เปิดตำรา มหานครโลหะ พลิกเงินแสนให้เป็นพันล้าน จากธุรกิจรับซื้อเศษโลหะ

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • เพราะเชื่อว่าโลกใบนี้ไม่มีขยะ มีแค่เพียงทรัพยากรที่วางไว้ผิดที่ผิดทางเท่านั้น

 

  • ทำให้ "เอส-ธนินท์รัฐ ธนเศรษฐ์โตกุล" ที่กำลังมองหาธุรกิจที่ยั่งยืน หลังจากได้ลองผิดลองถูกหลายธุรกิจ

 

  • ท้ายสุดเขาพบว่า ธุรกิจรับซื้อของเก่าคือธุรกิจที่มีความเป็นอมตะ

 

  • ได้เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินหลักแสนพร้อมรถกระบะหนึ่งคันที่ปัจจุบันออกดอกออกผลทำรายได้ระดับพันล้านบาท

 

     “มันมีธุรกิจอะไรในโลกที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตาย เราไม่อยากเปลี่ยนอาชีพบ่อย ๆ” นั่นคือคำถามที่ ธนินท์รัฐ ธนเศรษฐ์โตกุล ถามกับตัวเองหลังจากที่เขาล้มลุกคลุกคลานมาหลายธุรกิจ จนมาได้คำตอบว่าธุรกิจรับซื้อขยะน่าจะเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตอบโจทย์รับกระแสเทรนด์รักษ์โลก

     จากคำตอบก็สู่การลงมือปฏิบัติที่เริ่มต้นด้วยเงิน 300,000 บาทกับรถกระบะ 1 คัน ผ่านไปสองทศวรรษ บริษัท มหานคร เมททอลสแครป จำกัด หรือที่ร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปรู้จักกันดีเรียกกันคุ้นปากว่า มหานครโลหะ โกยรายได้ปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 3,700 ล้านบาท

ธุรกิจรับซื้อของเก่า ธุรกิจแห่งความยั่งยืน

     เพราะได้ลองทำธุรกิจมามากมายหลายอาชีพ ธุรกิจอะไรที่ว่าดีอยู่ในกระแส เช่น ร้านทำพวงกุญแจรูปตัวเอง หรือธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ที่ยุคหนึ่งเคยเฟื่องฟู ค่าบริการชั่วโมงละ 120 บาท เมื่อความนิยมน้อยลงค่าบริการก็ค่อย ๆ ตกลงเหลือชั่วโมงละ 60, 50, 30 จนกระทั่งชั่วโมงละ 10 บาท ท้ายสุดธนินท์รัฐ ตัดสินใจปิดกิจการไป พร้อมกับหันมาหยุดคิดว่าถ้าจะต้องทำธุรกิจอีกครั้งจะทำธุรกิจอะไรดี

      “มันมีธุรกิจอะไรในโลกที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตาย ยั่งยืน เราไม่อยากเปลี่ยนอาชีพบ่อยๆ ก็คิดอยู่เป็นปีเหมือนกัน คำตอบก็มาได้ที่รับซื้อเศษขยะ ที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม และไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีคนเราก็ต้องบริโภคทุกวัน จึงมีขยะ มีบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ธุรกิจตัวนี้จึงไม่มีวันตาย มีสินค้ามาให้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างช่วงโควิด มีหลายธุรกิจต้องปิดตัวไป ทั้งโรงแรม ค้าปลีก ค้าส่ง เพราะติดล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจร้านรับซื้อของเก่าตอนนั้นกลับทำกำไรมากถึง 3 เท่าตัว ซึ่งมาจากพัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น 3-4 เท่า ทำให้ร้านรับซื้อของเก่า ได้รับซื้อขยะมากขึ้น ทำกำไรเพิ่มขึ้นด้วย” ประธานกรรมการ บริษัท มหานคร เมททอลสแครป กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานกับธุรกิจรับซื้อของเก่าที่เริ่มต้นด้วยทุนสามแสนบาทกับรถกระบะหนึ่งคันและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

เศษโลหะ กับโอกาสทางธุรกิจมูลค่าสูง

     ด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง สิ่งของที่คนอื่นอาจดูไร้ค่า แต่สำหรับธนินท์รัฐ เขากลับมองต่างไป

     “ในโลกนี้ผมบอกเลยว่ามันไม่มีขยะ มีแค่ทรัพยากรที่เอาไว้ผิดที่ผิดทางเท่านั้น ตั้งแต่ผมทำธุรกิจรับซื้อของเก่ามาไม่เคยเห็นอะไรขายไม่ได้เลย ทุกอย่างขายได้หมดไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดการ ความเข้าใจในตัวสินค้า และความต้องการของลูกค้าที่ต้องการจะเอาสินค้าไปใช้ด้วย”

     แม้ทุกอย่างจะขายได้ แต่ในเบื้องต้น มหานครโลหะ เลือกที่จะรับซื้อโลหะมีค่า หรือ Non-ferrous metals คือโลหะที่ไม่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ (หรือมีเพียงเล็กน้อย) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทนต่อการกัดกร่อนได้มากกว่า เช่น อลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง สแตนเลส แผนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯเป็นหลัก เนื่องจากเป็นที่ต้องการในตลาดสูงและขายได้ราคาดี

     “เบื้องต้นผมมองสินค้าจำพวกกลุ่ม Non-ferrous metals เป็นอันดับแรก เพราะมองว่ามีโอกาสธุรกิจค่อนข้างสูง ซึ่งกลุ่มนี้มีปริมาณ 3 หมื่นตันต่อปี มูลค่าการซื้อขายสูงเป็นอันดับสอง รองจากเศษเหล็กมีปริมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี แต่มีราคาขายที่ใกล้เคียงกัน และในอนาคตมีแพลนการรับซื้อสินค้ารีไซเคิลในกลุ่มอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เช่น สินค้าพวกกลุ่มกระดาษ พลาสติก เศษแก้ว เป็นต้น”

เร็ว แพง เป๊ะ สูตรเงินล้านธุรกิจรับซื้อของเก่า

     นอกจากจะโฟกัสที่ตัวสินค้าที่มีมูลค่าสูงแล้ว มหานครโลหะ ยังมีคอนเซปต์ ในการทำธุรกิจแบ่งเป็น 2 ส่วน เริ่มต้นด้วย “เร็ว แพง เป๊ะ”

     เร็ว คือการให้บริการที่รวดเร็ว

     ยกตัวอย่าง การกำหนดมาตรฐานการบริการ ถ้าเป็นรถกระบะมาขายของต้องใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีในการเคลียร์สินค้าจนวางบิล ถ้าเป็นรถสิบล้อหนึ่งคันใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง

     แพง เรามีความต้องการให้ประชาชนเก็บขยะมาขาย โดยสิ่งที่จูงใจให้ประชาชนเก็บขยะมาขายก็คือ การให้ราคาที่ “แพง” เพราะบริษัทของผมเน้นที่ปริมาณการรับซื้อ ไม่เน้นกำไรต่อหน่วยที่มากนัก ดังคอนเซปต์ “กำไรน้อยคือกำไรมาก”

     “ร้านผมน่าจะเป็นยี่ปั๊วที่ซื้อสินค้ากลุ่ม Non-ferrous metals แพงที่สุดในประเทศในเวลานี้ด้วยซ้ำไป” ธนินท์รัฐ กล่าว

      เป๊ะ หมายถึง ความเที่ยงตรง ตาชั่งน้ำหนักต้องแม่นยำได้มาตรฐาน และเป็นระบบอัตโนมัติ

     ส่วนที่สอง เป็นในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ

     หนึ่ง คือ พันธมิตร คู่ค้า ปัจจุบันมหานครโลหะมีคู่ค้าอยู่ทั่วประเทศ 700 กว่าร้านค้า  ที่ครอบคลุมถึง 77 จังหวัด และรวมทั้งคู่ค้าในต่างประเทศด้วย

     สอง คือ การลดต้นทุน บริษัทเน้นการใช้เทคโนโลยี เช่น โปรแกรมรับซื้อสินค้าอัตโนมัติ เมื่อวางสินค้าไปบนเครื่องชั่งน้ำหนัก ก็จะส่งข้อมูลพวกน้ำหนักสินค้าไปที่ออฟฟิศได้อัตโนมัติ หรือ เครื่องอัดกระป๋อง ผลิตได้วันละ 10-15 ตัน โดยในปีหน้าบริษัทมีกำหนดติดตั้งเครื่องจักรตัวใหม่ ซึ่งสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นวันละ 125 ตันต่อวัน

     สาม คือ ทีมงาน บุคลากรภายในของบริษัท ที่มีความเชี่ยวชาญและความทุ่มเทในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งมีการพัฒนาทักษะตัวบุคคลในทุก ๆ ฝ่าย เพื่อยกระดับทุกการทำงานอย่างมีคุณภาพ

อยากได้กำไรต้อง “เข้าใจธุรกิจ”

     ธนินท์รัฐ เผยถึงการทำธุรกิจรับซื้อของเก่าว่า เป็นการทำธุรกิจที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะถ้าอยากมีกำไรก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจธุรกิจตัวเองให้ดี

     “ตอนแรก ๆ ผมก็แค่ซื้อมาขายไป คิดแค่ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดไปวัน ๆ ช่วงหลังเริ่มมีการพัฒนาเรียนรู้เทคนิค เรียนรู้ความต้องการลูกค้า  เรียนรู้คุณสมบัติค่าเคมีของโลหะ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ” ยกตัวอย่าง แร่ซิลิกอนมีความต้องการในตลาดสูง เคยขึ้นมาตันละ 400 เหรียญจากตันละ 40 เหรียญ ฉะนั้นถ้ารู้ค่าเคมีแล้วจับสินค้าประเภทล้อแม็กซ์ที่มีส่วนผสมแร่ซิลิกอน 12% ขายได้ราคาสูงกว่าอะลูมิเนียมทั่วไปถึง 30% รวมทั้งต้องรู้จักเพิ่มมูลค่าสินค้า ถ้าขายทองแดงก็ต้องแยกทองแดงไม่ให้มีอย่างอื่นปน ยิ่งถ้าการันตีได้ว่าทองแดงคุณต้องได้ CU 97-99% ถ้าเราแยกขายได้ราคาสูงขึ้นทันที”

     การทำธุรกิจนี้ ธนินท์รัฐ ย้ำว่า นอกจากการเข้าใจสินค้าดีแล้ว การทำข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กั

     “สักแต่ว่าขยัน ทำงานหนักแต่ไม่รู้ตัวเองกำไรเท่าไหร่ หรือซื้อมาแล้วขาดทุนไหม หลังจากผมได้ไปเรียนกับอาจารย์ ภัทร เถื่อนศิริ CEO & Co-Founder ของเซลสุกิ ได้สอนเรื่อง ERP ทำให้เข้าใจการใช้ข้อมูล การจัดซื้อ จัดขาย เรื่องของการ แบ่งกลุ่มลูกค้าแบ่งกลุ่มสินค้าที่เด่น ๆ มีอะไรบ้าง เพื่อไปทำการตลาด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้จากยอดขายปี 2560 ประมาณ 38 ล้านบาท ค่อย ๆ เติบโตเป็นร้อยล้าน ปัจจุบันงบการเงินปี 2565 ยอดในเครือบริษัทผม 3,700 ล้านบาท”

ความลับของธุรกิจ ซื้อมา (ควรรีบ) ขายไป

     ถ้ามองผิวเผินเส้นกราฟธุรกิจมหานครโลหะ อาจจะดูพุ่งสูงชันขึ้นทุกปี แต่ในความเป็นจริง มีบางจังหวะที่บริษัทต้องสูญเสียเงินสูงถึง 5 ล้านบาท ภายใน 4-5 เดือนเท่านั้น สิ่งนี้จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญ ที่คอยย้ำเตือนแก่ธนินท์รัฐ มาจนถึงทุกวันนี้

     “ตอนนั้นเพิ่งทำธุรกิจได้ 7 ปี ช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก ช่วงนั้นสินค้ารีไซเคิลราคาสูงขึ้นทุกตัว อย่างเศษเหล็กจากกิโลกรัมละ 8 บาท ขยับไปที่ 21 บาท ทองแดงจาก 180 บาทขึ้นเป็น 320 บาท ทุกอย่างขึ้นหมด ผมก็เป็นผู้ประกอบการที่อยากได้กำไรมาก ผมก็เลยตุนสินค้าไว้ไม่ขาย พอจีนสร้างสนามรังนกเสร็จ ประเทศจีนปิดตลาด โรงงานปิดรับซื้อ 4-5 เดือน ตอนนั้นจำได้สูญเงินไป 5 ล้านบาททันที เป็นบทเรียนว่าร้านรับซื้อของเก่าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ไม่ควรตุนสินค้าอาจเกิดภาวะขาดทุนได้”

เตรียมเปิด มหานครแฟรนไชส์ ต้นปี 67

     ในขณะที่โลกกำลังเดือดร้อนระอุ ธนินท์รัฐ มองว่าธุรกิจรับซื้อของเก่ายังเติบโตไปได้อีก เพราะสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของคนยุคนี้ ที่ต่างตื่นตัวเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดูได้จากกระแส Green Economy ของธุรกิจในประเทศ ต่างมีความต้องการลดคาร์บอนจากผลผลิตของบริษัทตัวเอง รวมไปถึงเรื่องของกฎระเบียบการค้าขายของโลกที่เกิดขึ้นมาใหม่ในทุก ๆ วัน อาทิเรื่อง CBAM, คาร์บอนเครดิต ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจประเภทนี้ กลายเป็นที่ต้องการของตลาด

     และประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 บริษัทจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์น้องใหม่ ภายใต้ชื่อว่า มหานครแฟรนไชส์ เพื่อเสนอทางเลือกให้ผู้ที่สนใจอยากทำธุรกิจ หรือเริ่มต้นธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นรูปแบบโมเดลผู้ค้ารายใหญ่(ยีี่ปั๊ว) ได้เข้ามาลงทุนกับบริษัท

     “เพราะทุกวันนี้หลายองค์กร ต้องการลดคาร์บอนของตัวเอง จึงจำเป็นต้องใช้สินค้ารีไซเคิลเข้ามาในการผลิตสินค้า ผมมองว่าธุรกิจรับซื้อของเก่ายังเติบโตไปได้อีก เพียงแต่ว่าในการทำธุรกิจอย่าเดินคนเดียวให้เดินไปกับเพื่อน ร่วมเดินทางไปเป็นทีม หากว่าเราทำคนเดียว เราเก่งแค่ไหน เราก็เก่งอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเกิดมี พาร์ทเนอร์คู่ค้าที่ดี ช่วยกันจูงธุรกิจก็ไปได้ไกลแน่นอน” ธนินท์รัฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล