TE ชาคุณภาพเพื่อคนรักษ์สุขภาพ



 




Text : กฤษณา สังข์วงค์ 
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย


    
    “เมื่อพูดถึงชาจีน หลายคนคงนึกถึงถุงชาเชยๆ ที่มีขายเกลื่อนตามท้องตลาด และลูกค้าที่ซื้อคือคนแก่ ซึ่งเราไม่อยากให้ชาของเราเป็นแบบนั้น แพกเกตจิ้งและแบรนด์ดิ้งจึงกลายเป็นสิ่งที่เราใส่ใจที่สุด รองลงมาจากใบชา”   


    นัท-ณัฐกิจ อุดมศรีรัตน์ บอกเล่าให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของชาจีนในมุมมองของคนทั่วไป และเพราะต้องการปรับมุมมองที่มีต่อชาจีนเสียใหม่ ทั้งเขาและ ปลา-นันธิดา รัตนกุล จึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ชาออร์แกนิก TE ซึ่งนัทเล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่เขาเกิดในครอบครัวคนจีนที่ทำชามานานกว่า 40 ปี ทำให้รู้ว่าชาที่อร่อยต้องปลูกบนยอดดอยสูงๆ ซึ่งภูเขาในเมืองไทยมีความสูงไม่พอ รสชาติของชาจึงไม่ดีตามต้องการ ดังนั้น เขาจึงนำเข้าชาตระกูล Camellia Sinensis จากมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นชาออร์แกนิกคุณภาพดี รสชาติขมน้อยและให้ความรู้สึกหวานที่คอ 

 



    “ชาจากฝูเจี้ยนเป็นชาที่ดื่มง่าย จึงตัดสินใจนำเข้ามาขาย ในช่วงแรกขายส่งอย่างเดียว แต่ขายไม่ค่อยได้ บังเอิญช่วงนั้นน้องชายปลาแต่งงาน ผมและปลาจึงออกแบบชาบรรจุถุงกระดาษให้เป็นของชำร่วย หลังจากงานนั้นก็มีคนถามเรื่อยๆ ว่าไม่ทำขายหรือ เราเลยคิดได้ว่าชาจะขายออก คนต้องรู้จักเสียก่อน ดังนั้น เราจึงเลิกขายชาแบบขายส่ง แล้วมานั่งคิดว่าจะทำแพกเกตจิ้ง และโลโก้อย่างไรให้คนสนใจ จะสร้างแบรนด์อย่างไรให้คนพูดถึง ให้คนรู้ว่าชาของเราคุณภาพดี” 



    หลังคิดอยู่นาน ท้ายสุดทั้งสองวางคอนเซปของ TE ให้เป็นแบรนด์ที่ทั้งใบชาและสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้ล้วนปลอดสารเคมี ส่วนแพกเกตจิ้งมีทั้งแบบถุงกระดาษ และขวดแก้วที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และโลโก้เลือกใช้รูปดอกชาแทนรูปใบชา เพราะยังไม่มีชายี่ห้อไหนใช้ ทั้งนี้ยังไม่ใช้เชือกและป้ายห้อยที่ถุงชาเพื่อลดปริมาณขยะ

 




    ในช่วงแรกชาแบรนด์ TE มีเพียง 6 สูตรเท่านั้นคือ ชาอูหลง ชาเขียว ชาเจียวกู้หลาน ชาโสมอูหลง ชามะลิ และชาข้าวเหนียวดำผสมชาเขียว และพวกเขาเลือกช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมในการจำหน่าย รวมทั้งเน้นออกบู๊ทในงานที่เกี่ยวกับของออร์แกนิก และตลาดเพื่อคนรักษ์สุขภาพ และแม้การออกบู๊ทแต่ละครั้งจะได้กำไรน้อย แต่ก็ใช่จะไปเสียเที่ยวเพราะแบรนด์ได้รับความสนใจทั้งจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติและคนไทย และกลุ่มธุรกิจโรงแรมและสปา


    “เมื่อสินค้าขายดีขึ้น ผมและปลาจึงคิดว่า TE น่าจะมีสูตรชาของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ขายได้ง่ายขึ้น เพราะเราสามารถเล่าถึงที่มาของสูตรชาให้ลูกค้าฟังได้ และด้วยความที่สมุนไพรไทยมีประโยชน์เยอะ เราจึงนำสมุนไพรไทยมาใช้ อย่างหญ้าหวานที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 300 เท่า แต่ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดและลดความดันโลหิตสูง นำมาผสมกับชาเขียวใบหม่อน กระเจี๊ยบ และกุหลาบเป็นชาสูตร Midsummer Dream Herbal Infusion  และ Spice Potion ชาเขียวใบหม่อนผสมขิงและเปปเปอร์มิ้นต์ ซึ่งเป็นชาที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนโรงแรมและสปาก็มีหลายที่ที่ให้เราออกแบบสูตรชาให้ หรือบางที่ที่มีสูตรชาอยู่แล้วก็ให้เราผสมสูตรให้”

 




    แม้จะเคยท้อในช่วงแรกเพราะขายชาไม่ได้เลย แต่เมื่อหันมาให้ความสำคัญเรื่องการสร้างแบรนด์ กอปรกับใส่ใจการขายมากขึ้น อย่างเวลาออกบู๊ทก็คอยอธิบายถึงสรรพคุณของชา และแจกชาสูตรต่างๆ ให้ผู้เดินงานชิม ส่วนช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมนั้น นัทบอกเราว่า เมื่อมีคนกดติดตามเพจ นั่นแสดงว่าพวกเขาอยากเห็นอะไรสักอย่างจากเพจของเรา ดังนั้น จึงต้องโพสต์เรื่องราวของ TE ทุกวัน ทั้งรูปภาพและตารางเวลาการออกบู๊ท เพื่อให้ผู้ติดตามเห็นความเคลื่อนไหวของแบรนด์


    “เมื่อก่อนมองข้ามเรื่องการสร้างแบรนด์ ไม่คิดจะทำเพราะมันเหนื่อยมาก และมองว่าขายส่งสบายกว่า แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าคุ้มที่จะเหนื่อย เพราะตอนนี้สินค้าของเราขายได้มากกว่าเมื่อก่อน แบรนด์ของเราโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอย่างที่เคยออกงานอีเวนท์เล็กๆ ตอนนี้ก็เริ่มได้ออกงานใหญ่ๆ ที่จัดในศูนย์สิริกิตติ์บ้าง ไบเทคบางนาบ้าง”


    สำหรับผู้ที่กำลังมองหาโอกาสในตลาดชา คู่แข่งในตอนนี้ถือว่าไม่มากนัก แต่กระนั้น ก็ไม่ควรประมาท ซึ่งนัทแนะนำว่า ไม่ควรเลียนแบบแพกเกตจิ้งและสูตรชาจากที่ใด แต่ควรสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับสูตรชาและแพกเกตจิ้งของตน เพราะหากแพกเกตจิ้งสวยงาม และใช้ชาคุณภาพดี มีสูตรชาให้เลือกหลากหลายและแปลกใหม่กว่าที่มีขายในท้องตลาด ชาก็จะขายง่ายขึ้น อย่างไรเสีย อย่าลืมสร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์ เพราะเป็นสิ่งที่ดึงดูดลูกค้าได้ไม่น้อย

www.thetepot.com
Facebook : thetepot
Instagram : thetepot

www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน