TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : กฤตพล วิทย์ว่องไว
Main Idea
- Productivity หรือผลิตภาพ นับเป็นตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จที่จะทำให้องค์กรเติบโตอยู่รอดได้ในทุกยุค
- SME จะเพิ่ม Productivity ในธุรกิจได้อย่างไร ฟังคำตอบจากผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ พร้อม 5 เครื่องมือที่ช่วยธุรกิจให้ง่ายขึ้น
“ผมมีความเชื่อว่า productivity เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญมากสำหรับทุกเจนเนอเรชั่น ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม ถ้าธุรกิจนั้นๆ มี productivity ยังไงก็รอด ยังไงก็รุ่ง เจริญก้าวหน้า” คำยืนยันของ สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ทั้งนี้คำว่า Productivity หรือผลิตภาพ หมายถึงตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการต้นทุนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร วัตถุดิบ หรือเวลา เป็นต้น เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและผลกำไรสูงสุด
จากการวิเคราะห์ผลิตภาพการผลิตของ SME ไทยปี 2563 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานว่า ภาพรวมของผู้ประกอบการ SME ไทยในช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 มีอัตราการขยายตัวของผลิตภาพชะลอลงติดต่อกัน 3 ปีอย่างต่อเนื่อง เคราะห์ซ้ำเมื่อผู้ประกอบการต้องมามาเจอโรคโควิดระบาดที่เกิดในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ยาวต่อเนื่อง 3 ปี ปัจจุบันแม้โควิดเริ่มคลี่คลายแต่ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องเหนื่อย แต่น่าจะดีขึ้นถ้าเทียบกับ 3 ปีที่โหดร้ายก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดีหลังโรคโควิดเริ่มซา ธุรกิจ SME ไทยมีการปรับตัวอาจจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มหลักคือ หนึ่ง กลุ่มที่เป็นสัญญาณชิงบวกคือ กลุ่มที่มีความเข็มแข็งระดับหนึ่ง มีบุคลากร มีกำลังทุนที่จะเดินหน้าต่อ สอง กลุ่มสัญญาณเชิงลบ อาจมีการเปลี่ยนธุรกิจ ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมภาคการผลิต ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ไม่สามารถหาแรงงานได้หลังจากที่มีการปลดคนงานไปในช่วงโควิด
“โควิดทำให้คนหันกลับมามองตัวเองต่อว่าจะเดินไปด้วยกลยุทธ์ใด ธุรกิจที่จะไปต่อต้องปรับกระบวนการ ปรับท่าเล่น เช่น ขยายกลุ่มลูกค้าจากที่เคยจับตลาด B2B อาจเพิ่มเป็น B2C หรือเพิ่มการตลาดโซเชียลมีเดียมากขึ้นให้เข้ากับยุค เหมือนกับ สถาบันเพิ่มฯ ปี 2567 จะครบรอบ 30 ปี การที่สถาบันฯ อยู่มาได้ 30 ปีต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขยายผล การสร้างความลึก การเปิดประตูให้กว้างขึ้น ผมมีความเชื่อว่า productivity เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญมากสำหรับทุกเจนเนอเรชั่น ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม คนนั้นๆ ยังไงก็รอด ยังไงก็รุ่ง เจริญก้าวหน้า ไม่ว่าจะทำอะไรจะคิดถึงเรื่องต้นทุน คิดเรื่องคุณภาพ”
4 เสาหลักพัฒนา Productivity
ในฐานะองค์กรหลักของประเทศที่ทำหน้าที่ส่งเสริม “ผลิตภาพ“ (Productivity) เพื่อยกระดับองค์กรและผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการแข่งขัน ทางสถาบันได้วางแนวทางที่จะพัฒนา Productivity ผู้ประกอบการไว้ดังนี้
1.Superior Quality
ผอ. สถาบันฯ เผยว่าปัญหาด้านการผลิตส่วนใหญ่ของ SME คือ การผลิตไม่สามารถทำได้อย่างอย่างต่อเนื่อง ขาดความคงเส้นคงวา ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องทำคือ ควรมุ่งพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานให้ความสำคัญต่อการสร้างการยอมรับของตลาด เพิ่มความสามารถในการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีระบบบริหารการจัดการที่ดี ยิ่งสามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพที่สูงกว่ามาตรฐานหรือเกินกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง จะช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้
“เนื่องจาก SME ส่วนใหญ่ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนและองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์กลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของธุรกิจตนเอง ดังนั้นถ้ามีการสร้าง eco-system ให้เกิดการเรียนรู้ระหว่าง SME จะเป็นสิ่งสำคัญในการลดอุปสรรคและสร้างความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากการแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ แต่ปัจจุบันยังขาดกลไกกลางที่ดำเนินการในส่วนนี้ในการบริหารรักษาความลับทางธุรกิจให้เป็น win-win หรือมี Risk-Protection Scheme จากภาครัฐ”
2.Productivity + Mindset
นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว ในการเพิ่ม productivity ขององค์กรให้สามารถแข่งขันได้นั้น ยังจะมีองค์ประกอบด้านอื่นๆ อีก อาทิ ต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งการมีต้นทุนที่ต่ำไม่ได้หมายถึงการขายสินค้าในราคาที่ต่ำ แต่ต้องมองต้นทุนที่ลูกค้ายินดีจ่าย
หากดูภาพรวมแล้ว SME ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน มักจะคิดต้นทุนเพียงแค่กระบวนการผลิต ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขนส่ง การเก็บรักษาสินค้า และการมี productivity ที่ดียังรวมไปถึงการส่งมอบที่ง่ายและตรงเวลา ในการส่งมอบงานนี้ทำได้ตั้งแต่หน่วยงานภายในองค์กร ซึ่งเปรียบเสมือนลูกค้า ถ้าส่งมอบได้ตรงเวลามีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขายเพื่อสร้างความประทับใจลูกค้าให้กลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการครั้งต่อไป
การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับพนักงาน ซึ่งส่งผลให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน หรือหมายถึงการป้องกันการสูญเสียจากอุบัติเหตุ คือการบาดเจ็บ เจ็บป่วย ทรัพย์สินเสียหายและความสูญเสียเนื่องจากกระบวนการผลิต
“อีกหนึ่งสิ่งที่ควรปลูกฝังวิธีคิดที่คำนึงถึงผลิตภาพ (Productivity Mindset) ตั้งแต่รุ่นเด็กๆ ซึ่งทางสถาบันเพิ่มฯ จะ สอดแทรกแนวคิดเรื่อง productivity ไปตามโรงเรียนต่างๆ ใช้วิธีถ่ายทอด ให้ดูตัวอย่างและเข้ามาเรียนรู้กัน เป็นต้น”
3.Sustainability
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งสำหรับผู้ประกกอบการยุคนี้คือ เรื่องของการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตามเมกะเทรนด์ ESG (Environmental, Social, และ Governance) ฉะนั้นในการเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การมีธรรมาภิบาล มีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ การสร้างขวัญและคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน รวมถึงการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษทักษะเฉพาะด้าน Green เพื่อมารองรับการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ทางสถาบันฯ พยายามส่งเสริมสร้างบุคคากรที่มีทักษะด้านด้าน Green ที่ปัจจุบันยังขาดแคลนคนที่มีความสามารถทางด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อมารองรับการเติบโตของธุรกิจสีเขียว”
4.Global Outreach
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการเพิ่มผลิตภาพคือ การพัฒนาผู้ประกอบการไปโตในตลาดต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง อาทิ ตลาดญี่ปุ่น ไปดูเรื่องการบริการ ศึกษาธุรกิจ Aging Society เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำมาปรับใช้
5 เครื่องมือช่วย SME เพิ่ม Productivity
ในยุคที่การแข่งขันสูงและการทำธุรกิจต้องมีความไว สุวรรณชัย แนะนำว่าการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกาคธุรกิจก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยทำให้การเพิ่มผลผลิตได้ดีและยังช่วยลดต้นทุนได้ นี่คือ 5 เครื่องมือช่วยในการทำธุรกิจ
1.ระบบบริหารจัดการธุรกิจ (Enterprise Resource Planning – ERP)
นับเป็นระบบสารสนเทศหลักที่ทุกธุรกิจควรมี เนื่องจากเป็นระบบที่รวมทุกกระบวนการทางธุรกิจไว้ในระบบเดียวกัน ทำให้มีการเชื่อมโยงกระบวนการและข้อมูลภายในระบบเข้าด้วยกัน ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี และยังช่วยข้อมูลให้ผู้บริหารสามารถรับข้อมูลทางธุรกิจในแต่ละด้านที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
“โดยทั่วไประบบ ERP จะประกอบด้วยหลาย module ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ตามความต้องการ และความเหมาะสมกับธุรกิจ โดยมีตั้งแต่ระบบสนับสนุนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการผลิต การจัดการวัตถุดิบ การจัดการสินค้าคงคลัง ระบบบัญชี ฯลฯ”
2.เทคโนโลยีประมวลผลและแสดงผลข้อมูล (Business Intelligence Tools)
เป็นเครื่องมือพัฒนาด้านการประมวลผลข้อมูลเพื่อนำเสนอภาพรวมข้อมูลในรูปแบบ visualize ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในองค์กที่มีอยู่จากระบบงานต่างๆ มาทำการวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจกำหนดการดำเนินการจากผลการที่ได้รับทราบจากข้อมูล ช่วยให้กิจการต่างๆ สามารถแก้ไขปรับปรุงดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างตรงประเด็น ตัวอย่างเช่น Micorsoft Power Bi, Google Locker Studio
3.เทคโนโลยีสนับสนุนการทำงาน (Productive Operation System)
มีหลากหลายสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ เช่น
- Office Application Tools เป็นซอฟต์แวร์ทั่วไปที่ใช้ในงานสำนักงาน จัดทำเอกสาร ฯลฯ โดยซอฟต์แวร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อาทิ Microsoft 365, Google workspace
- Work Collaboration Tools เครื่องมือที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน ระหว่างทีมงาน หรือแม้แต่การทำงานข้ามบริษัทข้ามประเทศ เพื่อช่วยในเรื่องการสื่อสาร ให้สะดวกยิ่งขึ้น อาทิ Microsoft Team, Weeidone, Monday, Nifty เป็นต้น
- Roboticss Process Autoamtion – RPA เป็นซอฟต์แวร์ที่เลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยที่มนุษย์เป็นผู้ออกแบบกระบวนการ (process) และขั้นตอน (workflow) การตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้การทำงานซ้ำๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
4.เทคโนโลยีสนับสนุนการทำธุรกิจทางออนไลน์ (Online Business System)
การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนธุรกิจต่างๆ อาทิ การสื่อสาร การสร้างแบรนด์ ตัวอย่างเทคโนโลยี อาทิ โซเชียลมีเดีย Search Engine Optimization, Email Marketing
5.เทคโนโลยีสนับสนุนเครื่องแม่ข่ายบนระบบ Cloud
“Cloud เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง โดยมีการคิดค่าบริการตามค่าใช้จ่ายจริง ต่างกันที่ธุรกิจไม่ต้องลงทุนติดตั้ง hardware และจ้างพนักงานไอทีดูแลระบบภายในองค์กร” ผอ.สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี