TEXT: กองบรรณาธิการ
Main Idea
- การส่งออกของไทยในปี 2566 อาจขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจากเจอปัญหาจากปัจจัยภายนอกประเทศรุมเร้า เช่น ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาพลังงานปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราต่ำกว่าที่คาดการณ์
- แม้การส่งออกในภาพรวมอาจเติบโตไม่ดีนัก แต่การส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย และขนาดย่อม (Micro, Small and Medium Enterprises : MSMEs) กลับมีอัตราการเติบโตสูงสวนทางกัน และมีโอกาสที่การส่งออกโดยรวมของไทยในปี 2567 จะเติบโตดีกว่าในปี 2566 จากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกในบางประเทศ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอาจชะลอตัวจากปัจจัยเดิมๆ แต่ดัชนีชี้วัดสภาวะส่งออกล่วงหน้า (EXIM Index) เริ่มมีการขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งโมเมนตัมการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 เป็นต้นไปจะช่วยหนุนให้การส่งออกปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวและกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรได้รับผลบวกจากเอลนีโญ ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันสูงขึ้น ปัญหาด้านอุปทานคลี่คลาย ค่าระวางเรือลดลง สถานการณ์ขาดแคลนชิปดีขึ้น ความต้องการสินค้าไทยยังมีโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร
ทั้งนี้ เศรษฐกิจแต่ละประเทศที่เป็นคู่ค้าจะเติบโตหรือชะลอตัวแตกต่างกันไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ ในภาวะที่ตลาดโลกยังไม่แน่นอนและมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดเชิงลึก กระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสให้ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับการผลิตสินค้าให้เข้ากับเมกะเทรนด์ของโลกในขณะนี้ซึ่งได้แก่ สินค้าในกลุ่ม Sustainable Economy หรือสินค้ารักษ์โลก เป็นสินค้าที่มีศักยภาพมีแนวโน้มขยายตัวแรง ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค
ดร.รักษ์กล่าวว่า ตลาดจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืนของโลก มีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยที่ 21% ต่อปี นับจากช่วงปี 2565-2572 จาก 13,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 51,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2572 และจากผลสำรวจของ McKinsey พบว่า 70% ของผู้บริโภค Gen Z ยินดีที่จะซื้อสินค้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
“การจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การติดตามมลพิษทางอากาศ การจัดการ Carbon Footprint การบริหารจัดการน้ำ การดำเนินธุรกิจสีเขียว เช่น การผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ยานยนต์ไฟฟ้า อาหารที่ทำจาก Plant-based โปรตีนจากแมลง เป็นต้น”
สินค้าที่จะอยู่ในเมกะเทรนด์รองลงมาได้แก่ สินค้าในกลุ่ม Silver Economy หรือสินค้ากลุ่มสูงวัย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่า ในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีราว 22% ของประชากรโลก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเทศในยุโรปและบางประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคต ความน่าสนใจของสินค้าในกลุ่มนี้ คือ กำลังซื้อของกลุ่มผู้สูงวัยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม โดย Bruegel สถาบันวิจัยชั้นนำของยุโรประบุว่า ผู้สูงวัยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 14,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทุกวัย 20% ซึ่งอยู่ที่ราว 12,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวอย่างสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เช่น อาหารเคี้ยวง่าย หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เครื่องช่วยฟัง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เป็นต้น การออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องทำให้เหมาะสมกับผู้บริโภค เช่น ออกแบบตัวอักษรบนฉลากมีขนาดใหญ่เพื่อให้อ่านง่าย บรรจุภัณฑ์จะต้องออกแบบให้เปิดง่ายไม่ซับซ้อนเพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องออกแรงมาก
นอกจากนี้ ยังมีสินค้ากลุ่ม SHEconomy หรือสินค้าสำหรับสุภาพสตรีที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะจีนซึ่งสะท้อนจากยอดช้อปปิ้งของสาวจีนในปี 2565 มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในโลกธุรกิจ โดยในปี 2564 พบว่ามี CEO หญิงทั่วโลกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 26% จากปี 2558 มีสัดส่วนเพียง 15% จากจำนวนผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก สินค้าในกลุ่มนี้ที่มีการเติบโตดี คือ เครื่องสำอาง วิตามินชะลอวัย เสื้อผ้าแฟชั่น ผลิตภัณฑ์ดูแลรูปร่าง เครื่องประดับ สไตลิสต์ออนไลน์
ดร.รักษ์กล่าวว่า EXIM BANK ช่วยให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลกด้วยการสร้าง Ecosystem อย่างครบวงจร มี EXIM คลินิกเพื่อคนตัวเล็ก ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางออนไลน์และสัญจรออกนอกสถานที่ต่อเนื่องตลอดปี เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำทั้งด้านความรู้ โอกาส และเงินทุนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือคนตัวเล็กสามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้ มีทักษะด้านการส่งออกเพิ่มมากขึ้น มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่เข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลก โดย EXIM BANK สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทดลองวางขายสินค้าบน Global E-Commerce Platform อย่าง Amazon และ Alibaba มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching กิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าที่มีศักยภาพในต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ และบริการให้คำแนะนำด้านการบริหารความเสี่ยงในการส่งออก ตลอดจนความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน
“EXIM BANK ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงกับหน่วยงานพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้และนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการ อีกทั้งการปักหมุดหมายสู่การเป็น Green Development Bank มีนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องและครอบคลุมกับเป้าหมายของประเทศไทยในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และในปี 2608 ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ดร.รักษ์กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกไทยในปี 2567 ดูจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายใหม่ที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่นานาประเทศต่างหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในขณะนี้มีการออกมาแล้วราว 18,000 ฉบับ ทั้งมาตรการตามความสมัครใจอย่างการติดฉลากสิ่งแวดล้อม (Ecolabel) สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้พลังงานหมุนเวียน และนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ซ้ำ และมาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นต่างๆ เนื่องจากสาร CFC มีผลทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน รวมถึงการห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน
ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสนใจปรับประสิทธิภาพการผลิตไปสู่สินค้าตามเทรนด์ที่ตลาดโลกต้องการและมุ่งสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 และโชเซียลมีเดียทุกช่องทางของธนาคาร
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี