“กินข้าวบ้านแจม” ร้านดังในนครสวรรค์ เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นจุดต่าง ทำกัน 2 คน ขายแค่วันละ 3 โต๊ะ

TEXT: จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : กินข้าวบ้านแจม

     จำได้ไหมตอน 5 ขวบคุณฝันอยากเป็นอะไร

     แล้วจะมีสักกี่คนที่สานต่อความฝันในวัยเด็กให้เป็นจริง เหมือนกับ “ทักษิณา โอสถานุเคราะห์ (แจม)” เจ้าของร้านอาหาร ชื่อดังบนโลกออนไลน์ กินข้าวบ้านแจม” ที่กว่าจะมีวันนี้ต้องต่อสู้เพื่อความฝัน สมบุกสมบันกว่าที่คิด นำเงินก้อนสุดท้ายมาเปิดร้าน แต่ต้องเจอผู้รับเหมาโกงถึง 2 ครั้ง จนเงินเก็บแทบไม่เหลือ ฮึดสู้ต่อจนร้านเสร็จ แต่เจอโจทย์ทำกันแค่ 2 คน ไม่มีกระทั่งลูกจ้าง เลยเปิดขายได้แค่ 3 โต๊ะ วันละ 2 รอบเช้า-เย็น ลูกค้าต้องจองก่อนกิน และต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเท่านั้น

     ใครจะคิดว่าสุดท้ายร้านจะดังและปัง! คนต่างอยากมา "กินข้าวบ้านแจม" ที่นครสวรรค์ แม้จะจองยาก! พวกเขาทำได้อย่างไร มาดูกัน!!!

  • ลัดฟ้าตามล่าฝันที่ออสเตรเลีย

 

     “แจม” ชอบทำอาหารมาตั้งแต่วัยเพียง 5 ขวบ เธอมักติดตามคุณยายเข้าครัวจนหลงใหลในการทำอาหาร ตอนทำสารนิพนธ์ (IS) จบ ขณะเรียนปริญญาโทด้าน การบริหารธุรกิจบันเทิงและการผลิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เธอยังเลือกนำเสนอโมเดลธุรกิจร้านอาหาร ที่ชื่อ “ต้มยำกุ้ง แฟคทอรี่” และมีความฝันว่า สักวันหนึ่งจะมีร้านอาหารเป็นของตัวเองให้ได้ จนได้รับโอกาสจากญาติสนิทอย่างคุณป้าที่เห็นความตั้งใจจริง จึงให้ทุนไปตามล่าฝันที่ประเทศออสเตรเลีย  

     หลังลงจากเครื่อง เป็นคนอื่นคงรีบบึ่งไปโรงแรมที่พัก หรือที่เที่ยว แต่แจมกลับพุ่งตรงไปยัง “ร้านดู๋ดี๋” ร้านอาหารไทยชื่อดังในออสเตรเลีย ที่มีสาขาอยู่ในซิดนีย์ และกำลังจะขยายสาขาไปเมลเบิร์นในตอนนั้น วันที่ลงเครื่องคือวันสุดท้ายของการรับสมัครพนักงานในสาขาใหม่ และเธอไปถึงเป็นคนสุดท้าย เดชะบุญที่ยังได้โอกาสสัมภาษณ์ ด้วยจำนวนคนสมัครที่มาก แถมเธอยังไปถึงเป็นคนสุดท้าย และเวลานั้นยังไม่ได้ภาษาอะไรด้วยซ้ำ เลยเผื่อใจไว้แล้วว่าจะไม่ได้งาน แต่ยังไงเธอก็ต้องอยู่รอดในเมืองนอกให้ได้ โดยที่ไม่คิดจะรบกวนเงินจากที่บ้านอีก  จึงไปลงเรียนภาษา และสมัครงานตามร้านอาหารไทย งานไหนค่าแรงเยอะก็ทำหมด ไม่เคยเกี่ยงงาน แม้แต่งานร้านนวด เจอกดค่าแรง เจอคำดูถูกมาสารพัด แต่ใครจะคิดว่า ผ่านมา 3 เดือน และตรงกับวันเกิดของเธอพอดิบพอดี จะได้รับสายจากร้านดู๋ดี๋ แจ้งข่าวว่า เธอได้งานแล้ว!

     “ตอนสัมภาษณ์บอกพี่เขาไปว่า เรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และซื่อสัตย์ เขาบอกว่าที่เลือกเพราะคำนี้แหล่ะ มุ่งมั่นและซื่อสัตย์ เพราะสำคัญต่อการทำงานในร้านอาหารมาก จากนั้นเขาก็เริ่มเทรนงานทุกอย่าง ก็ทำทุกอย่างกับเขาจนเกิดเป็นร้านดู๋ดี๋สาขาเมลเบิร์นขึ้นมา ตอนนั้นจะดูแลงานครัวเป็นหลัก โดยตำแหน่งสุดท้ายคือเป็นหัวหน้าดูแลฝ่ายอ็องเทร่ หรือ อาหารเรียกน้ำย่อย อาหารทานเล่น ซึ่งเป็นจานแรกที่เสิร์ฟและต้องออกเร็วสุด ก็ทำอยู่ที่นี่ถึงประมาณ 4 ปี”

     แจมบอกเราว่า ตั้งแต่ทำงานวันแรก จนถึงวันสุดท้าย เธอยังคงทำงานอย่างเต็มที่และซื่อสัตย์ ไม่เคยเกี่ยงงาน และเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากร้านเสมอ พิสูจน์ว่าประโยคที่เธอเคยพูดไว้ตอนสัมภาษณ์ เธอยังรักษามันไว้ได้จนวันสุดท้าย

  • เก็บเงินก้อนมาลุยฝันต่อที่บ้านเกิด

           

     หลังเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เป็นจังหวะที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤติโควิดเข้าพอดี แจมจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ จ.นครสวรรค์ โดยหอบความฝันที่อยากเปิดร้านอาหารกลับมาด้วย ตอนนั้นมีบ้านเก่าของคุณตาคุณยายอยู่หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมน้ำ ในตลาดท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เธอจึงคิดจะเปิดเป็นร้านอาหาร เพราะจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า แต่กว่าคุณตาคุณยายจะอนุญาตก็ใช้เวลาอยู่หลายปี เรียกว่าขอกันมาตั้งแต่ก่อนไปเมืองนอกด้วยซ้ำ  

     สุดท้ายเมื่อได้ไฟเขียวให้ทำร้าน เธอจึงเริ่มลงมือออกแบบความฝันในหัว มาขีดๆ เขียนๆ ลงกระดาษ จากนั้นก็ไปจ้างช่างรับเหมามาต่อเติมความฝันให้ ทว่ากลับถูกโกงต้องเสียเงินไปหลายแสน โดยที่ร้านยังไม่เสร็จด้วยซ้ำ พอจ้างช่างรายใหม่ ก็ถูกโกงซ้ำอีก จนเงินเก็บที่สั่งสมมาจากการทำงานหนัก แทบสลายหายไปในพริบตา

     “ตอนแรกคิดว่าจะเลิกทำแล้ว กลับออสเตรเลียดีกว่า แต่คิดไปคิดมา เรารื้อบ้านคุณตาคุณยายไปแล้ว ถ้าไม่ทำต่อท่านจะคิดยังไง อุตส่าห์ให้โอกาสทำ  ทำไม่สำเร็จไม่พอ ยังทำบ้านเขาพังอีก ก็เลยตัดสินใจสู้ต่อ ตอนนั้นเงินก็แทบไม่มีแล้ว เลยไปให้ลุงแถวบ้านที่เป็นช่างไม้มาทำให้ ซึ่งแกก็ทำของแกคนเดียว ยกเสายกอะไรเองคนเดียวหมด ส่วนสีพวกเราก็ทากันเอง แถวบ้านมียายที่เขาทำคอกวัว มีพี่ๆ น้องๆ ก็ให้มาช่วยเคลียร์ดิน ปลูกหญ้า ช่วยกันทำจนเสร็จในที่สุด”

     และแล้วร้านหนึ่งร้านที่เกิดขึ้นจากคนทำแค่ไม่กี่คนก็ปรากฏโฉมขึ้น แต่อยู่ในย่านเล็กๆ ห่างไกลจากตัวเมือง แถมคนส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ ข้อจำกัดในการเริ่มต้นธุรกิจของกินข้าวบ้านแจม เลยมีไม่ใช่น้อย ตั้งแต่ไม่มีทุนมาก ทั้งร้านมีคนทำงานอยู่แค่ 2 คน คือ แจม ทักษิณา และคนสนิทอย่าง  “กรชนก จิรธีระพัฒน์ (พลอย)” โดยเธอรับหน้าที่เป็นเชฟ ส่วนพลอยดูแลงานบริการและหน้าร้านทุกอย่าง ไร้ซึ่งพนักงาน กระทั่งล้างจาน กวาดร้านก็ยังต้องทำกันเองหมด

     แต่เพราะข้อจำกัดนี่แหล่ะ ที่ทำให้เกิดเป็นคอนเซ็ปต์ร้านที่แตกต่าง และทำให้ “กินข้าวบ้านแจม” กลายเป็นที่โด่งดังอย่างทุกวันนี้

       

  • ร้านอาหาร “เข้าถึงยาก” ที่ใครๆ ก็อยากไปกิน

 

     ไม่รับลูกค้าหน้าร้าน (Walk in) ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น วันธรรมดาจองล่วงหน้า 1 วัน ถ้าเป็นวันหยุดต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ ทั้งร้านมีบริการแค่ 3 โต๊ะ วันละ 2 รอบ ที่สำคัญต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนก่อนทุกครั้ง ถึงจะมากินอาหารที่ร้านได้

     นี่เป็นเพียงตัวอย่าง “เงื่อนไข” ที่ร้านกินข้าวบ้านแจม ชี้แจงกับลูกค้าของพวกเขา ยังไม่รวมเงื่อนไขอื่นๆ เช่น หากจะนำอาหารที่เหลือกลับบ้าน ก็ต้องนำพาชนะส่วนตัวมาใส่เองเท่านั้น เพราะที่ร้านไม่มีบริการถุงพลาสติกให้

     ทั้งหมดที่ทำไม่ใช่เพราะอยากเท่ หรืออยากคูล แต่กำลังแก้ปัญหา “ข้อจำกัด” ที่พวกเขามีล้วนๆ ตั้งแต่ ทำกันอยู่แค่สองคนเลยรับลูกค้าได้ไม่มาก ชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึงหาคนทำงานลำบาก พื้นที่นี้มีแต่ผู้สูงวัย จึงไม่อยากให้คนพลุกพล่านวุ่นวาย และการจองล่วงหน้า ยังทำให้สามารถคัดสรร จัดเตรียมวัตถุดิบคุณภาพได้อย่างเพียงพอ ทุ่มเทรังสรรค์เมนูที่ประณีตแบบจานต่อจาน และไม่มีของเหลือทิ้งให้เป็นขยะ หรือเป็นภาระด้านต้นทุนให้กับพวกเขา ถ้าไม่จ่ายเงินก่อน เกิดลูกค้าไม่มา ของก็จะเน่าเสีย และร้านก็จะเสียหาย ส่วนที่ไม่แจกถุงพลาสติก เพราะไม่อยากสร้างขยะที่ยากต่อการย่อยสลายให้กับโลก และอยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ที่พวกเราล้วนมีส่วนสร้างทั้งสิ้น 

      “ตอนแรกลูกค้าก็ไม่เข้าใจ แต่เราพยายามอธิบายถึงข้อจำกัดที่เรามี โดยสื่อสารไปยังช่องทางเฟซบุ๊กของเรานี่แหล่ะ ซึ่งตอนหลังทุกคนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น เวลามาทาน พอเขาได้ความเป็นส่วนตัว และอาหารที่สดใหม่ ที่เราตั้งใจทำ เขาก็เกิดความประทับใจ ไปพูดถึง ไปแชร์ต่อ ร้านจึงค่อยๆ เป็นที่รู้จักขึ้นมา ซึ่งลูกค้าของเรามีตั้งแต่ มาคนเดียว มากับคนรัก เพื่อนฝูง และครอบครัว ทุกคนล้วนตั้งใจมาทานจริงๆ โดยเรารับลูกค้าได้สูงสุดต่อรอบประมาณ 20-25 ท่าน และตอนนี้เรามีบริการให้เช่าสถานที่และรับจัดงานในโอกาสต่างๆ ด้วย ซึ่งสามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 30-40 ท่าน นอกจากนี้ยังมีบริการรับจัดทำ Set Box อาหารมื้อพิเศษ ก็เป็นรายได้อื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา” แจมบอก

  • ร้านอาหารที่เติบโตคู่ชุมชน

           

     หนึ่งในจุดเด่นของร้านกินข้าวบ้านแจม คือ เมนูอาหารที่หลากหลาย หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล โดยมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นหลัก พวกเขารับซื้อพืชผักของชาวบ้านแทนการไปแผงผักในตลาดหรือในห้างฯ ใช้ไข่ไก่อารมณ์ดีจากฟาร์มในชุมชน และผลผลิตในชุมชนเพื่อไปรังสรรค์เป็นเมนูอร่อย เธอบอกว่าการซื้อวัตถุดิบในชุมชน ไม่ใช่เพราะอยากได้ของถูก เพราะบางอย่างอาจแพงกว่าท้องตลาดด้วยซ้ำ แต่นอกจากจะช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้แล้ว ยังจะได้วัตถุดิบที่สดใหม่ และปลอดภัย มาเสิร์ฟลูกค้าอีกด้วย ซึ่งนั่นคือเป้าหมายของร้านของพวกเขา  

     การคัดสรรตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ได้อาหารคุณภาพดี ในราคาสมเหตุสมผล แถมยังช่วยชุมชนไปพร้อมกันด้วย จนร้านกินข้าวบ้านแจม กลายเป็นที่รู้จัก และดังขึ้นมาในแบบที่คนทำเองก็ยังคาดไม่ถึง

     “เคยไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร เขาถามว่า มาจากร้านไหน เลยบอกไปว่า กินข้าวบ้านแจม เขาบอก ร้านนี้ดังมากเลยนะ แต่จองยากมากนะ (หัวเราะ) เราเลยเริ่มรู้ตัวว่ามีคนรู้จักเราเยอะมาก แต่สำหรับพวกเรา ยังเป็นแค่มดตัวเล็กๆ เท่านั้นเอง” เธอออกตัว

     มดตัวเล็กๆ บอกเราว่า ทุกวันนี้ธุรกิจพออยู่ได้ โดยที่พวกเขาไม่เคยมีหนี้สิน เพราะไม่มีนโยบายในการสร้างหนี้ และเลือกใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ การจะลงทุนทำอะไร จะประมาณตัวเองก่อนเสมอ และไม่เคยทำอะไรเกินตัว

     แต่หากถามถึงเป้าหมายจริงๆ ก็อยากขยายร้านกินข้าวบ้านแจมไปในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว รวมถึงมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากในร้าน ออกมาวางจำหน่ายด้วยในอนาคต

     “มองว่าฝันนี้อาจยังต้องใช้เวลา เพราะว่าเราเองยังไม่มีทั้งแรงงาน และเงินลงทุน แต่เชื่อว่าวันหนึ่งมันต้องเป็นจริงได้ ถ้าเรายังมีความฝันอยู่ และไม่เลิกฝัน”

     เธอยังบอกอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการตัวเล็กๆ “การได้รับโอกาส” นั้นเป็นเรื่องสำคัญ และนั่นคือหัวใจที่ทำให้มีร้านกินข้าวบ้านแจมอย่างทุกวันนี้

     “ร้านกินข้าวบ้านแจมเกิดขึ้นได้ เพราะเราได้รับโอกาสจากหลายๆ ท่าน ทั้งคุณป้าที่ให้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากต่างประเทศ โอกาสจากร้านอาหารหลายๆ ร้านในออสเตรเลียที่ให้ได้พิสูจน์และเรียนรู้งานครัวที่ไม่เคยเจอมาก่อน ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ที่ให้โอกาสเราได้ทำงานในสิ่งที่รัก ก็คงไม่มีร้านกินข้าวบ้านแจมในทุกวันนี้ การได้รับโอกาสก็เปรียบเสมือนแรงผลักดันให้เราสู้ พิสูจน์ความสามารถให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเราจะไม่ลืมตอบแทนสิ่งดีๆ ที่พวกเขาให้มา นั่นคือ ให้เห็นความสำเร็จที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความสามารถและสองมือ” เธอบอก

     สำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง แจมบอกเราว่า อยากให้เริ่มจากถามตัวเองว่า มีความฝันอะไร เธอเชื่อว่า ทุกคนต้องมีความฝัน เพราะถ้าไม่มี ก็เหมือนกับเรากำลังหลงทางอยู่ในแม่น้ำ ไม่รู้ว่าจะว่ายไปทางไหน ฉะนั้นเราต้องมีฝัน มีเป้าหมาย และต้องมุ่งมั่นที่จะลงมือทำให้สำเร็จ ที่สำคัญต้องมีทุน ดังนั้น ถ้าไม่รู้จักประหยัด อดออม และอดทน ก็คงไม่มีเงินทุนมาทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จได้ รวมถึงการได้รับโอกาสดีๆ จากคนรอบตัว ยังเป็นแรงใต้ปีกสำคัญที่จะทำให้ทุกธุรกิจ ประสบควาสำเร็จได้ เธอทิ้งท้ายไว้แค่นั้น

ช่องทางติดต่อ

โทร.064 293 9526

https://www.facebook.com/KinKaoBaanJam

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้ง การวางแผนหรือการจัดการที่ไม่ชัดเจน

ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์

คำมี สตูดิโอ ปั้นดิน กินพิซซ่า สร้างงานเซรามิกให้เป็นเวิร์กช็อปแห่งแรกของแพร่

‘คำมี สตูดิโอ’ สตูดิโอเซรามิกแห่งแรกของแพร่ที่มีเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจ เปิดสอนเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์เท่านั้น เป็นคราฟต์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เป็นงานไม่มีรูปแบบ ถนัดปั้นขด ทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน