‘ลาบราดอร์’ อีโคไลฟ์สไตล์...ไม่จำกัดไอเดีย

 

 
 
เรื่อง ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง 
 
ภาพ  ปิยชาติ ไตรถาวร
 
 
8 ปีมาแล้วที่หนุ่มสถาปนิกกับสาววิศวะไม่เพียงเลือกออกแบบชีวิตโดยใช้หัวใจนำทาง แต่ยังออกแบบธุรกิจที่สะท้อนถึงตัวตน และความแตกต่าง จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ Eco Design Lifestyle Product แบรนด์ “ลาบราดอร์” ของใช้คู่กายคนรักงานดีไซน์ทั้งในและต่างประเทศ
 
เอนก-สุปรียา กุลทวีทรัพย์ สองผู้บริหารที่ร่วมบุกเบิกธุรกิจมาด้วยกันก่อนแต่งงาน เล่าให้ฟังถึงก้าวแรกธุรกิจซึ่งไม่ได้เริ่มต้นจากเงินทุนที่มากมาย แต่ใช้ไอเดียและพลังความมุ่งมั่นเป็นทุนตั้งต้น 
 

“เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ จะเกิดพลังบางอย่างให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมุ่งมั่น เราจะคิดได้ดี จะคิดได้สุด และงานจะตรงใจกับคนที่ชอบเหมือนเรา” สุปรียาเล่าถึงผลงาน Eco Design Lifestyle Product  ซึ่งคอนเซ็ปต์สินค้าที่สะท้อนถึงตัวตนของทั้งคู่ที่ชื่นชอบวิถีชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ ชอบงานออกแบบที่ใช้งานได้นานๆ ไม่ชอบของเลียนแบบตามแฟชั่น 
 
 
 
“วิถีชีวิตเหล่านี้สะท้อนมาสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายและใช้งานได้จริง ไม่จำเป็นต้องดูฟุ่มเฟือย แต่ดูถ่อมตนน่าใช้มากกว่า การใช้วัสดุธรรมชาติและออกแบบสินค้าที่ใช้งานได้ทนทาน ไม่ตามแฟชั่น ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ” เอนกบอกเช่นนั้น
 
 
แนวคิดรักษ์โลกแบบ  Eco Lifestyle ไม่เพียงสะท้อนอยู่ในงานออกแบบแต่ยังเป็นหัวใจของทุกขั้นตอนในกระบวนการทำงานของผู้คนในองค์กร 
 
“ในแง่สินค้าของเราเน้นใช้วัสดุธรรมชาติที่สามารถรีไซเคิลหรือรียูสให้ได้มากที่สุด เช่น หนังแท้ รวมถึงหนังรีไซเคิลซึ่งตอนนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถนำหนังกลับมาใช้ซ้ำได้ ส่วนวัสดุอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ เราจะเลือกใช้กระดาษรีไซเคิลก่อน นอกจากนี้ เราพยายามใช้วัสดุภายในประเทศก่อน หากไม่มีจริงๆ ถึงจะใช้วัสดุนำเข้า
 
 
ส่วนความเป็นอีโคภายในโรงงาน เราพยายามสร้างจิตสำนึกในองค์กรเล็กๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ ใช้ถุงผ้า ใช้กล่องข้าวแทนการใช้กล่องโฟม การใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
 
ถ้าถามว่าจุดเด่นของสินค้าเราคืออะไร ลูกค้าข้างนอกอาจจะมองเห็นดีไซน์เรียบง่ายที่เหมือนผ่านความคิดมาแล้วเป็นอันดับแรก แต่ถ้าถามคนในองค์กรจะบอกถึงความเป็นอีโคไลฟ์สไตล์มาเป็นอันดับหนึ่ง”
 
 
แนวคิดการทำธุรกิจของทั้งคู่ยังยึดหลักความพอเพียง ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำอะไรเกินตัว ใช้ความสุขและความสนุกในการทำงานเป็นตัวตั้ง มากกว่ากำหนดเป้าหมายที่ตัวเงินและขนาดธุรกิจ
 
“เป้าหมายของเราอยู่ที่ความสุข ความสนุกที่ได้ทำงาน เราจึงพอใจกับขนาดบริษัทที่ไม่ใหญ่มากจนเกินไป เพราะไม่อยากมุ่งแต่เรื่องตัวเลขเพียงอย่างเดียว
 
 
เนื่องจากไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่ทำธุรกิจมาก่อน เรื่องที่เราไม่อยากให้มากังวลที่สุดคือเรื่องเงิน ยึดหลักมีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น เน้นที่ไอเดีย ความคิด และความทุ่มเทของคนทำงานมากกว่า อุปสรรคหลักๆ จึงไม่ได้อยู่ที่เงินหรือการผลิต แต่จะอยู่ที่ปัญหาการลอกเลียนแบบ 
 
การเติบโตที่ผ่านมาเราใช้วิธีการทำธุรกิจด้วยความจริงใจ ตรงไปตรงมา เรียนรู้ไปกับลูกค้า พยายามทำทุกอย่างให้จบภายในองค์กรมากที่สุด ไม่ว่าจะออกแบบ ผลิต หรือการขาย อะไรที่ทำได้ก็บอกว่าทำได้ ไม่ได้ก็บอกไม่ได้ ความตรงไปตรงมาทำให้เราได้รับงานต่อเนื่อง”
 
เอนกเล่าว่า “เคยมีลูกค้าต่างชาติเห็นสินค้าเราแล้วชอบ ถามว่าเรามีคนเท่าไหร่ ผมตอบว่าคนไม่ใช่ปัญหา เพราะเราสามารถผลิตให้คุณได้ตรงตามกำหนดที่ต้องการ ผมคิดว่าขนาดไม่ใช่เครื่องวัดประสิทธิภาพที่แท้จริง แต่ขึ้นอยู่กับเราว่ามีวิธีการทำงานอย่างไรมากกว่า”
 
ทั้งคู่ยังตั้งใจออกแบบชีวิตการทำงานให้เหมือนกับอยู่บ้าน อยู่ร่วมกันในองค์กรแบบครอบครัว 
 
 
“เพราะครึ่งหนึ่งของชีวิตเราต้องอยู่กับงานทุกวัน ถ้าเรามีความสุขแล้วสนุก งานมันก็จะสุด พองานมันสุด มันก็จะตามมาที่ความชื่นชม ความชื่นชอบ รางวัล ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้มีกำลังใจทำงานต่อ” สุปรียาเล่า 
 
หนึ่งในผลงานออกแบบที่ประสบความสำเร็จได้ทั้งกล่องทั้งเงิน คือ กระเป๋าเดินทางรุ่น Humble Bag  นอกจากจะเป็นสินค้าขายดีแล้ว ยังคว้ารางวัลG-Mark ( Good Design Awards ) โดย สมาคมส่งเสริมการออกแบบของอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (  Japan Industrial Design Promotion Organization - JIDPO) มอบให้กับผลงานการออกแบบยอดเยี่ยมที่มีทั้งความสวยงามโดดเด่นพร้อมทั้งตอบสนองการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม 
 
นักออกแบบหนุ่มเล่าว่า แรงบันดาลใจในการออกแบบสามารถจุดประกายได้จากทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทาง  Humble Bag ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์กระเป๋าเดินทางที่มีหูหิ้วในสนามบิน ตอนที่เริ่มตั้งโจทย์ในใจว่าอยากทำกระเป๋าที่สามารถใส่กระดาษสำหรับเขียนแบบ ที่สามารถใส่แล็ปท็อปได้ด้วย 
 
 
 
“ตอนนั้นคิดว่าจะทำกระเป๋ายังไงให้ออกมาดูเป็นกระเป๋าแบบธรรมดาทั่วไป เลยนึกไปถึงสัญลักษณ์ที่สนามบิน แล้วพยายามทำฟอร์มขึ้นมาใหม่โดยดีไซน์องศาของโค้งและด้านข้างของกระเป๋าให้สามารถหุ้มสิ่งของได้โดยไม่ปริ”
 
สอดคล้องกับสุปรียาที่บอกว่า ทุกอย่างที่อยู่รอบตัว เช่น ต้นไม้ ของใช้ในครัว พฤติกรรมของผู้คน สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบได้อย่างไม่จำกัดไอเดีย ดังนั้นเวลาไปดูงานเพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เราจึงไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องไปดูธุรกิจที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับเรา แต่อาจจะไปดูวัด ไปเที่ยวสวนสาธารณะก็สามารถจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเลือกสถานที่ตั้งโรงงานปัจจุบันให้ออกมาอยู่นอกเมืองย่านสนามบินน้ำซึ่งยังมีบรรยากาศแวดล้อมด้วยธรรมชาติ 
 
“ผมคิดว่าจุดเด่นของเราอยู่ที่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเราไม่ได้เป็นบริษัทรับจ้างผลิต ดังนั้น เวลาที่ลูกค้าเดินมาหาเรา เขาจะเห็นคุณค่าของเราที่งานดีไซน์ มากกว่าแค่ชิ้นส่วนวัสดุที่ประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ใช่คิดจากหนังพื้นที่เท่านั้นเท่านี้ ค่าแรงเท่านั้นเท่านี้ต่อชิ้นงาน เราพยายามสร้างความแตกต่าง ทำของไม่ให้เหมือนคนอื่น พยายามหาแนวทางใหม่ๆ ซึ่งทุกครั้งที่เริ่มต้นมักจะเต็มไปด้วยความท้าทายว่าจะทำได้หรือเปล่า เพราะถ้าเราทำงานเหมือนกับคนอื่นก็เท่ากับเราไม่ได้คิดอะไรใหม่ๆ...
 
 
 
ความสุขในการทำงานของผม คือ เรารู้สึกเหมือนได้พูด หรือเสนอความคิดอะไรบางอย่างออกไปให้กับลูกค้า สำหรับผมจุดวัดความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่รางวัล แต่เครื่องวัดของจริง คือตอนที่ลูกค้ามาซื้อของมากกว่าว่าเขาเห็นแล้วรู้สึกชอบมาก เช่น เด็กต้องไปเกี่ยวแขนคุณแม่ ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วอยากได้เพราะคิดว่ามันใช่สิ่งที่เขาควรจะมี
 
เคยมีลูกค้าคนหนึ่งอยากให้ผมช่วยเลือกกระเป๋าให้หน่อย เขาบอกไม่รู้จะเลือกใบไหนดี เพราะที่บริษัทเขาใช้ของที่นี่กันทุกคน เขาอยู่บริษัท A49 ซึ่งคุณนิธิ สถาปิตานนท์ ก็เป็นลูกค้าเราเหมือนกัน” เอนกเล่า พร้อมกับสำทับว่า “เป้าหมายการทำงานสำหรับผมขอแค่ทำแล้วมีความสุข อย่างอื่นก็ไม่กลัว ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ผมเป็นคนไม่กลัวเหนื่อย ส่วนคุณสุปรียาก็เป็นคนเหนื่อยไม่เป็น” นักออกแบบหนุ่มที่นั่งทำงานถึงเที่ยงคืนเกือบทุกวันบอกเช่นนั้น 
 
สำหรับเป้าหมายก้าวต่อไปสินค้า Design Items แบรนด์ “ลาบราดอร์” สุปรียา ผู้บริหารสาว บอกว่า ในระยะสั้นคือการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้เป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์ที่เข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ความหลากหลายของสินค้าและโอกาสการใช้งานจากปัจจุบันที่มีสินค้าสมุด Organizer กระเป๋าซองคอมพิวเตอร์แบบพกพา ซองใส่โทรศัพท์ สินค้ากลุ่มเครื่องเขียน ฯลฯ 
 
ส่วนเป้าหมายระยะยาว คือ การใช้วัสดุธรรมชาติผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ตามกระแสแฟชั่น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกในการใช้สินค้าโดยลดการสิ้นเปลือง และลดขยะบนโลกให้มากที่สุด 
 
 
 
ที่มา K SME Inspired
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล