5 เรื่องน่ารู้ก่อนทำคาร์บอนเครดิต Standard T-VER กับ Premium T-VER มาตรฐานแบบไหนที่เหมาะกับเอสเอ็มอี?

TEXT : สุภาวดี ใหม่สุวรรณ

     อย่างที่รู้กันว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เป็นกลไกเดียวที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. แต่ปัจจุบันมีการพัฒนา Premium T-VER ขึ้นมาอีกระดับ เราสรุป 5 ประเด็นสำคัญมาให้ว่ามาตรฐาน T-VER ที่มีอยู่เดิมกับ Premium T-VER มีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการจัดทำคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER

     1.มาตรฐาน T-VER ดั้งเดิมพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Standard T-VER เพราะมีการพัฒนา Premium T-VER ซึ่งมีความเข้มข้นในการดำเนินการมากกว่า คาร์บอนเครดิตมีคุณภาพสูงกว่า ทำให้โครงการ T-VER ในปัจจุบันมี 2 รูปแบบให้เลือกดำเนินการคือแบบ Standard และ Premium

     2.คาร์บอนเครดิตของ Premium T-VER มีคุณภาพสูงกว่า Standard T-VER เริ่มตั้งแต่การคำนวณ ถ้าเป็นแบบ Standard จะเทียบกับการดำเนินงานปกติ เช่น กรณียานยนต์ไฟฟ้าจะเทียบจากเชื้อเพลิงที่รถคันเดิมใช้ เช่น เบนซิน ดีเซล ถ้าเป็นแบบ Premium จะเทียบกับสิ่งที่ดีกว่าปกติ กรณีนี้คือเทียบกับเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุด เช่น ก๊าซธรรมชาติ เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำสุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิล คาร์บอนเครดิตที่จะเกิดจากโครงการ Premium T-VER จึงมีแนวโน้มว่าจะน้อยกว่าแบบ Standard แต่คุณภาพสูงกว่า

     3.Standard T-VER พัฒนาขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้มีการดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยมากๆ โดยมีผลพลอยได้เป็นคาร์บอนเครดิต ดังนั้น ไม่ว่าโครงการเก่าหรือใหม่สามารถทำเข้าร่วมโครงการ Standard T-VER ได้หมด เพียงแต่โครงการเก่าที่ดำเนินการมาแล้วจะต้องไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ประเมินภายนอก

     ถ้าเป็น Premium T-VER ต้องเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เริ่มดำเนินงานเท่านั้น และที่สำคัญต้องสนใจสังคมรอบข้าง โดยต้องจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโครงการ จากนั้นส่งเอกสารให้ อบก. เพื่อรับฟังความเห็นของสาธารณะบนเว็บไซต์ หากมีข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจะต้องแสดงแนวทางป้องกันผลกระทบเชิงลบและการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอกสารข้อเสนอ

     4.สำหรับระยะเวลาคิดเครดิต ถ้าเป็น Standard T-VER อายุโครงการทั่วไป 7 ปี (ต่ออายุได้ 1 ครั้ง) อายุโครงการป่าไม้ 10 ปี (ต่ออายุได้ไม่จำกัด) และอายุโครงการเกษตร 7 ปี (ต่ออายุได้ไม่จำกัด) ส่วน Premium T-VER อายุโครงการทั่วไปลดเหลือ 5 ปี (ต่ออายุได้ 2 ครั้ง) ส่วนอายุโครงการภาคป่าไม้เพิ่มเป็น 15 ปี (ต่ออายุได้ 2 ครั้ง)

     5.กรณีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้ง Standard T-VER และ Premium T-VER สามารถซื้อขายได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งแบบ OTC และบนแพลตฟอร์ม FTIX แต่ Premium T-VER จะพิเศษกว่าตรงที่สามารถนำเครดิตไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศได้ เช่น โครงการ EV Bus ของ EA ที่ขายเครดิตให้กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะต้องมีหนังสืออนุญาตการใช้คาร์บอนเครดิตจากประเทศต้นทางด้วย

“ถามว่าควรทำมาตรฐานแบบ Standard หรือ Premium เอสเอ็มอีต้องดูว่าเรามีกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกอะไร เริ่มดำเนินการแล้วหรือยัง ถ้าเริ่มแล้วตัด Premium ออกเลย ถ้ายังก็สามารถไปได้ทั้ง 2 ทาง ถามว่าต้องการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ใด ผู้ซื้อของท่านต้องการคุณภาพเครดิตอย่างไร คำตอบที่ได้จะช่วยท่านเลือกมาตรฐานได้ถูกและง่ายขึ้น”

ดร.ปราณี หนูทองแก้ว ผู้จัดการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต อบก.

งานสัมมนา The Business Game Changer : เมกะเทรนด์ขับเคลื่อน SME สู่ความยั่งยืน

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน