ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ตั้งใจซัก

 

     หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

     ภายใต้ธุรกิจที่ดูเหมือนจะจัดการง่าย นั้นมีรายละเอียดมากมายบางคนคืนทุนไว บางคนยังหากำไรไม่เจอ สาเหตุเป็นเพราะอะไร ลองไปฟังจูน-ปิยเวศม์ เพ็งผอม เจ้าของแบรนด์ "ตั้งใจซัก" ค้นพบวิธีทำให้เขาสามารถสร้างรายได้หลักแสนต่อเดือนให้กับธุรกิจซักรีดของเขาที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 สาขาอยู่สุราษฎร์ธานี 6 สาขาและสงขลา 2 สาขา

 

กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ทฤษฎีที่ไร้คนเห็นด้วย

     ปิยเวศม์ เท้าความให้ฟังว่าเขารู้จักธุรกิจนี้เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว มีความสนใจก่อนที่จะลงทุนจึงไปศึกษา พบว่าจุดแข็งของธุรกิจนี้คือ fix cost หรือต้นทุนในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างต่ำกว่าธุรกิจอื่นมากถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ของตัวเอง ทั้งธุรกิจหอพัก ธุรกิจคาเฟ่ ธุรกิจอาหาร

     “พอผมวิเคราะห์ว่าธุรกิจนี้ fix cost ต่ำ ก็มองว่าตัวเราเองมีที่ดินตรงไหนบ้าง อยากไปเปิดร้านโดยไม่จ่ายค่าเช่า ซึ่งผมมีที่ดินอยู่อำเภอ คีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เลยเลือกไปเปิดต่างอำเภอเพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเพื่อต้องการประหยัดต้นทุน”

     ด้วยเจตนาแน่วแน่ที่จะไปเปิดร้านสะดวกซักนอกอำเภอเมือง ปิยเวศม์ จึงชวนตัวแทนขายเครื่องซักผ้าไปดูสถานที่ พอตัวแทนเห็นสถานที่ก็ให้คำแนะนำกลับมาว่า “อย่าลงทุนเลยไม่เวิร์ค” โดยเหตุผลคือ การจะเปิดร้านสะดวกซัก จะต้องเลือกทำเลที่มีความหนาแน่นของประชากร มีมนุษย์เงินเดือนหรือประชากรแฝงต่างถิ่นมาทำงานหรืออาศัยในย่านนั้นๆ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยมีบริเวณที่ตากผ้าน้อย จึงเหมาะที่จะลงทุน

     ไม่ใช่แต่แค่ตัวแทนที่ไม่สนับสนุนแม้แต่คุณแม่หรือภรรยาของเขาต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการเปิดร้านซักอบรีดนอกเขตอำเภอเมือง แต่ ปิยเวศม์ หาได้ลดละความพยายาม ตรงกันข้ามเขาเพิ่มความพยายามลงทุนไปสำรวจความคิดเห็นคนในละแวกนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งคำตอบก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เขา เพราะ 9 ใน 10 คนที่เขาไปสอบถามไม่สนใจที่จะซักผ้าด้วยเครื่อง มีเพียงหนึ่งคนที่สนใจซึ่งเป็นคนที่เช่าบ้านเขาอยู่

     “สิ่งที่ผมทำไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คนอื่นเขาทำ เบื้องต้นผมมองว่าผมไม่อยากเสียค่าเช่า ซึ่งก็จะมีค่า fix cost คือค่าไฟกับค่าอินเทอร์เน็ตประมาณเดือนละหนึ่งพันเท่านั้น จึงตัดสินใจเปิด พอผมเปิดสาขาที่หนึ่ง เชื่อไหมเดือนแรกผมมีรายได้ 30,000-40,000 บาท เดือนที่สอง ขึ้นมา เป็น 70,000 บาท เดือนที่ 3 ขึ้นมา 100,000 บาท”

บังเอิญหรือของแทร่

     แม้จะมีรายได้การันตีแต่ปิยเวศม์เองก็ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเรียกว่าอะไร เขาจึงยังไม่กล้าขยับขยายกิจการ แต่ใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

     “ผมเปิดธุรกิจนี้ครั้งแรกกลางปี 2565 ผมรอถึงกลางปี 2566 เพื่อดูว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไร พอครบหนึ่งปีเต็ม รายได้ผมไม่เคยต่ำกว่า 100,000 บาท สูงสุดคือ 150,000 ต่อเดือนสาขาเดียว ผมก็เลยรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องฟลุ๊คแล้ว แปลว่าเรามาถูกทาง ประมาณเดือนมิถุนายน 2566 ผมก็เริ่มขยายสาขาเพิ่มเดือนละหนึ่งสาขา จนถึงปัจจุบันเดือนเมษายน 2567 ผมก็มี 8 สาขาอยู่ต่างอำเภอหมดเลย”

เทคนิคสร้างรายได้ซักอบรีดหนึ่งแสนบาท

     แม้การเปิดร้านสะดวกซักของแบรนด์ ตั้งใจซัก อาจดูขัดกับการตลาดทั่วไปแต่กลับประสบความสำเร็จได้นั้น ปิยเวศม์ ให้เหตุผลว่ามาจากปัจจัยเหล่านี้

     หนึ่ง : เรื่องการตกแต่งร้าน นอกจากความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายลูกค้า จัดผังร้านให้ flow ให้ลูกค้าก้ม เงยเก็บผ้าได้สะดวก

     สอง : การบริการที่เป็นมาตรฐานแบบมืออาชีพ อาทิ การฝึกพนักงานต้อนรับลูกค้า ตั้งแต่การกล่าวคำทักทาย การอัปเดตข้อมูลใหม่ให้พนักงานทราบทุกสองอาทิตย์ เพื่อให้เค้าได้มีข้อมูลไปคุยกับลูกค้าต่อไป

     “วันนี้ร้านสะดวกซักเกิน 70% มีพนักงานคอยช่วยบริการแล้วครับ ช่วยดูแลเอาผ้ามาปุ๊บไม่ต้องลงจากรถ รถกระจกบอกว่าช่วยซักอบให้หน่อย คุณสามารถไปดูหนังหรือไปเดินห้างสรรพสินค้าได้

    สาม : ราคาเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

     ปัจจุบันค่าซักผ้าของแบรนด์ตั้งใจซักเริ่มต้นที่ 20 บาท ส่วนราคาการอบผ้า 40 บาท

     “ถามว่าทำไมถึงทำกลยุทธ์ราคาต่ำ เพราะผมเปิดต่างอำเภอ ไม่มีคู่แข่ง แล้วที่ผมทำราคาต่ำเพราะว่า ได้แรงบันดาลใจจากป้าแม่บ้านดูแลหอให้ผมเขามีรายได้วันละ 350 บาท เขาเองต้องการซื้อความสะดวกสบาย หากต้องซักผ้าของตัวเองรวมกับสามีและลูกด้วยมือเปล่า ป้าคงไม่มีแรง หรือไม่มีเวลาไปทำมาหากิน ถ้าต้องไปซักเครื่องที่มีราคาแพงก็คงไม่พอกับรายได้ นี่คือแรงบันดาลใจของผมว่าผมจะเปิดร้านสะดวกซักที่เข้าถึงคนกลุ่มแรงงาน หรือกลุ่มคนมีรายได้น้อย”

     สี่ : เลือกแบรนด์เครื่องซักผ้าที่ได้ระดับมาตรฐานโลก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการซักผ้า

     “ตอนนี้ผู้บริโภคยังไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องแบรนด์เครื่องซักผ้ามากนัก การมีแบรนด์ที่ดีจะช่วยทำให้ผ้าสะอาด เพราะเขาจะใส่ใจทุกขั้นตอน เช่น มีการกรองน้ำถึง 3 ชั้น รวมถึงมีการปรับค่า PH เพื่อทำให้น้ำยาซักเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายในเครื่องหลังจากซักผ้าแล้วไม่มีคราบสกปรกตกค้าง ผมถึงว่าแบรนด์เครื่องซักผ้าก็สำคัญ ผมเลือกใช้แบรนด์ speed queen เป็นแบรนด์อันดับ 1 จากประเทศอเมริกา ที่ธุรกิจซักผ้าอบผ้าอุตสาหกรรมมา 138 ปีแล้ว”

     ห้า : ทำเลดีอาจไม่ใช่คำตอบ

     ปิยเวศม์ บอกว่าตราบใดที่ยังไม่มีนวัตกรรมที่ใส่เสื้อผ้าแล้วไม่ต้องซัก ธุรกิจซักอบรีดก็ยังไปต่อได้ เพียงแต่ว่าถ้าธุรกิจมันจะตันถึงคืนทุนช้า เพราะการเอาเงินไปจมกับการเช่าร้านในสถานที่ที่ค่าเช่าแพง มีการแข่งขันสูง แต่จำนวนคนซักผ้ามีปริมาณเท่าเดิม โอกาสที่โดนแบ่งเค้ก รายได้น้อยลงเรื่อยๆ

     “ถ้าไปเปิดแข่งกับเจ้าอื่นต้องถามตัวเองว่าคุณมีดีกว่าเขาอย่างไร เช่น มีที่จอดรถ มีพนักงานช่วยพักช่วยชักช่วยอบให้ คือต้องไปเพิ่มส่วนของงานบริการหรือฟังก์ชั่น แต่ถ้าคุณไม่มีสิ่งเหล่านี้ ผมแนะนำว่าควรไปเปิดในพื้นที่ทำเลที่ยังไม่มีการแข่งขันสูงดีกว่า”

     หก : จำนวนเครื่องซักที่เหมาะสม

     จากประสบการณ์ของเจ้าแบรนด์ ตั้งใจซักนั้น เรื่องจำนวนเครื่องซักถือประเด็นสำคัญ หลายคนอาจอยากลงเครื่องน้อยๆ เพื่อประหยัดต้นทุน แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเครื่องซักผ้าน้อยเกินไปก็จะทำให้ลูกค้าต้องเสียเวลารอและอาจไม่มาใช้บริการ ดังนั้นเขาแนะนำว่าอย่างน้อยร้านควรมีเครื่องซักผ้า 5 เครื่องเครื่องอบ 4 เครื่อง 

     เจ็ด : การตลาดต้องถึง

     โดยเฉพาะช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ต้องทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นการยิงแอดเฟซบุ๊ก การติดป้ายกองโจรเหมือนป้ายหาเสียงตามจุดต่างๆ หรือการยิงสปอตวิทยุเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่สุดท้ายแล้วการตลาดที่สำคัญที่สุดคือการบอกต่อ คือการที่ลูกค้าประทับใจในบริการ ตรงนี้คือการบอกต่อที่ดีที่สุดแล้วจะเกิดการใช้ซ้ำดีที่สุด 

     แปด : ใช้ดาต้าได้วิ่งขับเคลื่อนธุรกิจ 

     ถึงแม้จะเป็นแค่ร้านสะดวกซัก แต่ปิยเวศม์ ไม่ได้ปล่อยธุรกิจเป็นไปตามมีตามเกิด ตรงกันข้ามเขาใส่ใจทุกอย่างแม้กระทั่ง การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ อย่างเช่น ร้านที่สาขาแรก ตั้งอยู่หน้าโรงเรียน มีรถมาจอดเยอะมากแต่ไม่ร้านกลับไม่มียอดเลย เขาจึงไปดูกล้องวงจรปปิดทำให้ทราบว่าลูกค้ามาจอดรถรอรับลูก จากข้อมูลตรงนั้นแทนที่จะห้ามลูกค้ามาจอดรถเขาก็กลับทำตรงกันข้ามไปซื้อกาแฟ โอวัลติน ไว้บริการคนที่มาจอดรถ

     “ผมก็หมดเงินเยอะตรงนี้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ผมได้คือแบรนด์รอยัลตีที่คุ้มมาก ซึ่งคนไทยเป็นคนที่เกรงใจ มากินกาแฟหรือร้านก็เลยเอาผ้ามาซัก มันกลายเป็นไวรัลด้วย มาซักผ้าร้านนี้ 20 บาทกินขนมกาแฟไปแล้ว 50 บาท” ปิยเวศม์เล่าไปหัวเราะไป

     เก้า : ต้องมีความเห็นอกเห็นใจ

     “เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ ต้องมีความเห็นอกเห็นใจไม่ว่จะเป็นเห็นอกเห็นใจ ผู้บริโภค พนักงาน ซัพพลายเออร์ ฯลฯ พอเรามีความเห็นอกเห็นใจผมว่าตรงนี้เป็นคีย์ซัสเซย์จริงๆ แม้การทำธุรกิจต้องมีกำไรเพื่อให้ดำรงธุรกิจไปได้ แต่ผมไม่หวังผลสูงสุด คำว่าไม่กำไรสูงสุดก็คือแบ่งให้ลูกค้าเป็นหลัก อย่างเช่นตั้งราคาซัก ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเค้าได้ประโยชน์มาก แล้วเขาก็ชนะในเกมนี้”

     สิบ : การจัดการอย่างมืออาชีพ จะช่วยให้ลูกค้าไม่หนีไปไหน

     “ปัจจุบันมีร้านซักรีดเกิดขึ้นมา 3-4 ราย ซึ่งผลกระทบต่อร้านตั้งใจซักคือ ทำมีรายได้ยอดสูงขึ้น งงใช่ไหม แต่ผมไม่งง 

     ร้านอื่นที่เปิดมา บางทีตอนเย็น เจ้าของร้านเปิดวงเหล้าข้างร้าน อย่างงี้เรียกว่าการเปิดร้านแบบมืออาชีพไหม ถ้าคุณเป็นลูกค้าจะเลือกเข้าร้านไหน ยิ่งพอเขาได้ไปบริการร้านเหล่านั้น ทำให้เขาเกิดการเปรียบเทียบอยากกลับมาใช้บริการร้านตั้งใจ”

     ใครที่ทำธุรกิจซักรีดแล้วยังไม่คืนทุนลองนำ 10 นี่ไปปรับใช้ได้

ตั้งใจซัก

บริษัท Nothing Impossible

Facebook: https://www.facebook.com/tjs.nasan

โทรศัพท์: 095 549 6452

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล