จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : จงปังนมสด

       

     จากคลิปการทำมินิโทสต์ พร้อมกับเสียงพูดที่บอกว่า

     “ถ้าหากตอนแรกๆ ยังไม่มีลูกค้า อย่าไปลดต้นทุนนะ ของอร่อยยังต้องให้อร่อย ขาดทุนช่างมันเดี๋ยวก็มีลูกค้าเอง การที่เราไปลดต้นทุนแล้วทำให้คุณภาพกระทบกระเทือน อันนั้นคือการฆ่าตัวตายช้าๆ”

     ไม่เพียงทำให้คลิปนี้เป็นไวรัลกว่า 2 ล้านวิว และยังเป็นสาเหตุทำให้เราอยากรู้จักกับเจ้าของคลิป จนทีมงาน SME Thailand Online ต้องต่อสายไปสัมภาษณ์เจ้าของคลิปคือ ณิชพน วิเชียร (ต้น) เจ้าของร้าน จงปังนมสด ที่บอกว่าเสียงในคลิปเป็นเสียงของเจ้าของร้าน “มนต์นมสด” ที่เป็นร้านที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำขนม ตัวเขาได้ขออนุญาตนำเสียงมาลงในการทำคลิป จนกลายเป็นไวรัล ที่เขาได้ไอเดียในการทำคลิปและวิธีทำคอนเทนต์ที่ทำให้ลูกค้าตามมาสั่งเมนูทันทีในวันรุ่งขึ้น

(จากซ้าย) ธโนทัย นาคคำจันทร์ (เต้) ณิชพน วิเชียร (ต้น)

บานาโทสต์ เมนูพลิกชีวิต

     ใครจะคิดว่าการชอบทานอาหารจะทำให้ ณิชพน ใช้เป็นต้นทุนในการสร้างธุรกิจของตนเอง หลังจากที่เขาเบื่อกับงานประจำการออกแบบกราฟฟิกจึงทิ้งเมืองหลวงกลับไปอยู่สุราษฎร์ธานี กระทั่งมีเพื่อนๆ มาเยี่ยมได้ชิมฝีมือการทำขนมของเขาติดใจรสชาติถึงกับเอ่ยปากชมว่าอร่อย นั่นนับว่ากลายเป็นเมนูเปลี่ยนชีวิตที่ดูไร้ค่าของเขาให้มีค่ามากขึ้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้เปิดร้าน จงปังสด กับหุ้นส่วน ธโนทัย นาคคำจันทร์ (เต้) เลือกเช่าเปิดร้านในกลางเมืองสุราษฎร์ธานี ที่เริ่มจากโต๊ะ 4 ตัว

     “คือจริงๆ ผมเริ่มจากศูนย์เลยก็ว่าได้ เราสองคนแค่เป็นคนชอบกิน แต่เราชอบถ่ายรูป ถ่ายคลิป ทำงานศิลปะ ผมจบดีไซน์ จบศิลปากร อีกคนจบครีเอทีฟคอนเทนต์ เอาความสามารถส่วนตัวผสมเรื่องของกิน มาออกแบบร้าน ช่วยทำการตลาดอย่างช่วงแรกลูกค้ายังไม่ค่อยรู้จักร้าน และเป็นร้านน้องใหม่ที่ต้องแข่งกับเจ้าเดิมที่เปิดมา 10-20 ปี ต้องสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างคอนเทนต์ให้ลูกค้าเห็นเรา ถ้าลูกค้าไม่มาหาเราก็ต้องเข้าหาลูกค้าให้เร็วและง่ายสุด เราก็เริ่มจากสร้างคอนเทนต์ในโซเชียล”

สีต้องเด่น คนขับรถผ่านต้องเห็นร้าน

     กลยุทธ์หนึ่งที่ต้นนำมาใช้ให้คนรู้จักร้านเขา ตั้งแต่การตั้งชื่อร้าน จงปังนมสด ที่มี 2 ความหมายคือ หมายถึงร้านที่เจาะจงเรื่องขนมปัง กับอีกหนึ่งความหมายคือ การมูขอให้ร้านปังๆ ที่สอดคล้องไปกับการออกแบบโลโก้ที่มีรูปพนมมืออยู่กับขนมปัง นำเสนอแบรนด์ดิ้งให้ร้านว่าเป็นร้านนมสไตล์คาเฟ่ รวมทั้งการใช้สีให้คนจำได้ โดยจะมีการตกแต่งร้านด้วยสีเหลือง ให้ร้านมีความโดดเด่น ดึงความสนใจลูกค้า แม้คนขับมอเตอร์ไซต์ผ่านต้องเห็นร้าน

แพ็กเก็จจิ้งต้องจึ้ง

     ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ลูกค้าจำร้านได้ ทางเจ้าของร้าน จงปังนมสด ยังออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ อาทิ การใช้แก้วใส่มินิโทสต์

     “เราคิดว่าการใส่จาน ใส่ถ้วย มันดูทั่วไป แต่ถ้าทำเป็นแก้วสามารถใส่โลโก้แบรนด์ให้เห็นได้แล้ว ถ้าลูกค้าไม่อยากทานที่ร้านก็สามารถ take away แล้วแพ็กเกจจิ้งสามารถถ่ายรูปได้”

สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า

     อีกหนึ่งเทคนิคที่ต้นกับเต้สองหุ้นส่วนที่ช่วยกันคิดคือ ใช้ตัวเองขับเคลื่อนลูกค้าด้วยการพลิกไอเดียทำคอนเทนต์ง่ายๆ แต่ได้ผลดีจนลูกค้าเห็นแล้วมาสั่งเมนูตามทันที

     “ช่วงแรกที่ร้านยังไม่ดังมาก ผมก็ทำท่ายกถ้วยใส่มินิโทสต์แล้วโพสต์ถ่ายให้เห็นแขนกับขนม ให้เห็นบรรยากาศร้าน เชื่อไหมลงปุ๊บ อีกวันลูกค้ามาเอารูปให้ดูแล้วบอกว่าเอาเมนูแบบนี้ค่ะ แล้วเขาถ่ายรูปแบบที่เราทำเลย มันได้ผลเลย รู้สึก success ได้ไอเดียหลายอย่าง ว่าเราสามารถขับเคลื่อนลูกค้าได้ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เขา แค่เปลี่ยนวิธีการเล่า ทำให้เขาเห็น อย่างเช่นเวลามีเมนูใหม่ๆ ถ่ายคลิปให้ดูว่าต้องทานอย่างไรก็ได้โปรโมตเมนูไปในตัว”

     นอกจากนี้เจ้าของร้าน จงปังนมสด บอกถึงการสร้างคลิปที่เป็นไวรัลว่าต้องอาศัยการลองผิดลองถูก

     “ผมเคยทำคลิปแนวน่ารัก ขนมหวาน สดใส แต่ไม่ success ลองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเจอคลิปที่นำเสียงพูดถึง การทำงาน การใช้ชีวิต แล้วคนดูเยอะมากเป็นหมื่นๆ วิว ก็ค่อยๆ ปรับ และคิดว่าคลิปแนวนี้อาจจะเหมาะกับเรา โดยเฉพาะคลิปที่เป็นไวรัล คำพูดนั้นมาจาก เจ้าของ ร้านมนต์นมสด ซึ่งผมมองเขาเป็นไอดอล เป็นร้านแรกที่ไปทานแล้วสร้างแรงบันดาลใจให้ผมได้ คำที่เขาพูดผมรู้สึกว่ามันใช่มากๆ การทำร้านต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ผมยึดถือเรื่องนี้ เวลาทำขนมร้านผมใส่ถุงมือทุกครั้ง แม้ลูกค้าจะไม่เห็นก็ตาม”

จาก 4 โต๊ะเป็น 14 โต๊ะใน 6 เดือน

     ผ่านไปเพียงครึ่งปีโต๊ะในร้านจงปังนมสดก็เริ่มที่จะไม่เพียงพอให้บริการลูกค้าที่มายืนรอคิวกัน ทำให้ทางร้านตัดสินใจปิดร้านหนึ่งเดือนเพื่อรีโนเวทร้านพร้อมกับเพิ่มจำนวนโต๊ะเป็น 14 โต๊ะพร้อมกับการตกแต่งร้านใหม่โดนลดโทนสีเหลืองให้เบาลงให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าที่มีหลากหลายตั้งแต่เด็กไปจนถึงกลุ่มครอบครัว

     “วางแผนการทำธุรกิจโดยคิดจาก Worst case เพราะเราไม่เคยผ่านประสบการณ์ธุรกิจด้านนี้มาก่อนเลย มองทุกอย่างเป็นกรณีเลวร้ายสุด ถ้าเกิดปัญหาจริงจะได้แก้ทันหรือไม่ให้หนักไป ต้องยอมรับว่าตอนเปิดร้านแรกๆ เราไม่มีการวางแผนเลย ขับรถไปซื้ออุปกรณ์ ตู้อบ จาน ชาม ฯลฯ ที่ กรุงเทพฯ ซื้อโดยที่เราไม่รู้ ไม่ได้คำนวณว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่ซื้อมาเยอะเกินไปกลายเป็นต้นทุน เหตุการณ์นั้นกลายเป็นประสบการณ์ให้เราวางแผนมากขึ้น”

     ตอนนี้กำลังมองหาที่เปิดสาขา อนาคตอีกไกลหน่อยจะเปิดแฟรน์ไชส์ เพราะมีคนทักมาเยอะมาก แต่ผมยังไม่อยากทำตอนนี้ ขอสั่งสมประสบการณ์อยากควบคุมคุณภาพให้ลูกค้าได้ทานที่ไหนเหมือนได้ทานร้านแรกของเรา”

     นั่นเพราะเสียงในคลิปที่เป็นไวรัลคอยย้ำเตือนเขาว่า “การที่เราไปลดต้นทุนแล้วทำให้คุณภาพกระทบกระเทือน อันนั้นคือการฆ่าตัวตายช้าๆ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล