บ้านนุ้ย - ถึงพะงัน ที่พักและร้านอาหาร ที่เจ้าของอยากสื่อว่า เมืองนี้ไม่ได้มีดีแค่ฟูลมูนปาร์ตี้

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • บ้านนุ้ย (Baan Nuit) ที่พักโดดเด่นด้วยความแตกต่างบนเกาะพะงัน ยกบ้านทั้งหลังให้ลูกค้าเพราะอยากสร้างความรู้สึกให้เหมือนอยู่บ้าน

 

  • ถึงพะงัน (Dear Phangan) ร้านอาหารสไตส์ฟิวชั่นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและรสชาติ มีแค่เมนูตามใจคนปรุงและไม่ได้เปิดทุกวัน รับเฉพาะลูกค้าจองเท่านั้น

     นอกจากฟูลมูนปาร์ตี้แล้ว ผมยอมรับว่าแทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับเกาะพะงันอยู่ในหัวเลย จนวันหนึ่งภาพบ้านไม้ในสวนมะพร้าวปรากฎผ่านตา ต่อมอยากทำความรู้จักสั่งให้ผมเก็บกระเป๋า ข้ามทะเลไปหาคำตอบ

บ้านนุ้ย แต่ไม่นุ้ยนะ

     ชนิน-ชนินทร์และปันดา-ปัณฑ์ดา เจียรทัศนประกิต สองสามีภรรยาคนต่างถิ่นที่จับพลัดจับผลูมาอยู่เกาะพะงันจนเกิดเป็นความรักและอยากรักษาความเป็นพะงันให้คงอยู่ พยายามสื่อสารให้คนนอกรับรู้ว่าที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ฟูลมูนปาร์ตี้

     ชนินเล่าถึงความไม่แน่นอนเมื่อคิดทำธุรกิจ

     “พอจัดที่จัดทางได้เมื่อหลังแต่งงาน แรกๆ อยากทำบ้านพักอยู่แล้ว แต่พอหลังจากโควิด สถานการณ์บ้านเช่าบนเกาะราคาสูงมาก หายาก เลยเปลี่ยนเป็นทำร้านในบ้านที่เช่านั่นแหละ อยู่ดีๆ กลายเป็นร้านอาหารเฉย พอทำไปๆ ร้านอาหารได้นะ ตอนแรกๆ เปิดแค่อาทิตย์ละวัน เพราะกลัวเหนื่อย  มีเพื่อนมาเล่นดนตรีให้ ทำไปทำมาไหลลื่นดี มีรายได้ ”

     ปันดาเล่าเสริมถึงตอนที่ตัดสินใจเช่าบ้านนุ้ย

     “เมื่อว่าง เริ่มคิดถึงการทำบ้านพักอีก เพื่อนๆ ก็ชอบส่งรูปบ้านให้เช่ามาให้ดูบ่อยๆ พยายามไม่สนใจ แต่หนีไม่พ้น ขับรถผ่านเห็นป้ายให้เช่า เห็นยายนั่งอยู่ เลยตกลงเช่าทันที เพราะคิดถึงวัยเด็กและกลัวว่าคนอื่นที่เช่าจะให้คุณค่าไม่มากเท่าเรา”

     กลางสวนมะพร้าวที่เหลือแค่น้อยนิดบนเกาะ บ้านไม้สามหลังวางตำแหน่งอยู่ร่วมบริเวณกัน บ้านนุ้ยอยู่ริมถนนที่สุด ถัดไปบ้านอาทิตย์ และสุดท้ายเป็นบ้านแลหวันมีขนาดใหญ่ที่สุด

     “เราทั้งสองคนอินกับหนังเพื่อนสนิทมาก อยากสื่อสารให้คนไทยได้รู้จักเกาะพะงันอย่างที่เราเห็น จึงใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบเขียนจดหมายถึงเกาะ ตอนนั้นปันดาถ่ายรูป ชนินเล่าเรื่อง เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเพจ “ถึงพะงัน” และกลายเป็นชื่อร้านอาหารในเวลาต่อมา ส่วนชื่อบ้านก็อ้างอิงกับหนัง นุ้ยเป็นพยาบาล แล้วบ้านหลังนี้อยู่ใกล้โรงพยาบาล เลยใช้ชื่อบ้านนุ้ย ชื่อมีความหมายในภาษาใต้ด้วย”

     ปันดาเปิดความเป็นมาให้ผมฟัง บางตอนชนินเสริมให้ ผมรู้สึกเหมือนกำลังย้อนอดีตอยู่ในเหตุการณ์กับสองคนนี้ บางตอนก็มีการเกี่ยงกันเล่า

     “ตอนทำบ้านนุ้ยเราได้รู้จักกับโลกของการก่อสร้าง ไม่สวยงาม ต้องใช้ความสัมพันธ์กับช่าง ไม่งั้นเขาอาจจะมองแค่เป็นบ้านเช่า ในขณะที่เราอยากได้มากกว่านั้น ที่นี่ไม่ได้มีแบบ ทุกอย่างออกมาจากความทรงจำตอนเด็ก เคยเห็นภาพแบบไหน ก็สร้างแบบนั้น เรามีความรู้สึกกับบ้านมาก รู้จักทุกจุดว่าอะไรอยู่ตรงไหน ตอนนี้กับช่างก็เป็นเหมือนพ่อลูกกัน เขารักงานที่ทำ เราก็อยากได้บ้าน”

     จากเรื่องราวที่ทั้งสองเล่า ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่สิ่งปลูกสร้างด้วยไม้ แต่ทุกตารางเมตรฉาบด้วยความรู้สึกที่แสนละเมียดละไม

     “เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำจะไปแตะความรู้สึกใครบางคน ไม่ได้คิดแค่ว่าเป็นที่ทำมาหากิน แต่เราทำด้วยแรงขับเคลื่อนของความรัก เรารู้สึกอย่างไร ก็อยากให้คนที่ใช้บริการรู้สึกแบบนั้น จุดเด่นของบ้านนุ้ย คือ เรามีความเป็นบ้านชัดเจน ซึ่งเราเองก็รู้สึกได้ตลอดเวลา ลูกค้าหลายคนจึงอยู่ต่อเป็นเวลานานๆ ”

     เราคุยกันถึงเรื่องบ้านที่ดูเหมือนจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ณ จุดเริ่มต้นของชีวิตคน แล้วครอบคลุมไปถึงร้านอาหาร อารมณ์และความรู้สึกของทั้งสองคนที่ถ่ายทอดถึงผม สัมผัสง่ายไม่ซับซ้อน

     ช่วงบ่ายที่ผมรู้สึกเหมือนว่าเวลาสั้นลงและผ่านไปเร็วกว่าการพูดคุยที่น่าสนใจ ก่อนถึงเวลาเปิดร้านชนินกับปันดาแยกย้ายไปเตรียมของ ส่วนผมกับเพื่อนแยกตัวไปนั่งเล่นดูพระอาทิตย์ตกริมชายหาด รอเวลาที่จะรู้จักชนินกับปันดาในอีกบทบาท

ถึง (ใจ) พะงัน

     บ้านไม้สองชั้นดูเรียบง่าย ไม่มีป้ายบอก ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าเป็นร้านอาหาร “ถีงพะงัน” ผมคงยิ่งลังเลที่จะก้าวเข้าไป ชนินออกมาต้อนรับลูกค้าทุกโต๊ะหน้าบ้าน บาร์น้ำอยู่ด้านซ้ายมือ ครัวอยู่ลึกลงไป ผมเห็นปันดาเดินวุ่นแวบไปแวบมาอยู่มุมนั้น

     ที่นี่รับแค่ลูกค้าจอง อาหารทุกจานจะถูกเลือกสรรจากขนินและปันดา  ปันดามีหน้าที่ปรุง ชนินเป็นคนบอกเล่าเรื่องราว เมื่อมีการสื่อสารที่ดี เราจะยิ่งเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของต้นทางวัตถุดิบ บางอย่างเหมือนจะธรรมดา แต่เต็มไปด้วยคุณค่าที่สมควรสนับสนุน

     “เราจะไม่เก็บวัตถุดิบไว้ เตรียมวันต่อวัน เพื่อลูกค้าจะได้กินของสดคุณภาพ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเรารับแค่ลูกค้าจอง ง่ายสำหรับการจัดการของเราด้วย แม้จะเหนื่อย แต่เมื่อได้เห็นความสุขบนสีหน้าลูกค้า เมื่อทานอาหารเสร็จ เรายิ่งอิ่มใจที่ได้สร้างความสุขให้”

     เหตุผลง่ายๆ ที่ปันดาและชนินบอกไว้ ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ได้ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด

 

     บ้านนุ้ยอาจจะไม่ใช่ที่พักที่คนทั่วไปรู้สึกว่า เป็นแค่ห้องพักแรมระหว่างเดินทางท่องเที่ยว แต่บ้านนุ้ยสร้างความรุ้สึกเป็นบ้านให้ผม ทั้งกระตุ้นต่อมและเติมเต็มความคิดถึงในเวลาเดียวกัน ผมยังจำคำพูดติดตลกของชนิน เป็นประโยคหยอกเล่น แต่เต็มไปด้วยความรุ้สึกรักและหวงแหน

     “อยากสื่อสารให้คนไทยรู้จักในมุุมที่เราเห็น อยากสื่อสารให้เห็นว่า พะงันมีอะไรมากกว่าที่คิดเยอะ เรารับได้ทีละนิดนะ ไม่ต้องรีบมาหรอก”

     ใช่ครับ ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง อย่ารีบรัก รักน้อยๆ แต่รักนานๆ อย่างเขาว่าดีกว่า

ข้อมูลติดต่อ

บ้านนุ้ย

https://www.facebook.com/baannuit?locale=th_TH

ร้านอาหารถึงพะงัน

https://www.facebook.com/dearphangan?locale=th_TH

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ถอดบทเรียนความล้มเหลว สู่สูตรลับสร้างความสำเร็จ จาก พิชเยนทร์ หงส์ภักดี

ในบรรดาสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เชื่อว่าชื่อของ Anitech คงเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เมาส์ ปลั๊กไฟ วันนี้เราเลยชวนคุยกับ โธมัส-พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ถึงเบื้องหลังการพัฒนาสินค้า ที่มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว รวมถึงวิธีการมองหาสินค้าใหม่ๆ

พี่ไก่ วีคลีน สร้างยอดขายร้อยล้านแบบ Infinity ได้อย่างไร

จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจจะใช้ช่อง TikTok อวดสุนัขทั้ง 17 ตัว ใครจะคิดว่าได้กลายมาเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักร้อยล้านให้กับ กัญจน์รัตน์ ศักดิกรธนาศิริ หรือ พี่ไก่ เจ้าของ “วีแคร์ยู” และ “รัญจวน”

เมื่อทายาทโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู พลิกโฉมธุรกิจ สร้างแบรนด์ Sooo Guichai จนขายได้วันละ 1,000 ลูก

ทำไมขนมกุยช่ายต้องสร้างแบรนด์? ที-กิตติคุณ กชกรจารุพงศ์  ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู มองเห็นโอกาสอะไร จึงคิดสร้างแบรนด์ Sooo Guichai (โซกุยช่าย) กุยช่ายแป้งเปลือย เน้นไส้ แป้งน้อย จนปังขายได้ถึงพันลูกต่อวัน