คุยกับ “อภิชิต ประสพรัตน์” ประธานสถาบัน SMI พันธกิจปั้น SME ภาคการผลิตให้แกร่งรับปีงูใหญ่

TEXT: จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

 Main Idea

  • เอสเอ็มอีภาคการผลิต ต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายปี 2567 อย่างไร

 

  • มาฟัง “อภิชิต ประสพรัตน์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ให้คำแนะนำพร้อมกัน

 

     การมาถึงของปี 2567 ยังมีความท้าทายรอผู้ประกอบการไทยอยู่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีภาคการผลิต เบื้องหลังแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ หลังเพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาอย่างยากลำบาก และยังต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ๆ เงื่อนไขใหม่ๆ ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป ไม่หยุดนิ่ง

     SME Thailand ชวนคุยกับ “อภิชิต ประสพรัตน์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) รับฟังวิสัยทัศน์ที่จะช่วยเอสเอ็มอีก้าวข้ามความท้าทายและอยู่ให้ได้อย่างแข็งแกร่งในปีงูใหญ่

SMI “ตัวเชื่อม” เอสเอ็มอีภาคการผลิตให้แข็งแกร่งสู่ตลาดโลก

     ท่ามกลางหน่วยงานสนับสนุนเอสเอ็มอีที่มีมากกว่า 19 กระทรวง 54 หน่วยงาน ไม่นับรวมสถาบันการเงินที่พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กอยู่ถ้วนทั่ว ยังมีหนึ่งหน่วยงานขออาสาเป็น “ตัวเชื่อม” ทุกความร่วมมือ เพื่อนำพาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิต ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งสู่โกลบอล

     พวกเขา คือ สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ที่มีวิสัยทัศน์ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุน และเชื่อมโยงเครือข่าย เอสเอ็มอีภาคการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน

     “เอสเอ็มอีบ้านเราในปัจจุบันมองดูแล้วเป็นภาคการค้าและบริการเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งหมดนี้ หนีไม่พ้นต้องมาหาภาคการผลิต เพราะว่าเราเป็นผู้ป้อนสินค้าเข้าสู่ภาคการค้าและบริการ หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรม ก็ต้องซื้อปุ๋ย ซื้ออุปกรณ์การเกษตรจากภาคการผลิตเช่นเดียวกัน ดังนั้นภาคการผลิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

     “อภิชิต ประสพรัตน์” ประธานสถาบัน SMI บอกความสำคัญของเอสเอ็มอีภาคการผลิตในประเทศไทย ทว่าส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ด้านเงินทุน เทคโนโลยี ความรู้ในการประกอบธุรกิจ หรือแม้แต่การเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเป็นโจทย์ยากและอุปสรรคของเอสเอ็มอีภาคการผลิต

ปลดล็อกอุปสรรค จับมือพันธมิตร ช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ตรงจุด

     “พอมาเปิดกิจการ ด้วยทุนที่จำกัด เลยเปิดได้แค่เล็กๆ เพราะเขาไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว มันมีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือเยอะแยะไปหมด พอความรู้ในการประกอบธุรกิจไม่มี ไม่ยอมเข้าสู่ระบบ ก็เป็นปัญหาอีก มาเรื่องการผลิตพอไม่มีมาตรฐานก็ไปต่อไม่ได้ อยากจะขายของ ก็ขาดเงิน ขาดตลาด อีกเรื่องที่มีปัญหากันมาก ก็คือกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงใบอนุญาตต่างๆ สุดท้ายคือปัญหาเรื่องแรงงาน ทั้งหมดเหล่านี้คือสิ่งที่ สถาบัน SMI จะเข้ามาช่วย โดยเราจัดกิจกรรมไปโรดโชว์ในจังหวัดต่างๆ ทั้ง 5 ภาค ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงทำ อี-แคตตาล็อก เพื่อให้ความรู้ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเอสเอ็มอี”

     การเข้าถึงผู้ประกอบการตัวจริง ทำให้เห็นความต้องการที่ชัดเจนขึ้น จึงเกิดเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุด เช่น การแก้ปัญหาเรื่องเงินทุน ที่ไม่เพียงดึงสถาบันการเงินมาช่วยสนับสนุนในเรื่องเงินกู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโมเดลการระดมทุน สำหรับกิจการที่มีความพร้อมจะเติบโตเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย  

     “เราทำหลักสูตรสำหรับเอสเอ็มอีที่มีความสามารถในการที่จะเติบโตสู่ตลาดทุน โดยใช้ชื่อ หลักสูตร K-FTI Acceleration Program ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ส.อ.ท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ทั้ง SET ,  MAI  และ  LiVE Exchange  ซึ่งอย่างหลังเป็นแหล่งระดมทุนแห่งใหม่ในตลาดทุนของกลุ่มผู้ประกอบการ SME และ Startup โดยเฉพาะ มองว่ามันเป็นเหมือนสนามซ้อมใหญ่ให้กับคนที่จะโตต่อไปที่ MAI  หรือ SET ในอนาคต”

     เขายกตัวอย่าง หนึ่งผลลัพธ์จากโครงการ คือผู้ประกอบการที่ทำแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องจักรบนมือถือ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับภาคการผลิตได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ซึ่ง SMI ช่วยผลักดันจนสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ

ขับเคลื่อน SMI ปีงูใหญ่ ปั้นสมาร์ทเอสเอ็มอีสู่สากล

     ท่ามกลางความท้าทายในตลาดโลก และบริบทใหม่ๆ ที่เอสเอ็มอีกำลังเผชิญหน้าอยู่ ประธานสถาบัน SMI วางเป้าหมายขับเคลื่อนเอสเอ็มอีภาคการผลิตในปี 2567 ว่า จะปั้นสมาร์ทเอสเอ็มอีสู่สากล เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ด้วย 3 อาวุธ นั่นคือ Go Digital, Go Innovation และ Go Global

     ผ่าน 5 กลยุทธ์ คือ 1. Standard การพัฒนาและยกระดับมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ในระดับสากล 2. Digital ใช้เทคโนโลยี Digital มาช่วยด้านการตลาดออนไลน์ 3. Innovation การพัฒนาสินค้าและบริการด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยี 4. Branding การสร้างแบรนด์สินค้าและบริการให้เป็นที่รู้จัก และ 5. Big Data การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ ตอบโจทย์ผู้บริโภค

     “ในการส่งเสริมผู้ประกอบการสู่ตลาดโลก เราดีไซน์หลักสูตรขึ้นมาชื่อว่า FTI GO GLOBAL โดยถ้าคุณมาเรียนกับเรา เราการันตีว่า จะมีลูกค้าต่างชาติอย่างน้อย 1 ราย ที่กล้าทำเพราะวิทยากรที่มาสอนเป็นอดีตทูตพาณิชย์ที่มีเครือข่ายต่างชาติเยอะมาก ในขณะเดียวกันหลักสูตรที่สอนไม่ใช่ทฤษฎีอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนไปทำไป รวมทั้งยังมีการซ้อมขายของในประเทศ และออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งเราจะสนับสนุนค่าบูธให้ โดยเป็นโครงการของ สสว. และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่เรานำมาบูรณาการ แล้วดึงมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับเอสเอ็มอี”

     นอกจากนี้ ในปีนี้ โครงการ K-FTI Acceleration Program ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ส.อ.ท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเคพีเอ็มจี ประเทศไทย ยังเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น โดยเพียงแค่ผู้ประกอบการมาเรียน ทำแผนธุรกิจ เรียนจบครบทุกเงื่อนไข ยังมีเงินทุนให้ไปพัฒนากิจการถึง 1 ล้านบาทอีกด้วย

      และนี่คือตัวอย่างโครงการ ที่สอดคล้องไปกับพันธกิจของ SMI ซึ่งเขาสรุปสั้นๆ ว่า  “เชื่อมโลก เชื่อมเรา เชื่อมคุณ”

เอสเอ็มอียุคใหม่ ต้องใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อม

     หนึ่งในความท้าทายที่เอสเอ็มอีภาคการผลิตต้องเผชิญอยู่ในวันนี้ ไม่เพียงเรื่องของการเงิน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และปัญหาอีกสารพัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทรนด์เรื่องโลกและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

     “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ ที่เตรียมเข้ามากระทบไม่ว่าจะเอสเอ็มอีหรือรายใหญ่ ซึ่งการเตรียมการให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น เรามีสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ สถาบัน Climate change  ที่จะไปให้ความรู้แก่เขา และยังมีแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต (FTIX) ที่มีให้บริการผู้ประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ซึ่งปกติจะแพงมาก แต่ถ้าเป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. ก็จะได้ส่วนลดพิเศษ นอกจากนี้เรายัง มีโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ SAI (Smart Agriculture Industry) ซึ่งเป็นโครงการ BCG ที่จับต้องได้ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงจะมีการเปิดศูนย์เรียนรู้ ชื่อ SAI in Bangkok เร็วๆ นี้อีกด้วย”

     ทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลักดันและสนับสนุนเอสเอ็มอีภาคการผลิตไทย ให้ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคและธุรกิจทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามความเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไปสู่ธุรกิจใหญ่ที่แข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง

     “ผมต้องการผลักดันให้  SME ออกไปจากอ้อมอกของคำว่า Small and Medium ให้ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เราทำได้ ก็จะมีเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ โดยที่มีกลุ่มนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจ ให้เขาสามารถเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้ในที่สุด” ประธานสถาบัน SMI ฝากความมุ่งมั่นไว้ในตอนท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ Live Commerce โอกาส ทางรอดธุรกิจไทย ปี 2025

ในปี 2568 นี้ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าอยู่บนโลกออนไลน์ ต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง อะไร คือ ทางรอดให้ได้ไปต่อ มาฟังบทสัมภาษณ์จากนายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทยกัน

WHATWEWEARRR ร้านเสื้อหนาวในเมืองร้อน ที่ขายดีจนทำรายได้ 7 หลักในหนึ่งเดือน

ใครจะคิดว่าเมืองร้อนอย่างไทย จะมีร้านขายเสื้อหนาวที่สามารถขายได้ตลอดทั้งปี แถมช่วงพีคๆ ยังทำยอดขายแตะ 7 หลักอีกด้วย ร้านขายเสื้อหนาวที่ว่า ชื่อ WHATWEWEARRR ของฝันหวาน-กนกวรรณ สำราญวงศ์ ที่เริ่มปลุกปั้นมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 3

กระเป๋าจากผ้าเช็ดหน้า ไอเดียสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ามือสอง ที่มีใบเดียวในโลก

จากผ้าเช็ดหน้าวินเทจมือสองที่เคยกองขายกันเป็นผืนๆ สู่กระเป๋าผ้าสุดฮอต ให้ลูกค้าเลือกจับคู่สี ลายที่ชอบ จากนั้นนำมาประกบคู่เย็บกันสดๆ ให้รอรับได้ กลายเป็นกระเป๋าผ้าเช็ดหน้าที่มีเพียงใบเดียวในโลก