”

Zombie Company ทำให้เกิดผลเสียอย่างไร

     ถามว่า ซอมบี้ธุรกิจ ทำให้เกิดผลเสียอย่างไร ต้องเท้าความให้ฟังก่อนว่าปกติในระบบเศรษฐกิจที่ดี บริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ทำกำไรได้ดีกว่า ย่อมเข้ามาแทนที่บริษัทที่อ่อนแอกว่า นี่คือ กฎตามหลักความเป็นจริง แต่เมื่อเป็น Zombie Company ทุกอย่างจะไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทที่อ่อนแอกว่าไม่ได้ถูกปล่อยให้ล้มหายไปอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับได้รับความช่วยเหลือให้ยืดระยะเวลาการล้มละลายออกไป ซึ่งลองคิดดูว่าหากมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพโดยรวมของเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร แทนที่ทรัพยากร เช่น วัตถุดิบผลิตสินค้า, เม็ดเงิน จะถูกนำมาใช้ให้กับบริษัทที่มีประสิทธิภาพ ควรให้การสนับสนุน กลับต้องนำไปใช้อุ้มบริษัทซอมบี้ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้

     โดยหลังจาก 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลในหลายประเทศ ต่างหันมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แต่หารู้ไม่ว่ากลับเป็นการปล่อยให้บริษัทที่ขาดประสิทธิภาพในการทำธุรกิจให้เติบโต สามารถกู้ได้ง่ายขึ้น เพื่อนำมาพยุงธุรกิจให้รอด จนนำไปสู่การสร้างให้เกิดจำนวนกิจการที่เป็น Zombie Company เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง โดย 5 อันดับของบริษัทที่เป็น Zombie Company มากที่สุด ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์, สิ่งทอ, การโรงแรม, ยานยนต์ และสินค้าเกษตร

อัพเดตสถานการณ์ Zombie Company วันนี้

     จากการวิเคราะห์ของ Associated Press สำนักข่าวสัญชาติอเมริกัน พบว่าปัจจุบันตัวเลขของบริษัท Zombie Company เหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น จากบริษัททั่วไป ไปจนถึงบริษัทที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยมีอยู่ราวเกือบ 7,000 แห่งทั่วโลก เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ก็มีมากถึง 2,000 แห่งแล้ว

     โดยพบว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตัวเลขบริษัทซอมบี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 1 ใน 3 หรือราว 30% ในออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บริษัทสาธารณูปโภค, ผู้ผลิตอาหาร, บริษัทเทคโนโลยี โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และอื่นๆ เมื่อจำนวนบริษัทซอมบี้เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย มีการวิเคราะห์ว่าบริษัทซอมบี้เหล่านั้นอาจมีพนักงานทำงานอยู่อย่างน้อย 130 ล้านคนในสิบกว่าประเทศเลยทีเดียว

     Spitznagel ผู้ก่อตั้ง Universa Investments กล่าวว่า การที่สถาบันการเงินต่างเข้ามาช่วยอุ้มบริษัทซอมบี้ต่างๆ โดยการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลาหลายปีแทนที่จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง เป็นเหมือนการจุดเชื้อเพลิงที่วันหนึ่งอาจลุกลามกลายเป็นไฟป่าขึ้นมาได้ หากบริษัทซอมบี้เหล่านั้นถึงทางตัน กู้หนี้สินเข้ามาทับถมตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่สามารถชำระได้ จนเกิดการล้มครื้นขึ้นมาทั้งระบบนิเวศได้

     เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่นต้นกำเนิดของ Zombie Company โดย William Pesek คอลัมน์นิสต์และนักข่าวประจำกรุงโตเกียวที่ทำสกู๊ปเกี่ยวกับบริษัทซอมบี้ในญี่ปุ่น ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อช่วงสิ้นปี 2023 ไว้ว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีบริษัทซอมบี้มากถึง 250,000 บริษัท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมค้าปลีก 27.7% รองลงมา คือ อุตสาหกรรมขนส่งและสื่อสาร 23.4% และอุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นสัดส่วน 17.8% โดยระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมาบริษัทซอมบี้เพิ่มขึ้นราว 30% วิกฤตโควิด คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้บริษัทซอมบี้เหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นมาประมาณ 1 ใน 3 (ระหว่างปี 2021-2022) ของที่มีอยู่เลยทีเดียว

กระจุกตัวในกิจการเล็กๆ มากที่สุด

     ขณะที่ในประเทศไทย Economic Intelligence Center (EIC) จากธนาคารไทยพาณิชย์ เคยทำการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจที่เป็น Zombie Company ในไทยเอาไว้ว่า ส่วนใหญ่แล้วจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่สุด (มีทรัพย์สินราว 5 แสนบาท) โดยมีมากถึง 16.4% รองลงมา คือ บริษัทขนาดใหญ่ 10.5% ขนาดที่บริษัทไซส์กลางจะอยู่ที่ราว 5-7% สาเหตุที่ทำให้บริษัทไซส์เล็กกลายเป็น Zombie Company มากที่สุด น่าจะมาจากความอ่อนแอของศักยภาพในการชำระหนี้ ซึ่งสามารถทำได้น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ดูมีความน่าเชื่อถือ จึงทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า โดย EIC เคยประเมินว่า Zombie Company ในไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 9.1% ในปี 2019 ไปเป็น 16.0% ในปี 2022

     และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ความน่ากลัวของวิกฤต Zombie Company ธุรกิจไม่ตาย แต่ไม่โต ถ้าไม่อยากตกเป็นธุรกิจซอมบี้ที่เหมือนถูกแช่แข็ง จะเดินหน้าก็ยาก กลับหลังหันก็ไม่ได้ ผู้ประกอบการควรประเมินศักยภาพของตัวเองให้ดี ไม่ว่าการลงทุน หรือการก่อหนี้สักก้อน ลองค่อยเป็น ค่อยไป ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ทำระบบบัญชี การเงินให้แม่น โตช้าๆ แต่โตอย่างมั่นคง มีคุณภาพ น่าจะดีกว่า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/9444

https://www.longtunman.com/42405

https://thestandard.co/zombie-company/

https://japantoday.com/category/business/zombies-ranks-of-world's-most-debt-hobbled-companies-are-soaring-and-not-all-will-survive

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้ง การวางแผนหรือการจัดการที่ไม่ชัดเจน

ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์

คำมี สตูดิโอ ปั้นดิน กินพิซซ่า สร้างงานเซรามิกให้เป็นเวิร์กช็อปแห่งแรกของแพร่

‘คำมี สตูดิโอ’ สตูดิโอเซรามิกแห่งแรกของแพร่ที่มีเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจ เปิดสอนเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์เท่านั้น เป็นคราฟต์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เป็นงานไม่มีรูปแบบ ถนัดปั้นขด ทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน