ทำไม SME ต้องทำมาตรฐานคาร์บอน ฟังผอ.สำนักงานฯ มาตรฐานแห่งชาติ แนะ รู้ให้ทันเกมธุรกิจยุคโลกเดือด

TEXT: จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     ในวันที่ผลกระทบจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นพันธกิจร่วมที่ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องกลับมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันกอบกู้โลก เช่นเดียวกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม  ในฐานะหน่วยงานกำหนดมาตรฐานและกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ พันธกิจในวันนี้ท้าทายไปอีกขั้น และมีโลกเป็นเดิมพัน

     สำหรับ “วีระศักดิ์ เพ้งหล้ง” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (สก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำชัดว่า  การจัดทำมาตรฐานคาร์บอนเครดิต เป็นก้าวสำคัญของเอสเอ็มอีไทย ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในวันนี้และอนาคต

กำหนดมาตรฐาน วางแนวทางดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม

     ในวันนี้มีหลายหน่วยงานที่กำลังขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม สำหรับสำนักงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ในฐานะหน่วยงานกำหนดมาตรฐานและกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ พวกเขาให้ความสำคัญต่อนโยบายการจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการลดและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ในวันนี้

     โดยดำเนินการภายใต้ 2 ภารกิจสำคัญ นั่นคือ 1.การกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) ด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีจำนวน 7 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกจำนวนหนึ่ง และ 2.การกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจก โดยการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล

     “หากพูดถึงก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในแต่ละองค์กร  ทางสมอ.ได้ทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เรียกว่าเป็นISO อย่างหนึ่ง อย่างเช่น  ISO 14064 เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ซึ่งมาตรฐานเล่มแรกนี้ จะเป็นการรายงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร โดยคิดจากกิจกรรมทั้งหมดในองค์กรนั้นๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการสนับสนุน การเดินทาง การขนส่ง เหล่านี้เป็นต้น

     "หรือ มาตรฐาน ISO 14067 ที่เป็นมาตรฐานการวัดปริมาณและการรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ ความหมายคือ ในการผลิตสินค้าหนึ่งชิ้นคุณปล่อยปริมาณคาร์บอนเท่าไหร่ โดยคิดตั้งแต่ต้นทางการได้วัตถุดิบมา การผลิต ไปจนถึงกระบวนการกำจัดผลิตภัณฑ์นั้นๆ  คำนวณออกมา แล้วติดไปที่ตัวสินค้านั้นๆ เลย และ  ISO 14064  เล่มสอง ที่เป็นคาร์บอนฟุตพรินต์ของโครงการโดยเฉพาะ เช่น โครงการนี้ทำแล้วสามารถลดปริมาณคาร์บอนลงได้เท่าไหร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนได้เท่าไหร่ ซึ่งตัวนี้จะเป็น คาร์บอนเครดิต ที่สามารถเอาไปขายได้” เขาอธิบายให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ

รับรองและกำกับดูแลผู้ตรวจสอบ ยกระดับความเชื่อถือได้

     อีกหนึ่งภารกิจของ สมอ.คือ การกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจก โดยการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกตามรูปแบบขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ไปแล้วจำนวน 11 ราย โดยครอบคลุมการตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกทั้งคาร์บอนฟุตพรินท์ และโครงการคาร์บอนเครดิต

     ซึ่งโครงการตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกของสมอ.นั้น ได้รับการยอมรับร่วมระหว่างประเทศจาก องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการรับรองระบบงาน (International Accreditation Forum : IAF) ทำให้ผลการตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกจากหน่วยตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองจากสมอ. นั้นถือได้รับการยอมรับและเทียบเท่ากับผลการตรวจสอบในระดับสากล

     “เราทำหน้าที่รับรองหน่วยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจก ก็เหมือนผู้ตรวจสอบบัญชีนั่นแหละ แต่นี่คือบัญชีคาร์บอน เพราะฉะนั้นเรามีมาตรฐาน ผู้ประกอบการสามารถไปทำตามแนวทางมาตรฐาน แล้วได้ตัวรายงานออกมาซึ่งรายงานนั้นจะต้องมีคนมารับรอง ซึ่งผู้ตรวจสอบซึ่งเป็นหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก จะไปรับรองรายงานของคุณ จากนั้นรายงานนี้จะถูกส่งต่อไปที่ อบก. เขาจะออกใบรับรองเพื่อยืนยันว่าปริมาณคาร์บอนที่คุณปล่อยออกมาในกิจกรรมของคุณทั้งปีนั้นเป็นเท่าไหร่”

     ผอ.วีระศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทย เริ่มให้ความสนใจในมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวกับด้านพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือระบบหลังคาโซล่าเซลล์  ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนด้านพลังงานของผู้ประกอบการ และลดก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนี้ยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินการมาตรฐานดังกล่าว เพื่อชดเชยให้ผู้ประกอบการอื่นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สมอ.ไม่ได้ให้การรับรองเอสเอ็มอีที่ทำมาตรฐานโดยตรง แต่เป็นการให้การรับรองหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทวนสอบการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกทีหนึ่งนั่นเอง

“มาตรฐานคาร์บอนเครดิต” ตัวช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของ SME

     ผอ.สก. สะท้อนความคิดว่า การจัดการก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเอสเอ็มอีก็ตาม โดยบางธุรกิจอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแตกต่างกัน และมีความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกแตกต่างกันเช่นเดียวกัน ดังนั้นการดำเนินการตามมาตรฐานคาร์บอนเครดิต จึงจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจในการซื้อขายเครดิตคาร์บอน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งรายได้เสริมในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดีในด้านความยั่งยืน และความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อมให้แก่ภาคธุรกิจอีกด้วย

     “อย่างโรงงาน เวลาผลิตสินค้าออกมา เขาพยายามจะลดปริมาณคาร์บอนในกระบวนการของเขาให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่ลด หนึ่งเลยหากคู่แข่งทำได้ดีกว่า เวลาผู้บริโภคจะเลือก เขาจะเลือกบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่นั่นยังไม่เท่าไร มองไปยังปลายทาง ถ้าคุณมีคู่ค้าในต่างประเทศ และคู่ค้าของคุณกำหนดมาเลยว่า คุณปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ คุณต้องชดเชยเท่านั้น นี่จะกลายเป็นเงื่อนไขซึ่งเป็นต้นทุนที่คุณสู้เขาไม่ได้ เพราะว่าต้นทุนทางคาร์บอนของคุณสูง ยิ่งคุณปล่อยมากเท่าไหร่ คุณก็จะต้องโดนชาร์จมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นกลไกของตลาด ซึ่งบ้านเราอาจยังไม่ได้บังคับโดยตรง แต่มีผลในอนาคตแน่นอน”

     ผอ.วีระศักดิ์ กล่าวย้ำว่า การทำมาตรฐานคาร์บอนเครดิต สามารถเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้เอสเอ็มอีไทย เป็นองค์กรที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพิจารณาลงทุนในพลังงานทดแทนและการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการติดตามและรายงานผลลัพธ์ของมาตรฐานคาร์บอนเครดิต ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงควรติดตามและศึกษาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

     “ต่อไปเอสเอ็มอีจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ด้วยกระแสผู้บริโภค และคู่แข่งทางการค้าของคุณ อย่างไรทุกคนต่างมุ่งไปในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น และการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมีต้นทุน ต้องมีการลงทุน เพียงแต่ต้นทุนพวกนี้ อนาคตมันคือเรื่องของการแข่งขันทางการค้า ซึ่งทิศทางธุรกิจต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป โดยมิติด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็อยู่ยาวแน่นอน”

ช่องทางติดต่อ

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

เว็บไซต์ : www.tisi.go.th

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล