10 เรื่องต้องรู้ ก่อนก้าวสู่การเป็น Seller Carbon Credit

TEXT : สุภาวดี ใหม่สุวรรณ

     เวลานี้โลกได้ก้าวผ่านยุคโลกร้อนเข้าสู่ยุคโลกเดือด จึงได้เห็นภาคส่วนต่างๆ ทั่วโลกใช้ “คาร์บอนเครดิต” เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เมื่อความต้องการคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ  ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสในการพัฒนาตนเองเป็นผู้ผลิตหรือผู้ขายคาร์บอนเครดิต หรือ Seller Carbon Credit 

     แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักคาร์บอนเครดิตและสำรวจวิธีที่จะก้าวเดินบนเส้นทางนี้กันก่อน

1.คาร์บอนฟุตพริ้นท์” กับ “คาร์บอนเครดิต” คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

     คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักในการลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ

     แต่เอสเอ็มอีอย่าสับสนคำว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” กับ “คาร์บอนเครดิต”

     คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ “ปล่อย” จากทั้งองค์กร บุคคล หรือผลิตภัณฑ์

     ส่วนคาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณ ก๊าซเรือนกระจกที่ “ลดลง” หรือ “กักเก็บได้” จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ

     จะเห็นว่า 2 คำนี้มีความหมายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง  

2.คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ หรือภาคบังคับ มีความหมายอย่างไร

     วันนี้คาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเป็น “ภาคสมัครใจ” แต่ในอนาคตจะมีกลไกภาคบังคับเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้มีระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เข้ามาเกี่ยวข้อง

     สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ด้วยระบบ Cap and Trade แต่ละอุตสาหกรรมจะถูกจำกัดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี ถ้าปล่อยเกินเกณฑ์ ต้องซื้อสิทธิมาชดเชย ถ้าปล่อยต่ำกว่าเกณฑ์ สามารถเก็บคาร์บอนเครดิตไว้ใช้ภายหลังหรือขายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ปล่อยคาร์บอนเกินได้

     ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปและอเมริกา มีการบังคับใช้ ETS (Emission Trading Scheme) และภาษีคาร์บอนแล้ว รวมทั้งเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ นี่เป็นเมกะเทรนด์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

3.SME สามารถสร้างคาร์บอนเครดิตได้หรือไม่

     การจะได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต เอสเอ็มอีต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมที่จะทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในเรื่องใด ซึ่งควรจะตอบโจทย์ธุรกิจของตนเป็นหลัก เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน จัดการของเสีย ฯลฯ แล้วให้คาร์บอนเครดิตเป็นผลพลอยได้จากสิ่งที่ทำ

     โดยทั่วไปคาร์บอนเครดิตมีที่มาจากกิจกรรม 2 ประเภทหลัก ได้แก่

     1.กิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนไฟฟ้าจากสายส่ง ยิ่งผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ได้มาก คาร์บอนเครดิตก็มากตามไปด้วย

     2.กิจกรรมดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และการปลูกป่า กรณีการปลูกป่านั้นหากพื้นที่โครงการมีต้นไม้อยู่เดิมถือว่าไม่นับ คาร์บอนเครดิตจะเกิดขึ้นนับจากวันที่เอสเอ็มอีขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตแล้วเท่านั้น

4.เริ่มต้นซื้อขายคาร์บอนเครดิตต้องทำอย่างไร

     ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ต้องได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานต่างๆ ก่อน จึงจะสามารถนำมาซื้อขายกันได้

     ตัวอย่างมาตรฐานคาร์บอนเครดิตที่ได้รับความนิยมในระดับสากล เช่น Clean Development Mechanism (CDM) ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ Gold Standard (GS) ซึ่งพัฒนาโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ และ Verified Carbon Standard (VCS) ของ Verra

     สำหรับประเทศไทย คาร์บอนเครดิตที่สามารถนำมาซื้อขายได้ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Project) ซึ่งดูแลโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

5.ต้องการขอรับรองจากโครงการ T-VER ต้องทำอย่างไร

     ผู้ที่จะเป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิตได้คือ “ผู้พัฒนาโครงการ” หรือ “เจ้าของโครงการ” ซึ่งอาจเป็นคนละรายกันก็ได้ เช่น บริษัท A ติดตั้งโซลาร์และขายไฟฟ้าให้โรงงาน B หากบริษัท A อยากจะทำโครงการ T-VER ก็ต้องไปขอสิทธิจากโรงงาน เช่นเดียวกันถ้าโรงงานอยากทำคาร์บอนเครดิต ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของระบบโซลาร์ แต่ทั้งผู้พัฒนาโครงการและเจ้าของโครงการสามารถแบ่งปันคาร์บอนเครดิตได้หากทำข้อตกลงร่วมกัน

     ไม่ว่าจะรับบทใด หากต้องการขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ก็ต้องจัดทำเอกสาร  จัดเก็บข้อมูล และขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต รวมถึงเปิดบัญชีคาร์บอนเครดิตกับ อบก. จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบ (Validation & Verification) จากผู้ประเมินภายนอก หากผ่านก็จะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อบก. โดย 1 เครดิต เท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรองจะถูกบันทึกอยู่ในระบบบัญชีคาร์บอนของผู้ยื่นขอโดยไม่มีวันหมดอายุ ตราบใดที่มิได้โยกย้ายถ่ายโอนให้กับผู้อื่น

6.การดำเนินการต่างๆ มีค่าใช้จ่ายอย่างไร

     ทุกครั้งที่ขอรับรองคาร์บอนเครดิตมีค่าใช้จ่ายเสมอ จึงควรศึกษาวิธีการยื่นขอรับรองให้ดี เช่น กรณีที่กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกมีระบบเดียว แต่ติดตั้งหลายแห่งในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น โครงการติดตั้งแผงโซลาร์ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้โดยพัฒนาโครงการแบบควบรวมและขอขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการเดี่ยวได้ โดยไม่ต้องขอหลายครั้ง

     กรณีติดตั้งหลายแห่ง แต่ระยะเวลาในการติดตั้งไม่พร้อมกัน โดยอาจมีแผนจะติดตั้งภายใน 5 ปี ถ้าทำโครงการแบบควบรวมจะเสียประโยชน์ ได้เครดิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แนะนำให้ทำโครงการแบบแผนงานและขึ้นทะเบียนภายใต้กลุ่มโครงการย่อย ซึ่งเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มโครงการย่อยได้เรื่อยๆ และขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้พร้อมกัน จะช่วยลดค่าใช้จ่าย จึงเหมาะสำหรับโครงการขนาดเล็กๆ อย่างมาก

7.กิจกรรมแบบไหนที่จะเข้าหลักเกณฑ์ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER

     ไม่ใช่ทุกกิจกรรมที่ลดก๊าซเรือนกระจกจะได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER โดยกิจกรรมดังกล่าวจะต้อง…

     1.เป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

     2.เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่กฎหมายบังคับให้ทำ เช่น บริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต้องมีพื้นที่สีเขียว

     3.สามารถตรวจวัดในเชิงปริมาณหรือเชิงตัวเลขได้

     4.ไม่มีการทำซ้ำ เช่น การขึ้นทะเบียนซ้ำ หรือใช้เครดิตไปแล้ว จะไปหลอกขายคนอื่นอีกไม่ได้

 

8.รูปแบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีแบบไหนบ้าง

     การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมี 2 รูปแบบ ได้แก่

     1.Over-the-counter ในอดีตผู้ซื้อและผู้ขายจะเจรจาต่อรองกันเองโดยตรง เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วจึงแจ้ง อบก. ให้ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต

     2.FTIX Exchange แพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่พัฒนาขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ อบก. เพื่อความโปร่งใสในเรื่องของราคา ลักษณะการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะเหมือนกับการเทรดในตลาดหุ้น ปัจจุบันเปิดให้บริการเฉพาะนิติบุคคลเท่านั้น

9.การกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต

     ปัจจุบันมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ราคา 19-3,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย

     ปัจจัยที่มีผลต่อราคาคาร์บอนเครดิต ได้แก่ ประเภทโครงการ กิจกรรมการดำเนินการ ที่ตั้งโครงการ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเครดิตก็มีผลเช่นกัน เช่น หน่วยงานที่เป็นชุมชนมักได้รับโอกาสมากกว่า เพราะผู้ซื้อนิยมซื้อกับชุมชนท้องถิ่น ด้วยมองว่าเงินที่จ่ายไปจะถูกนำไปใช้บริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของชุมชน ดังนั้น โครงการใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนร่วม ย่อมมีแนวโน้มที่ราคาเครดิตจะสูงตาม

10.การสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิตจากหน่วยงานภาครัฐมีมากน้อยแค่ไหน

     ปัจจุบันมีหลายมาตรการออกมาเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เช่น สสว. ให้เงินสนับสนุนเอสเอ็มอีเกี่ยวกับค่าทวนสอบและค่าขอการรับรองกับ อบก. ด้าน BOI ก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำผ่านกลไกยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่นเดียวกับผู้เป็นเจ้าของเครดิตและผู้พัฒนาโครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรในการขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีอย่างยิ่งในการก้าวเดินบนสายสีเขียวนี้

เรียบเรียงจากงานสัมมนา : The Business Game Changer : เมกะเทรนด์ขับเคลื่อน SME สู่ความยั่งยืน ดร.ปราณี หนูทองแก้ว ผู้จัดการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต อบก.

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล