MaxGrainta จากลูกบ้านักวิทยาศาสตร์ สู่ผู้คิดวิธีผลิตนมจากเมล็ดถั่วเจ้าแรกของโลก

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     ว่ากันว่า การทำธุรกิจ ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ ได้ผลกำไรที่ดี ต้องมีการคิดคำนวณอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ต้นทุน การผลิต การทำตลาด ไปจนวิธีการขายและการกำหนดราคา แต่สำหรับการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ เป้าหมายที่ต้องการ คือ ผลลัพธ์ที่ออกมาดีที่สุด ทุกอย่างจึงถูกคิดแบบที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุน ความยากในการผลิต และราคาที่ต้องจ่ายใดๆ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักธุรกิจจึงต่างกันอย่างสุดขั้ว จากวิธีการคิดคนละรูปแบบ ถึงแม้เป้าหมายอยากจะผลิตสินค้าหรือผลงานที่ดีที่สุดออกมาก็ตาม

     จะมีบ้างไหม? ที่ทั้งสองอย่างจะเดินคู่กันไปได้อย่างลงตัว

     วันนี้เรามีเรื่องราวของ แมคเกรนต้า (MaxGrainta) แบรนด์นมถั่วแท้ๆ ที่ผลิตจากถั่วเต็มเมล็ดแบรนด์แรกของไทย หรืออาจเป็นแบรนด์แรกของโลกด้วยก็ว่าได้มาฝาก ที่เลือกใช้วิธีการผลิตแบบโฮมเมด แล้วนำมาทำในรูปแบบอุตสาหกรรม เป็นวิธีที่น้อยคนนักจะเลือกทำ เพราะทั้งสิ้นเปลืองเวลา ค่าใช้จ่าย แรงงานคน แต่ถ้าทำได้ นี่คือ ผลลัพธ์ที่สุดยอด โดยมีเจ้าของ คือ ดร.ลลนา นันทการณ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ตัดโครโมโซมเพื่อสร้างดีเอ็นเอโพรบสำเร็จคนแรกของไทย ที่วันนี้เบนเข็มชีวิตเข้าสู่โลกธุรกิจแบบเต็มตัว เมื่อนักวิทยาศาสตร์ลงมือทำธุรกิจ จะแตกต่างจากเจ้าของธุรกิจทั่วไปยังไง ไปดูกัน

แรงงาน 1 คน เครื่องปั่น 4 ตัว ในหอพักสตรี

     “จริงๆ การทำธุรกิจ คือ การทำงานวิจัยอีกรูปแบบหนึ่ง ได้ค้นคว้า ทดลอง แต่เราสามารถควบคุมระบบการทำงานได้ด้วยตัวเอง และสามารถใช้ความรู้มาประยุกต์สุดขั้วโดยไม่ต้องอิงกับระบบองค์กร หรือขึ้นอยู่กับใคร”

     นี่คือ เหตุผลทำให้ ดร.ลลนา ผันตัวเข้าสู่เส้นทางสายธุรกิจ หลังจากแก้ไขปัญหาไม่ชอบธรรมในองค์กรวิทยาศาสตรทางการแพทย์สำเร็จ จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญา อาชีพนักธุรกิจจึงเป็นอาชีพสุดท้ายที่มีอิสรภาพ และมีโอกาสประยุกต์ความรู้วิทยาศาสตร์สู่สังคมโลกได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญไม่เคยคิดจะได้เงินจากการเบียดเบียนชีวิตมนุษย์

     “เอาจริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดที่จะเป็นนักธุรกิจเลย เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายก่อนไม่ต่อสัญญาทำงาน ได้ฉลองความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาองค์กรด้วยการปั่นนมถั่วเอามาแจกเพื่อนๆ น้องๆ ได้ชิม อยู่มาวันหนึ่งอาจารย์รุ่นน้องมาขอซื้อ บอกอยากเอาไปให้คุณแม่ ขอซื้อทั้งกระติกได้ไหม ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร เลยขายไปกระติกละ 150 บาท (1 ลิตร) คิดแค่ค่าถั่วพอ เสร็จแล้วก็มานั่งมองเงินที่โต๊ะว่าเฮ้ย! มันขายได้จริงๆ เหรอ นี่ขนาดยังไม่ได้ทำวิจัยอะไรเลย ต่อจากนั้นก็เริ่มมีคนมาขอซื้อเรื่อยๆ เลยเริ่มพัฒนาสูตรขึ้นมา 4 สูตร ได้แก่ ข้าวโพด, เกาลัด, แมคคาเดเมีย และข้าวไรซ์เบอรี่ โดยใช้ถั่ว 7 ชนิดเป็นพื้นฐาน คนที่แพ้นมวัว เบื่ออาหาร หรือไม่ชอบกลิ่นถั่วเหลือง  ก็สามารถทานได้ ทำอยู่ในหอพักนั่นแหละ ซื้อเครื่องปั่นมา 4 เครื่อง ปั่นโถละสูตรไปเลย ช่วงเวลานั่นลูกค้าตั้งฉายาให้ว่า “แม่ค้ากิตติมศักดิ์” เพราะปั่นได้มากที่สุดคือ 20 กระติคต่อสัปดาห์ ลูกค้าจะสั่งเยอะกว่านี้ไม่ได้ ด้วยขนาดตู้เย็นที่ต้องแช่นม และพื้นที่ห้องเช่ามีจำกัด

     “จนวันหนึ่ง มีลูกค้าคนหนึ่งเดินทางมาหาจากจังหวัดสุรินทร์ บอกว่าคุณแม่เบื่ออาหารขั้นวิกฤต ทานอะไรไม่ได้มา 2 ปี เลยอยากได้นมถั่วของเราไปให้คุณแม่ได้ลองทาน แต่ด้วยความที่เราปั่นแบบสดๆ ทำแบบพาสเจอร์ไรส์ ต้องแช่เย็นตลอดเวลา เขาเลยซื้อกล่องโฟมใส่น้ำแข็งแช่กลับไปให้คุณแม่ ปรากฏว่าพอคุณแม่เขาได้ลองทาน ก็ชอบมากสามารถดื่มหมดแก้ว และพูดคำว่า “อร่อย” ซึ่งคุณแม่ไม่ได้พูดคำว่าอร่อยมาสองปี จากที่ทานอะไรไม่ได้เลย ลูกๆ ก็ดีใจกันมาก แต่จะให้เขาขับรถเดินทางมากรุงเทพซื้อแบบนี้ทุกครั้งคงเป็นไปไม่ได้ เราเลยบอกสูตรให้ไปทำเอง จาก Pain Point ที่เกิดขึ้น เลยจุดประกายให้เริ่มคิดว่าถ้าจะทำให้ผู้บริโภคต่างจังหวัด และทั่วโลกได้ทานด้วย เราต้องผลิตแบบสเตอริไลซ์ ในระบบของโรงงานผลิต เลยหยุดทำแบบเดิม และเริ่มหันมาศึกษาหาข้อมูลแบบจริงจัง” ดร.ลลนา กล่าวจุดเริ่มต้นให้ฟัง

รอยต่อจากหอพักสตรี สู่โรงงานผลิตส่งออก

     จากความตั้งใจที่อยากผลิตสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภคได้สะดวกมากขึ้น ดร.ลลนา จึงคิดถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่จริงจังขึ้นมา เนื่องจากไม่ได้มีทุนอยู่ในมือมากนัก จึงใช้วิธีนำผลิตภัณฑ์ไปพรีเซ็นต์ เพื่อหาผู้ร่วมทุน เพื่อนำมาจดทะเบียนบริษัท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งเมื่อใครได้ทดลองชิม รู้ถึงสรรพคุณ และเห็นความตั้งใจจริง ก็ยากที่จะปฏิเสธ

     หลังจากหาทุนได้ ยังมีความยากที่เป็นโจทย์หินสำคัญรออยู่ คือ การแปลงกระบวนการผลิตจากโฮมเมดมาสู่รูปแบบอุตสาหกรรม ซึ่งขั้นตอน วิธีการนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำยังไงถึงจะอร่อย ใกล้เคียงกับสูตรแบบโฮมเมดดั้งเดิมได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ตอบโจทย์การทำธุรกิจได้

     “ความยาก คือ เราต้องพยายามทำสเตอริไลซ์ ในรูปแบบการผลิตอุตสาหกรรม ให้มีรสชาติอร่อย คุณสมบัติคล้ายพาสเจอร์ไรส์ที่เป็นแบบโฮมเมดให้ได้มากที่สุด ด้วยความเข้มข้นของนมถั่วของเราที่ไม่ได้เป็นน้ำใสๆ แต่มีความข้นเป็นครีมมี่เหมือนซุปเลย ทำให้ผ่านระบบท่อที่ผลิตและบรรจุเหมือนนมอื่นๆ ไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องรีทอร์ท (เครื่องฆ่าเชื้อด้วยความร้อน และความดัน) ครั้งแรกโรงงานที่จังหวัดนครปฐมผลิตให้ โดยสูตรแรกที่ทำออกมาเราอยากให้เป็นเครื่องดื่มฟังก์ชั่นจึงมีการเติมสารเสริมอาหารที่มีประโยชน์เข้าไปด้วย เช่น คอลลาเจน เปปไทด์, เบต้ากลูแคน”

     “ด้วยความที่เราลงมือทำเองเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่คิดค้นสูตร ทำการตลาด แพ็กส่งของ ไปจนถึงรับฟีดแบ็กจากลูกค้า ทำให้เจอ Pain Point เพิ่มอีกข้อ คือ มีลูกค้าผู้ป่วยมะเร็งหลายรายติดต่อบอกว่าเขาอยากได้สูตรที่มาจากธรรมชาติจริงๆ โดยไม่ต้องเติมสารเสริมอาหารอะไรลงไป เลยเป็นโจทย์ให้เรากลับมาคิด เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริง คือ เราอยากผลิตอาหารที่มีประโยชน์ ปราศจากสารเคมีให้ผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่พอจะสั่งผลิตใหม่รอบสอง ด้วยความที่ล็อตแรก 6,000 ขวดกว่าจะขายหมดในช่วงระยะเวลาโควิดระบาด ทำให้ทิ้งเวลานาน โรงงานเลยผลิตให้ไม่ได้ เพราะติดการผลิตเจ้าใหญ่ด้วย ถ้าจะให้ผลิต ก็ต้องรออีกนาน เลยตัดสินใจเปลี่ยนโรงงาน ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ ขอ อย.ใหม่ ซึ่งหาโรงงานผลิตไม่ได้เลย จนได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์ รศ.ดร. สุรพงษ์ พินิจกลาง ท่านช่วย แนะนำให้รู้จักกับเจ้าของโรงงานผลิตอาหารที่ใส่ใจคุณภาพ และสุขภาพของผู้บริโภค คือ คุณพานุศักดิ์ พลาวัสถ์พงษ์ (เดวิด เล้า ชิไว)  ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยยอมผลิตให้ แต่ยังช่วยเจียระไนสูตรให้ด้วย จนในที่สุดก็ได้สูตรธรรมชาติที่ลงตัว ใช้เวลากันอีก 8 เดือนกว่าจะได้สำเร็จออกมา เลยกลายเป็นพาร์ทเนอร์กันจนทุกวันนี้”

บด ต้ม ปั่น จากเมล็ดแท้ๆ เจ้าแรกของโลก

     ดร.ลลนา เล่าถึงความยากและความแตกต่างของการผลิตนมถั่วแมคเกรนต้า และนมถั่วทั่วไปว่า

     “ปกติแล้วถ้าเป็นการผลิตนมถั่วหรือนมธัญพืชทั่วไป จะใช้ถั่วที่ถูกทำเป็นผงหรือเป็นครีมถั่วเข้มข้นสำเร็จรูปที่บดมาแล้ว และเอามาต้มละลายกับน้ำ  นำเข้ากระบวนการผลิตผ่านท่อได้เลย แต่ของเรามีความข้นและเป็นครีมมี่สูงเหมือนกับซุป ที่สำคัญเราใช้กระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นเหมือนโฮมเมดเลย คือ นำเมล็ดถั่วมาบด ต้ม ปั่นจริง ทำให้ขั้นตอนยุ่งยากมากกว่า เสียเวลามากกว่า จึงหาโรงงานรับผลิตให้ยาก แต่คุณพานุศักดิ์ เจ้าของโรงงาน ได้ยอมรับผลิตให้ และถึงกับเอ่ยว่า ผมจะบ้ากับคุณ นี่จะเป็นนมถั่วแบรนด์แรกของโลกเลยที่ผลิตแบบนี้ เพราะไม่มีใครบ้าเอาถั่วเต็มเมล็ดมาบด ต้ม ปั่น มันเป็นความยากของโรงงานผลิต ต้องใช้เวลาที่นานกว่า ต้นทุนค่าแรงงาน ค่าไฟ และอื่นๆ ก็มากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามากเป็นนมถั่วที่ไม่มีเลขวัตถุเจือปนอาหารเลย สูตรอร่อยจากความเป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใส่สารคงตัว จนตอนนี้จดอนุสิทธิบัตรแล้ว”

     ปัจจุบันนมถั่วแบรนด์ แมคเกรนต้า ประกอบด้วยนม 3 ชนิด ได้แก่ นมถั่วอัลมอนด์, นมถั่วแมคคาเดเมีย และนมถั่วพิสตาชิโอ เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน ThaiFex 2023 ได้รับการตอบรับอย่างมากจากลูกค้าต่างประเทศในด้านรสชาติอร่อย ธรรมชาติที่เข้มข้น แต่ด้วยช่วงแรกผลิตออกมาในรูปแบบขวดแก้วยังไม่ตอบโจทย์เรื่องส่งออก แตกหักง่าย น้ำหนักเยอะ และต้นทุนค่อนข้างสูง ภายหลังจึงอยากปรับเข้าสู่ตลาด B2B เน้นขายปริมาณเยอะขึ้น

     “จากการที่เราเพิ่งกลับมาเริ่มต้นผลิตใหม่ ยอดขาย และจำนวนการผลิตยังไม่เยอะมาก ทำให้ต้นทุนเราค่อนข้างสูง ไม่ว่าค่าวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้ง ตอนนี้เราเลยทดลองเข้าไปขายในกลุ่มลูกค้า B2B เช่น โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมีปริมาณการใช้ทีละเยอะๆ มากกว่า โดยผลิตในรูปแบบถุงรีทอร์ทเพาช์ 1 ลิตร วิธีนี้จะทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งหากสามารถขายได้เยอะๆ สุดท้ายสินค้าก็จะถูกกระจายไปยังผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งการโฆษณา เพราะการโฆษณาเป็นการเพิ่มต้นทุน และสุดท้ายผู้บริโภค คือ ผู้แบกรับภาระ สู้นำต้นทุนมาเน้นคุณภาพของถั่ว และขบวนการผลิตดีกว่า ทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานนมถั่วที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพ ตอนนี้มีหลายธุรกิจให้ความสนใจค่อนข้างมาก ล่าสุดตอนนี้เราทดลองนำไปชงกับกาแฟ รสชาติออกมาได้ลงตัวเหมือนกับนมอื่นๆ สามารถวาดลาเต้อาร์ตได้ เขายินดีเลย เพราะนมของเรามีประโยชน์เยอะมาก เป็นการสร้างมูลค่าให้สินค้าเขาเพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับการไปออกงาน ThaiFex มีต่างชาติให้ความสนใจค่อนข้างมาก เขาไม่เคยเจอนมถั่วที่มีความครีมมี่และผลิตจากเมล็ดถั่วแท้ๆ แบบนี้ ตลาดส่งออกจึงเป็นเป้าหมายต่อไปของเรา ถ้าสามารถทำได้ ก็สามารถกระจายให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้” ดร.ลลนา กล่าว


วิทยาศาสตร์ X ธุรกิจ

     จากการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เมื่อต้องผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ ดร.ลลนา เล่าถึงการปรับตัว ให้ฟังว่า

     “จริงๆ ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะคนละขั้วกันเลย นักวิทยาศาสตร์จะคิดสุดขั้ว ลงมือทำ ทดลองเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด แต่ไม่มีความเข้าใจมุมมองเชิงพาณิชย์ว่าเอามาผลิต มาขายได้จริงไหม ราคาสูงไปหรือเปล่า เจอนักการตลาดโดนปฏิเสธตลอด เพราะราคาต้นทุนสูงมากเกินไป โดนให้ไปทำราคามาใหม่ ขณะที่นักธุรกิจก็ไม่ได้คิดพัฒนาผลิตภัณฑ์สุดขั้วแบบนักวิทยาศาสตร์ เพราะนักธุรกิจเข้าใจหลักการของโครงสร้างราคา และการตลาด จึงอาจทำให้มองข้ามเรื่องสุขภาพผู้บริโภค ยิ่งถ้าต้องจ้างทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ คงไม่มีมนุษย์คนไหน ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจเองแล้วจะคิดพัฒนาให้ดีที่สุด ฉะนั้นนักวิจัยควรเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเอง นี่คือ ดีที่สุด ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้สำเร็จ ก็จะเป็นเหมือนจิ๊กซอลให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นน้องอีกหลายคนที่มีความสามารถ ว่าเขาเองก็ออกมาทำงานวิจัยของตัวเองและเป็นเจ้าของธุรกิจได้เช่นกัน เพราะการทำงานในระบบ บางครั้งก็มีสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้เองหมดทุกอย่าง ถ้าไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในวันนั้นเราคงไม่ได้มาทำธุรกิจในวันนี้

     “อีกสิ่งที่ความเป็นนักวิทยาศาสตร์สอนเรา ก็คือ ความล้มเหลว เราชินกับความล้มเหลว ชินกับผลการทดลองที่ไม่สำเร็จมานักต่อนักแล้ว เราอดทนรอคอยผลลัพธ์ได้ ดังนั้นเมื่อมาทำธุรกิจ แล้วต้องเจอกับปัญหาอุปสรรค สิ่งนี้เป็นเหมือนภูมิคุ้มกันให้กับเราได้ ไม่ท้อแท้อะไรง่ายๆ ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ยากมาก และอีกสิ่งที่เป็นตัวช่วยสำคัญ คือ การฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ที่สอนให้เรามีสติปัญญา เข้าใจกลไกทำงานของจิต เลยทำให้เข้าใจคนอื่นและตัวเราเอง เราเริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนเด็กแล้ว” ดร.ลลนา เล่าความแตกต่างนักธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์ให้ฟัง

One Man Show รับจบทำเอง คนเดียวทุกตำแหน่ง

     จากระยะเวลากว่า 6 ปี จากนมถั่วปั่นกระติกแรกที่ขายได้ มาจนถึงแบรนด์นมถั่วเจ้าแรกของโลกที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว ที่กำลังจะกระจายไปทั่วประเทศ และขยายสู่ตลาดต่างประเทศในเวลาอีกไม่นานนี้ ด้วยความเป็น SME ที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก จึงเป็นภาคบังคับให้ต้องเริ่มต้นและรับจบลงมือทำด้วยตัวเองเกือบจะทุกอย่าง ทุกตำแหน่ง ตั้งแต่ผู้บริหาร นักวิจัย นักการตลาด แอดมิน พนักงานแพ็กสินค้า ฯลฯ จนมาถึงวันนี้ได้ ก็คือ ความภูมิใจของชีวิต

     “ตั้งแต่ 6 ปีที่แล้วที่เริ่มต้นทำมาตั้งแต่นมถั่วโฮมเมด จนถึงสร้างแบรนด์ เราแทบจะรับทำเองเกือบทุกตำแหน่ง ยกเว้นบัญชีที่ตอนนี้มีจ้างเอาท์ซอส และกระบวนการผลิต แต่จริงๆ ที่ทำให้มาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะเราได้รับโอกาสที่ดี ได้รู้จักผู้ใหญ่หลายท่านที่ให้การช่วยเหลือด้วย และทำเต็มที่กับทุกโอกาสที่มีเข้ามา”

     “จุดประสงค์การทำธุรกิจที่แท้จริง เรามองว่านี่อาจจะเป็นชิ้นงานสุดท้ายของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่ได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ทำประโยชน์ให้กับสังคมเท่านั้นเอง เราอยากทำอาหารที่ดี เป็น Health Solution ให้กับผู้คน คนทั่วไปสามารถกินได้ ผู้ป่วย กลุ่ม NCDs หรือแม้เด็กที่แพ้นมวัวก็สามารถรับประทานได้ ลูกค้าของเราอายุน้อยสุด คือ 8 เดือน ที่แพ้นมวัว ไม่สามารถกินนมแม่ได้ เรามองว่า อาหาร คือ ชีวิต และอาหาร คือ วิทยาศาสตร์ ทุกอย่างล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น กินอะไรไม่ดีเข้าไป เซลล์ก็ไม่ดี กินดี เซลล์ก็ดี ร่างกายก็ดี”

     “ลองสังเกตดีๆ ตัว X ตรงชื่อแบรนด์ MaxGrainta เราพยายามออกแบบให้คล้ายกับโครโมโซม นมถั่วของเราก็ทำหน้าที่เหมือนน้ำเลี้ยงเซลล์ให้กับผู้คนได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปราศจากเคมี ซึ่งถ้าเรายิ่งกระจายออกไปได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยคนให้สุขภาพดีได้มากเท่านั้น เหมือนกับสโลแกนของบริษัท “Shining Science Healthier World คือ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้โลกนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น” นักวิทยาศาสตร์เจ้าของนมถั่วแมคเกรนต้ากล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/MaxGrainta

https://www.maxgrainta.com/

โทร. 098 919 2890

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล