TEXT : Neung Cch.
กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลให้กองทัพเมียนมาส่งกำลังทหารเข้ามาเสริมในพื้นที่โต้ตอบชิงพื้นที่คืนจนเกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ซึ่งกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” มีจุดเริ่มต้นจากแปซิฟิก ผ่านเวียดนาม เข้าแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว และข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่เขตไทย จ.มุกดาหาร ผ่าน จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก มาสุดที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และเข้าเมียนมา
การขนส่งค้าผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ถูกปิด
สถานการณ์สู้รบชายแดนใน อ.แม่สอด จ.ตาก วันที่ 22 เมษายน 2567 ได้มีการเปิดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ให้คนทั้งสองฝั่งข้ามมาปกติ จนถึงวันที่ 23 เมษายน 2567 การขนส่งค้าผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ถูกปิดโดยปริยายจากการปะทะอย่างหนัก ในช่วง 3-4 วันก่อนหน้านี้ บริเวณเชิงสะพานฝั่งเมียนมา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์นี้จะเป็นอย่างไรไปฟังคำตอบจาก จิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าส่ง ค้าปลีก และการพัฒนาธุรกิจในตลาดอาเซียนมากว่า 20 ปี
Q : ปกติการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาเป็นอย่างไรบ้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่าในสถานการณ์ปกติ ผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะส่งออกสินค้าตามแนวชายแดน ทำให้มีปริมาณการค้าชายแดนในด่านสากลหลัก ในปริมาณที่สูง ซึ่งหลักๆ คือ สินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น เนื่องจากชาวเมียนมานิยมที่จะใช้สินค้าไทยซึ่งมีมาตรฐานในการผลิตที่ดี และมีความน่าเชื่อถือนั่นเอง
Q : สถานการณ์การสู้รบในเมียนมาในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยอย่างไรบ้าง
แน่นอนว่า ปัญหาการสู้รบตามแนวชายแดน ส่งผลให้การค้าชายแดนมีปริมาณที่ลดลง ประกอบกับนโยบายภาครัฐของทางเมียนมาที่มีเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้ามากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลทางการเงินของประเทศ
สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้า ปกติการขนส่งทางถนนไปยังย่างกุ้งใช้เวลา 2-3วัน ส่วนการขนส่งทางเรือต้องใช้เส้นทางจากระนองซึ่งใช้เวลา 5-7 วัน จากกรุงเทพใช้ 10-12 วัน เพราะต้องอ้อมหรือเปลี่ยนเรือที่สิงคโปร์ ซึ่งข้อดีของการขนส่งทางเรือคือ สินค้าเสียหายน้อยกว่า ค่าขนส่งต่อหน่วยถูกกว่า แต่เอกสารต้องครบถ้วน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการตรวจสอบล็อคสินค้าตอนเคลียร์ขาออกได้ ผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วิธีการส่งสินค้าโดยทางเรือ หากมีใบอนุญาตการนำเข้าที่ถูกต้อง ทั้งนี้กลไกที่สำคัญคือความแข็งแรงของคู่ค้า ในการขอ Import License จากทางภาครัฐนั่นเอง
Q : จากสถานการณ์ครั้งนี้ ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุดคืออะไร
ผลกระทบจากเหคุการณ์สู้รบดังกล่าว เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกธุรกิจ
อย่างไรก็ดีการรบตามแนวชายแดน ไม่พบการสู้รบในลักษณะนี้มาประมาณ 10 ปี ภายหลังมีการเลือกตั้งและพยายามรวมชาติให้มั่นคง ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่บางท่านอาจพบเป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการปรับตัว ทำธุรกิจด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากขึ้น และไม่สต๊อกของมาก นักธุรกิจจะเก็บสินทรัพย์มากกว่าไปลงทุนในช่วงเวลานี้ และถ่ายโอนการลงทุนมายังประเทศอื่น ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยมากขึ้นและเปิดบริษัทในไทยมากขึ้น
Q : ผู้ประกอบการที่ทำตลาดกับเมียนมาควรปรับตัวอย่างไรบ้าง
ผู้ประกอบการจะต้องติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยงในทุกแง่มุม และคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานกับคู่ค้าในทุกมิติ ทั้งเรื่องในอนุญาตการนำเข้า ช่องทางการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการชำระเงิน ในความเป็นจริง
ข้อแนะนำในการทำงานของ SME ไทย แม้ว่าสถานการณ์ชายแดนเมียนมาจะอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่ความต้องการสินค้าในหมวดหมู่ที่จำเป็นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาพหมวดอาหารและยารักษาโรค การค้าขาย ควรเน้นรับเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และ SME ควรติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งความต้องการสินค้าจากผู้บริโภคชาวเมียนมายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ต่างๆ ที่รู้จักสินค้าไทยเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและคอยตรวจสอบข้อมูลจากภาครัฐ เช่นสถานทูตไทยในกรุงย่างกุ้ง เพื่อดำเนินการต่างๆ ในลำดับถัดไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี